26/08/2556 17:00 น. |
มอเตอร์ hoist ของเครนขนาด 5 ตันของผมมีปัญหาขาดบ่อยครับรบกวนผู้รู้ช่วยบอกสาเหตุทีครับ |
27/08/2556 08:40 น. |
โรเตอร์เสียหายบ่อย หมายถึง เมื่อเสียหายแล้วซื้อใหม่ หรือเอาไปซ่อมแล้วเสียหายอีกเรื่อยๆ ครับ |
27/08/2556 13:05 น. |
ทั้งซ่อมและซื้อใหม่ครับ สาเหตุน่าจะเกิดจากอะไรได้บ้างครับ |
27/08/2556 15:34 น. |
ขอให้ความเห็นอย่างนี้ครับ สำหรับมอเตอร์ที่ซื้อใหม่ มอเตอร์ที่เป็นมอเตอร์ขับรอก( Hoist Motor )จะถูกออกแบบมาเป็นพิเศษโดยจะมีคุณสมบัติ 1.มีขนาดเล็กกว่าปกติ(ขนาดแกนเหล็กเมื่อเทียบต่อกิโลวัตต์) เพราะติดตั้งในที่สูง 2.มีระยะเวลาในการทำงาน ไม่เป็นแบบต่อเนื่อง ทำๆหยุด (Duty Cycle type S3 ) 3.บางยี่้ห้อ ออกแบบให้มีการทำงานปลดเบรคด้วยตัวมอเตอร์เอง (แกนเหล็กเป็นรูปกรวย) มอเตอร์ส่วนมากจะเสียหายเนื่องจากการใช้งาน ที่เกินค่า ระยะเวลาในการทำงานของมัน (Duty Cycle ) อาจจะมีการสตาร์ท สต๊อปมอเตอร์บ่อยมากจนเกินไป จนทำให้ความร้อนที่เกิดขึ้นในตัวมอเตอร์มีค่าสูง (ความร้อนสะสมรวมกับความร้อนใช้งาน) ผู้ใช้งานส่วนใหญ่มักจะเข้าไปแก้ไข (By pass ) ชุดตรวจจับความร้อนที่ติดตั้งอยู่ที่ขดลวด เพื่อทำให้มอเตอร์ใช้งานได้ต่อ สิ่งนี้จะทำให้ทั้งขดลวดสเตเตอร์ และโรเตอร์ มีความร้อนสูงมากจนทำให้เกิดความเสียหาย ในกรณีที่เป็น รอกที่มีชุดเบรกแยกออกมาจากมอเตอร์ และมีการปรับตั้งระยะไม่ถูกต้อง หรือเกิดเหตุที่ทำให้ชุดเบรคทำงานไม่สมบูรณ์ ชุดเบรกก็จะเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้มอเตอร์เกิดความเสียหายได้ |
27/08/2556 15:34 น. |
ความเสียหายซ้ำที่เกิดจากการซ่อมโรเตอร์ หลักการทำงานของมอเตอร์อินดักชั่น ในสภาวะสตาร์ท ค่าความถี่กระแสไฟฟ้าที่ไหลในขดลวดโรเตอร์จะมีค่าสูง (เท่ากับ 50 HZ. และเท่ากับความถี่่สเตเตอร์ ) ส่งผลให้ค่าXL ของโรเตอร์มีค่าสูงมากเมื่อเทียบกับความต้านทานในวงจรโรเตอร์ ส่งผลให้เกิดค่าแรงบิดที่โรเตอร์มีค่าต่ำ จึงเป็นสาเหตุให้ มอเตอร์อินดักชั่นที่ต้องการแรงบิดสตาร์ทสูงๆ จึงต้องทำให้มีค่าความต้านทานในวงจรโรเตอร์มีค่าสูง เช่นการนำเอาค่าความต้านทานภายนอกมาต่อเข้ากับวงจรโรเตอร์ อย่างกับมอเตอร์สลิปริง และเมื่อมอเตอร์ออกตัวไปแล้วจนหมุนไปจนถึงความเร็วรอบพิกัด ความถี่ที่เหนี่ยวนำ หรือกระแสที่ไหลในขดลวดสเตเตอร์ จะมีค่าลดลง และมีค่าเท่ากับส่วนต่างของความเร็วสนามแม่เหล็กหมุนกับความเร็วโรเตอร์ ในสภาวะนี้ ค่า XL จะมีค่าต่ำตามความถี่ที่ลดลง และเพื่อทำให้ได้แรงบิดที่สมบูรณ์ ค่าความต้านทานของวงจรโรเตอร์ต้องต่ำลงมา ซึ่งดูได้จากการตัดวงจรความต้านทานภายนอกออก ของมอเตอร์สลิปริง ฉะนั้นจากข้อมูลข้างต้น จะเห็นว่า ค่าความต้านทานของวงจรโรเตอร์ หรือค่าความต้านทาน[/U[U]]ของบาร์โรเตอร์จะมีผลต่อค่าแรงบิดมอเตอร์เป็นอย่างมาก ในการออกแบบค่าความต้านทานจึงต้องคำนึงถึง สองสภาวะ คือสตาร์ท และ รัน ซึ่งจะเห็นได้ว่าต้องการค่าความต้านทานโรเตอร์ทั้งสองสภาวะนี้ มีค่าไปกันคนละทาง วัสดุที่ใช้เป็นบาร์โรเตอร์ของมอเตอร์กรงกระรอก มักจะเป็นอลุมิเนียมซึ่งให้ผลด้านค่าความต้านทานที่มีค่าสูงกว่าทองแดง(เปรียบเทียบในขนาดที่เท่ากัน) แต่ในงานซ่อม มอเตอร์ส่วนใหญ่มักจะถูกซ่อมด้วยบาร์โรเตอร์ที่เป็นทองแดง ส่งผลให้วงจรโรเตอร์มีค่าความต้านทานต่ำ สิงที่ตามมาคือมอเตอร์จะมีแรงบิดขณะสตาร์ทที่ต่ำลง หรือใช้ระยะเวลาในการสตาร์ทที่นานขึ้นในการขับโหลดขนาดเดียวกัน และแน่นอนว่ามอเตอร์ก็จะร้อนมากขึ้น และอาจจะกลับมาเสียหายใหม่อีกครั้ง หลายคนอาจจะสงสัยว่า ถ้าอย่างนั้นเราสามารถลดขนาดทองแดงให้มีค่าความต้านทานเท่ากับความต้านทานได้หรือไม่ ขอตอบว่าได้ครับ แต่สิ่งที่ตามมาจะเป็นเรื่องของการจับยึดบาร์โรเตอร์ให้อยู่ในสล๊อตได้อย่างมั่นคง เพราะบาร์ทองแดงถูกทำให้มีขนาดเล็กลงกว่าเดิม และจะหลวมมากเมื่อนำไปวางในร่องสล๊อต ถ้าเราแก้ไขโดยนำวัสดุที่เป็นฉนวนเข้าไปยัดให้เต็ม สิ่งที่ตามมาที่ต้องคำนึงก็คือ การระบายความร้อนจากบาร์โรเตอร์มาหาแกนเหล็กโรเตอร์ก็จะแย่ลงเพราะมีฉนวนกั้น และอาจจะส่งผลใด้โรเตอร์บาร์เสียหายอีก ในวงการ การซ่อมโรเตอร์ เริ่มจะนำการนำเอาอลูมิเนียมมาใช้ แต่ก็ทำได้ไม่ง่ายเพราะอลูมิเนียมมีความอ่อนตัวกว่าทองแดงมาก การจะใส่ในร่องสล๊อตให้มีขนาดเท่ากับของเดิมแทบเป็นไปไม่ได้ จึงต้องทำให้มีขนาดใกล้เคียงกับร่องสล๊อต ซึ่งแน่นอนว่าทำให้ค่าความต้านทาน วงจรโรเตอร์มีค่าสูง และจะส่งผลในขณะที่มอเตอร์รัน สรุป จากเหตุผลข้างบน มีความคิดเห็นว่าในการซ่อมโรเตอร์บาร์ โดยเฉพาะมอเตอร์รอก ซึ่งเป็นมอเตอร์ขนาดเล็ก เป็นไปไม่ได้เลยที่จะได้คุณสมบัติด้านแรงบิดเหมือนเดิม แต่ถ้าซ่อมแล้วนำไปใช้ชั่วคราวรอการซื้อใหม่ หรือมีการลดภาระโหลดลงมาก็พอที่จะนำไปใช้ได้บ้าง ปล.ผมต้องขอโทษเพื่อนร่วมอาชีพ ถ้าความคิดเห็นของผมไปกระทบกับผลประโยชน์ทางธุรกิจในการซ่อมบาร์โรเตอร์ |
27/08/2556 16:39 น. |
ขอบคุณมากเลยครับ ผมจะเอาข้อมูลนี้มาแก้ไขเพื่อให้เครนผมใช้งานได้นานขึ้นและถูกวิธีครับ |