26/06/2555 16:39 น. |
นักปราชญ์คนหนึ่งเห็นผู้ชายสองคนขี่ม้าอย่างเชื่องช้ามากผิดปกติ จึงเข้าไปถามด้วยความสงสัย ปรากฏว่าชายทั้งสองคนคือเจ้าชายของสองเมือง ทั้งสองคนกำลังพนันว่า ผู้ที่ขี่ม้าถึงจุดหมายปลายทางก่อน คนนั้นจะแพ้ และต้องยกเมืองให้อีกฝ่าย ดังนั้นเจ้าชายทั้งสองจึงต้องขี่ม้าอย่างช้าที่สุด เพื่อไม่ให้ถึงเส้นชัยก่อน เมื่อนักปราชญ์ได้ยินดังนั้น จึงพูดประโยคหนึ่งแก่เจ้าชายทั้งสอง หลังจากที่เจ้าชายทั้งสองได้ยินดังนั้น ก็รีบควบม้าอย่างเร็วที่สุด ปริศนานี้คือ นักปราชญ์พูดอะไรกับเจ้าชาย ? บางครั้งการแก้ปัญหาหรือหาความคิดสร้างสรรค์ใหม่ ๆ ก็เป็นเรื่องยาก ถ้าเรายังใช้มุมมองแบบเดิม ๆ แต่ถ้าเราลองเปลี่ยนมุมมองด้วยการคิดตรงข้ามหรือคิดย้อนกลับ ก็อาจทำให้เราได้ไอเดียใหม่ ๆ หรือ แก้ปัญหาได้อย่างง่ายดาย ในปริศนาข้างบน นักปราชญ์ใช้วิธีคิดแบบตรงข้ามโดยเสนอคำตอบที่ทำให้เจ้าชายทั้งสองได้ฉุกคิด และเปลี่ยนมุมมองของการแก้ปัญหา โดยที่กติกายังเหมือนเดิม คือ ผู้ที่ขี่ม้าถึงเส้นชัยก่อน ผู้นั้นแพ้ คำแนะนำของนักปราชญ์ก็คือ ให้เจ้าชายสลับม้ากันขี่ ดังนั้น ม้าของใครถึงเส้นชัยก่อน เจ้าของม้าจะเป็นผู้แพ้นั่นเอง บางครั้งการตั้งคำถามตรง ๆ ทำให้เราคิดคำตอบไม่ออกหรือคิดได้น้อย แต่ถ้าเราตั้งคำถามในทางตรงกันข้าม เราอาจคิดคำตอบได้มากมาย เช่น ถ้าเราต้องการสมัครและทำงานที่บริษัทแห่งหนึ่ง แทนที่เราจะตั้งคำถามว่า “ฉันจะต้องทำอย่างไรเพื่อให้บริษัทรับฉันเข้าทำงาน” ลองตั้งคำถามตรงข้ามว่า “ทำอย่างไรบริษัทจะปฏิเสธไม่ให้ฉันเข้าทำงาน ?” ผมเชื่อว่าเราคิดคำตอบได้มากมายครับ เช่น ไปสาย แต่งตัวไม่เรียบร้อย ตั้งเงินเดือนสูงโอเวอร์ จีบกรรมการสมัครงาน พา***เลี้ยงเข้าห้องสัมภาษณ์ ฯลฯ และถ้าเราย้อนกลับคำตอบเหล่านั้น คือ “ไปตรงเวลา แต่งตัวเรียบร้อย ตั้งเงินเดือนที่เหมาะสม ไม่พูดจาชู้สาว ไปคนเดียว” ก็คือคำตอบของคำถามว่า “ฉันจะทำให้บริษัทรับฉันเข้าทำงานได้อย่างไร” นั่นเอง |