เหตุการณ์ไฟดับทั้งภาคใต้ 14 จังหวัดเมื่อวันที่ 21 พฤษภาคมที่ผ่านมา ถูกอธิบายว่าสาเหตุมาจากฟ้าผ่า สายส่งไฟฟ้าแรงสูงของ กฟผ. แต่อย่างไรก็ตาม เมื่อปะติดปะต่อข้อมูลที่สื่อมวลชนได้นำเสนอในช่วง 3-4 วันมานี้ ดูเหมือนว่าสาเหตุที่ทำให้เกิดไฟดับ “ทั้งภาคใต้” ครั้งนี้ จะโทษว่าเป็นเหตุสุดวิสัยจากภัยธรรมชาติคงจะไม่ได้เสียทีเดียว ฟ้าผ่า ไฟไม่ได้ดับในทันที ตามข้อเท็จจริงที่ กฟผ.ชี้แจง เหตุการณ์ฟ้าผ่าสายส่งเกิดขึ้นในเวลา 17.26 น. แต่ไฟดับเกิดขึ้นในเวลา 18.52 น. คือหลังจากฟ้าผ่าแล้ว 1 ชั่วโมง 26 นาที คำถามก็คือ ช่วงเวลาหนึ่งชั่วโมงครึ่งก่อนที่ไฟจะดับ เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ได้บริหารสถานการณ์ฉุกเฉินนี้อย่างไร และโอกาสที่ภาคใต้จะไม่เกิด blackout หรือไฟดับทั้งภาคนั้น เป็นไปได้หรือไม่ คำตอบคือ เป็นไปได้ |
ทำไมโรงไฟฟ้าในภาคใต้ถึงดับหมด
ประชาชนในภาคใต้ที่อยู่ใกล้โรงไฟฟ้าขนาดใหญ่เช่นโรงไฟฟ้าจะนะ (สงขลา) หรือโรงไฟฟ้าขนอม (นครศรีธรรมราช) มีข้อสงสัยว่าเมื่อเกิดเหตุขัดข้องที่สายส่งไฟฟ้าจากภาคกลางแล้วทำไมโรง ไฟฟ้าเหล่านี้จึงจ่ายไฟไม่ได้ ทั้งๆ ที่โรงไฟฟ้าไม่ได้เสียหาย เรื่องนี้เป็นธรรมชาติของระบบไฟฟ้า กล่าวคือในการผลิตไฟฟ้านั้น “กำลังการผลิต” จะต้องสมดุลกับ “กำลังไฟฟ้าที่ใช้งาน” หรือโหลดในขณะนั้น หากปริมาณโหลดสูงกว่ากำลังผลิต ระบบผลิตไฟฟ้าทั้งหมดก็จะล่มได้เพราะโรงไฟฟ้าทั้งหลายเชื่อมโยงกันเป็นระบบ เดียว
กรณีที่เกิดขึ้น กฟผ.ระบุว่า โรงไฟฟ้าในภาคใต้เดินเครื่องอยู่ที่กำลังผลิต 1,692 เมกะวัตต์ และรับจากภาคกลางอีก 430 เมกะวัตต์ ในขณะที่มีโหลด 2,242 เมกะวัตต์ เมื่อเกิดเหตุฟ้าผ่าสายส่ง กำลังไฟฟ้าจากภาคกลางไม่ได้หายไปในทันใด เพราะสายส่งมีทั้งสิ้น 4 เส้น แม้จะอยู่ระหว่างซ่อมบำรุง 1 เส้น และถูกฟ้าผ่าไปอีก 1 เส้น (ทั้งสองเส้นนี้มีขนาด 500 kV) ก็ยังเหลืออีก 2 เส้น (แต่เป็นสายขนาด 230 kV) ดังนั้นไฟจึงยังไม่ดับ
ในสถานการณ์ขณะนั้น ปัจจัยที่คาดได้ว่าจะเป็นปัญหาก็คือ พีคโหลดที่กำลังจะเกิดขึ้นในช่วงประมาณ 1-2 ทุ่ม เนื่องจากผู้คนกำลังเลิกงานกลับบ้าน เปิดไฟ ดูโทรทัศน์ ฯลฯ ซึ่งทางการไฟฟ้าทั้งหลายต่างมีข้อมูล load profile อยู่ในมืออยู่แล้ว จึงน่าจะอยู่ในวิสัยที่จะประเมินได้ว่า สายส่ง 230 kV ที่เหลืออยู่มีขนาดไม่เพียงพอที่จะรับโหลดที่กำลังจะเกิดขึ้นได้ นั่นหมายถึงวิกฤตกำลังรออยู่ในอีก 1-2 ชั่วโมงข้างหน้า
ในสถานการณ์เช่นนี้ ถ้าดูจากข่าววิกฤตไฟฟ้าเมษายนที่ผ่านมาจะเห็นได้ว่า การไฟฟ้าทั้งสามต่างมีแผนหรือแนวปฏิบัติอยู่แล้ว นั่นก็คือ การตัดโหลดบางส่วนออกเพื่อรักษาสมดุลของแรงดันไฟฟ้า ซึ่งหมายถึงการตัดไฟในบางจุด (อย่างมากไม่เกิน 430 เมกะวัตต์ที่ต้องรับจากภาคกลาง) โดยในเรื่องนี้ กระทรวงพลังงานได้เปิดเผยกับเดลินิวส์เมื่อวันที่ 23 พฤษภาคมที่ผ่านมาว่า หากมีการตัดไฟบางจุด ก็จะมีพื้นที่ที่ไฟฟ้าดับเพียงประมาณ 25% ไม่ใช่ดับทั้งภาคใต้
หากใช้แนวทางดังกล่าว ความเสียหายก็จะไม่กินบริเวณกว้าง นอกจากนี้ การแก้ไขสถานการณ์ก็จะทำได้รวดเร็วกว่า ไม่ต้องใช้เวลามากถึง 3-4 ชั่วโมงดังที่เกิดขึ้น เพราะระบบผลิตไฟฟ้าภาคใต้ไม่ได้ล่มทั้งระบบ
เมื่อพิจารณาจากลำดับเวลาแล้ว กฟผ.มีเวลาชั่วโมงเศษซึ่งมากพอควรที่จะแก้ไขสถานการณ์ไม่ให้ไปสู่ความวิกฤต แต่สุดท้ายก็ปล่อยให้โหลดในภาคใต้เพิ่มสูงขึ้นจนเกินกำลังสายส่ง 230 kV ทำให้กำลังผลิตจากภาคกลางหลุดออกไป และฉุดให้โรงไฟฟ้าทั้งภาคใต้ล่มตามไปด้วย
“โรงไฟฟ้าภาคใต้ไม่พอ” ไม่ใช่ประเด็น
ดังนั้น ที่มีการอธิบายว่ากำลังผลิตไฟฟ้าของภาคใต้ไม่เพียงพอ จำเป็นที่จะต้องมีโรงไฟฟ้าถ่านหินเพิ่มจึงไม่ใช่ประเด็นในสถานการณ์นี้ เพราะปัญหาใหญ่อยู่ที่ความผิดพลาดในการบริหารของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่าง หาก ทั้งนี้ ที่ควรกล่าวไว้ด้วยในเรื่องกำลังผลิตก็คือ ในปีหน้า (2557) โรงไฟฟ้าจะนะโรงที่ 2 ขนาด 800 เมกะวัตต์ก็จะก่อสร้างเสร็จ และในปี 2559 โรงไฟฟ้าขนอมขนาด 700 เมกะวัตต์ที่หมดอายุก็จะถูกทดแทนด้วยโรงใหม่ขนาด 900 เมกะวัตต์ เท่ากับว่าในอีก 3 ปีข้างหน้า กำลังผลิตในภาคใต้จะมีเพิ่มขึ้นอีก 1,000 เมกะวัตต์เป็นอย่างน้อย แม้จะไม่มีโรงไฟฟ้าถ่านหินเข้ามาเพิ่มก็ตาม
ขณะนี้คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) หรือเรคกูเลเตอร์ได้ตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริงเหตุการณ์ไฟดับเพื่อสอบ สวนว่า กฟผ. ปฏิบัติหน้าที่บกพร่องหรือไม่ และจะต้องมีการชดเชยผู้เสียหายหรือไม่ แต่อย่างไรก็ตาม กฟผ.ไม่ใช่หน่วยงานเดียวที่จะต้องรับผิดชอบเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เพราะ กกพ.เองก็อาจอยู่ในข่ายมีส่วนเป็นต้นเหตุให้เกิดไฟดับครั้งนี้ด้วยเหมือนกัน เมื่อทางด้าน กฟผ.และกระทรวงพลังงานได้ออกมาระบุว่า อำนาจในการสั่งดับไฟของศูนย์ควบคุมระบบกำลังไฟฟ้าอยู่ที่ กกพ. ทำให้ กฟผ.ไม่กล้าดำเนินการเองเพราะจะเป็นการผิดกฎหมาย
จะสรุปบทเรียนอย่างไร
เหตุการณ์ไฟดับครั้งนี้ การสรุปบทเรียนให้ได้อย่างแท้จริงน่าจะเป็นประโยชน์มากกว่าการไล่เบี้ยหาผู้ บกพร่องมารับผิดชอบจ่ายค่าชดเชย ซึ่งในแง่นี้ เหตุการณ์ไฟดับของเรามีบางอย่างที่สามารถเทียบเคียงได้กับอุบัติเหตุ นิวเคลียร์ฟูกูชิมะ ที่คนทั่วโลกต่างเข้าใจว่ามีสาเหตุมาจากภัยธรรมชาติทั้งแผ่นดินไหวและสึนามิ แต่การสอบสวนข้อเท็จจริงอย่างเป็นทางการโดยคณะกรรมการอิสระแห่งชาติของ ญี่ปุ่น กลับมีข้อสรุปออกมาว่า
“…อุบัติเหตุที่เกิดขึ้นที่โรงไฟฟ้าฟูกูชิมะ แม้จะมีจุดเริ่มต้นมาจากเหตุการณ์แผ่นดินไหว ก็ไม่อาจถือได้ว่าเป็นภัยพิบัติจากธรรมชาติ หากแต่เป็นภัยพิบัติจากการกระทำของมนุษย์ (manmade disaster) ซึ่งสามารถและควรที่จะคาดการณ์และเตรียมการป้องกันได้ รวมทั้งผลกระทบที่เกิดขึ้นก็สามารถบรรเทาให้น้อยลงได้ด้วยการตอบสนองของ มนุษย์ที่มีประสิทธิภาพมากกว่านี้…”
การสรุปบทเรียนของญี่ปุ่นได้ให้ข้อคิดกับเรา 3 ประการคือ
1. การคาดการณ์และเตรียมการป้องกันเหตุจากภัยธรรมชาตินั้น มนุษย์สามารถทำได้และควรกระทำ (ในกรณีของเรา การวางแผนความมั่นคงไฟฟ้า นอกจากจะคิดเรื่องกำลังผลิตที่เพียงพอแล้ว ในด้านความมั่นคงของสายส่ง ได้มีการวางแผนอย่างรอบคอบแล้วหรือไม่)
2. เมื่อเกิดเหตุขึ้นแล้ว ผลกระทบสามารถบรรเทาให้น้อยลงได้ หากเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องมีประสิทธิภาพในการตอบสนองต่อเหตุการณ์มากกว่า นี้ (แผนฉุกเฉินและอำนาจในการสั่งตัดไฟเฉพาะจุด ทำไมถึงเกิดปัญหา)
3. การสอบสวนที่ทำให้ได้ข้อสรุปเช่นนี้ มาจากการแต่งตั้งคณะกรรมการอิสระโดยรัฐสภาญี่ปุ่น เพื่อให้มีอำนาจเป็นอิสระจากผู้มีส่วนรับผิดชอบในเหตุการณ์ คือรัฐบาลญี่ปุ่น หน่วยงานกำกับความปลอดภัยนิวเคลียร์ และเจ้าของโรงไฟฟ้า (แต่กรณีของเรา ผู้มีส่วนรับผิดชอบเหตุการณ์เป็นคนสอบสวนเอง)
มาถึงตรงนี้ มีคำถามว่า คณะกรรมการสอบสวนเหตุไฟดับภาคใต้ครั้งนี้ ควรมีที่มาอย่างไรดี ที่จะทำให้เราสามารถเรียนรู้เพื่อปรับปรุงข้อผิดพลาดครั้งนี้ได้อย่างแท้ จริง
ที่มา : http://nuclearwatch.blogspot.sg
========================================================
================= ยูทุปของ 9engineer ,com ===================
คลิปที่น่าสนใจจัดทำโดย 9engineer.com ภายใต้ชื่อช่องTechnology talk Channel
**** นายเอ็นจิเนียร์ขอสงวนสิทธิ์รับรองความถูกต้อง โปรดใช้วิจารณญาณในการรับข่าวสารข้อมูล