กระทรวงวิทย์ฯ เผยผลสำรวจจุฬาฯ ประชาชนไม่ต้องการโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ ทั้งที่อยากให้มีถึง 60% แต่เมื่อจะให้ รง.ไฟฟ้าไปตั้งในท้องถิ่นกลับเห็นด้วยแค่ 40%...
เมื่อวันที่ 6 ต.ค.นายวีระชัย วีระเมธีกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (วท.) กล่าวว่า หลังจาก วท.ได้มอบให้จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สำรวจความต้องการของประชาชนในเรื่องโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ พบว่า ประชาชนกว่าร้อยละ 60 ต้องการให้มีการสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ และถามต่อว่า หากจะต้องมาตั้งโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ในจังหวัดที่ผู้ตอบแบบสอบถามอาศัยอยู่พบ ว่ามีเพียง ร้อยละ 40 เท่านั้นที่เห็นด้วย
รมว.กระทรวงวิทย์ฯ กล่าวต่อว่า เมื่อถามต่อว่า หากให้มีการตั้งโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ในพื้นที่อยู่อาศัยของผู้ตอบแบบสอบถาม พบว่า ความต้องการโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ ลดลงเหลือเพียงร้อยละ 20 เท่านั้น ซึ่งผลการสำรวจทำให้ทราบว่า ประชาชนยังไม่มีความมั่นใจเรื่องความปลอดภัยของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ ดังนั้นต้องเป็นหน้าที่ของสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ(ปส.) ในการเร่งทำความเข้าใจกับคนในพื้นที่ ที่ต้องการให้มีการสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ ไม่ใช่กับคนทั้งประเทศ ในส่วนของ วท.ได้มีอาสาสมัครนิวเคลียร์ในการลงพื้นที่ทำความเข้าใจกับชาวบ้านอย่างต่อ เนื่อง แต่ทั้งนี้คงไม่สามารถชี้นำชาวบ้านให้ยอมรับโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ได้ ทำได้เพียงให้ความรู้เกี่ยวกับเทคโนโลยีดังกล่าว ทั้งในเรื่องความปลอดภัย และผลกระทบที่จะได้รับ
นายวีระชัย กล่าวอีกว่า อย่างไรก็ตาม ตนมองว่าการจะนำพลังงานนิวเคลียร์เข้ามาใช้นั้น ต้องดูว่าประเทศไทยมีความพร้อมมากน้อยแค่ไหน โดยเฉพาะการยอมรับจากประชาชน แม้ว่าจะมีพลังงานอย่างอื่นทดแทนโดยไม่จำเป็นต้องใช้พลังงานนิวเคลียร์ เช่น พลังงานแสงอาทิตย์ และพลังงานลม แต่ต้องยอมรับว่าพลังงานทั้ง 2 ประเภทมีข้อจำกัดทั้งในเรื่องค่าใช้จ่ายและปริมาณการผลิต โดยหากถามผู้เชี่ยวชาญก็คงได้รับคำตอบเหมือนกันว่า พลังงานทางเลือกต่างๆ ที่มีอยู่ไม่สามารถใช้แทนพลังงานนิวเคลียร์ได้ ยกตัวอย่างคล้ายๆกับ กรณีท่าเรือในภาคใต้ที่จะออกทางฝั่งอันดามัน ไทยจำเป็นต้องมีท่าเรือดังกล่าว แต่ยังเป็นปัญหาอยู่ว่า แล้วจะตั้งที่ไหน โดยเรื่องพลังงานนิวเคลียร์ก็เช่นกัน
รมว.กระทรวงวิทย์ฯ กล่าวด้วยว่า ส่วนความคืบหน้าโครงการศูนย์วิจัยนิวเคลียร์องครักษ์ จ.นครนายก ยังไม่คืบหน้ามากนัก เนื่องจากติดปัญหาเรื่องการทุจริต และยังอยู่ในกระบวนการพิจารณาคดีของคณะ อนุญาโตตุลาการ ทั้งนี้ต้องรอให้มีคำสั่งจากคณะอนุญาโตตุลาการออกมาก่อน ถึงจะสามารถฟ้องคดีความต่อไปได้ในชั้นศาล
ในฐานะที่ท่านเป็นนักเทคโนโลยี ไม่ทราบว่าท่านเห็นด้วยหรือไม่ ?
ร่วม Vote แสดงความคิดเห็นได้ ที่ลิงค์นี้ครับ