ที่มา: ไทยรัฐออนไลน์
21 มกราคม 2553
ความเชื่อมั่นพุ่งสูงรอบ 4 ปี และปรับตัวสูงขึ้นจากเดือน พ.ย. 2552 ที่ 104.7 ซึ่งค่าดัชนี ปรับตัวเกิน 100 เป็นเดือนที่ 3 ติดต่อกัน นับตั้งแต่เดือน ต.ค. 2552...
ดัชนีเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรม ธ.ค. 52 แตะ 113.6 สูงสุดรอบเกือบ 4 ปี สอดรับส่งออก ธ.ค.โต 26% แนวโน้มคำสั่งซื้อต่างประเทศยังโตต่อเนื่อง มั่นใจทั้งปีโต 14-15% ส่งผลภาคการผลิตเริ่มขาดแรงงานแล้ว 5 แสนคน จ่อเสนอรัฐจดทะเบียนรับแรงงานต่างด้าวเพิ่ม ผวาปิดสุวรรณภูมิฉุดเชื่อมั่นดิ่ง
นายสันติ วิลาสศักดานนท์ ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยผลการสำรวจความเชื่อมั่นของภาคอุตสาหกรรมไทยเดือน ธ.ค. ที่ได้จากการสำรวจกลุ่มตัวอย่างจำนวน 1,132 ตัวอย่าง ครอบคลุม 39 กลุ่มอุตสาหกรรมของ ส.อ.ท.ว่า ดัชนีความเชื่อมั่นอยู่ที่ 113.6 สูงสุดในรอบ 44 เดือน หรือเกือบ 4 ปี และปรับตัวสูงขึ้นจากเดือน พ.ย. 2552 ที่ 104.7 ซึ่งค่าดัชนี ปรับตัวเกิน 100 เป็นเดือนที่ 3 ติดต่อกัน นับตั้งแต่เดือน ต.ค. 2552
"ดัชนีอุตสาหกรรมที่สูงสะท้อนกับภาพการส่งออกเดือน ธ.ค.ที่มีการขยายตัว 26% สูงสุดในรอบปี ขณะที่คำสั่งซื้อจากต่างประเทศยังมีเพิ่มเข้ามาอย่างต่อเนื่อง ดังนั้นปีนี้คาดว่าการส่งออกจะมีโอกาสขยายตัวได้ในระดับ 14-15%"
นายสันติกล่าวว่า ปัจจัยที่เอกชนมีความกังวลที่เป็นปัจจัยภายนอกคือ อัตราแลกเปลี่ยน ที่หลายประเทศเริ่มมีความไม่แน่นอน ว่าจะมีนโยบายลดค่าเงินบาทหรือไม่ หลังจากเริ่มมีการลดแล้วในบางประเทศ ขณะที่ค่าเงินบาทยังมีแนวโน้มแข็งค่าต่อเนื่อง ราคาน้ำมันที่เริ่มขยับสูงที่อาจส่งผลต่อต้นทุนการผลิตที่เพิ่มได้ ส่วนปัจจัยในประเทศ สิ่งที่กังวลมากคือ กรณีกลุ่มคนเสื้อแดง จะชุมนุมบริเวณหน้าสนามบินสุวรรณภูมิสัปดาห์ หน้า ที่จะกระทบกับธุรกิจท่องเที่ยวและความเชื่อมั่นที่รุนแรง จึงหวังว่าการชุมนุมจะไม่นำไปสู่ความรุนแรงจนถึงขั้นปิดสนามบินเช่นที่ผ่านมา และกรณีการแก้ไขปัญหามาบตาพุด ก็ต้องการให้ มีความชัดเจนโดยเร็วที่สุด
นายทวีกิจ จตุรเจริญคุณ รองประธานสายแรงงาน ส.อ.ท. กล่าวว่า จากคำสั่งซื้อที่กลับเข้ามา ส่งผลให้ขณะนี้ภาคอุตสาหกรรมที่เป็นสมาชิกส.อ.ท.เกือบทั้งหมด ระบุว่าเริ่มประสบปัญหาภาวะการขาดแคลนแรงงานในระดับอาชีวะและช่างฝีมือ รวม 500,000 คน โดยเฉพาะแรงงานในกลุ่มอุตสาหกรรมสิ่งทอ จะขาดมากสุดราว 100,000-200,000 คน รองลงมาเป็นประเภทอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ เกือบ 50,000 คน ซึ่งหากภาคการส่งออกมีการขยายตัวต่อเนื่อง ปัญหาการขาดแคลนแรงงานจะหนักขึ้น
ทั้งนี้ หากปัญหาแรงงานมีเพิ่มขึ้น อาจจะต้องมีการเสนอรัฐบาลในการเพิ่มการจดทะเบียนแรงงานต่างด้าวอีก จากปัจจุบันที่เปิดให้อยู่ระดับ 1 ล้านคน ขณะที่ความต้องการแรงงานต่างด้าวขณะนี้จะมีสูงถึง 2 ล้านคนและยังไม่รวมกับแรงงานต่างด้าวที่เป็นลักษณะใต้ดิน คือไม่ถูกต้องตามกฎหมาย ที่ขณะนี้มีอยู่ในระบบอีกจำนวนหนึ่ง
"ส.อ.ท.เสนอให้รัฐบาลแก้ไขปัญหาระบบการศึกษาของไทยมาโดยตลอดโดยเฉพาะการสร้างแรงงานระดับอาชีวศึกษาที่เป็นกลุ่มแรงงานที่นายจ้างต้องการมากที่สุดในภาคอุตสาหกรรม ดังนั้นรัฐบาลควรเร่งผลิตให้เพียงพอ รองรับการลงทุนในระยะยาว สาเหตุที่แรงงานภาคอุตสาหกรรมขาดแคลนเพราะในปี 2552 มีการปลดแรงงานไปหลายแสนคน แรงงานเหล่านี้เมื่อกลับสู่ภูมิลำเนา ก็หันไปทำอาชีพในพื้นที่ของตนเอง เมื่อมีการเปิดรับแรงงานเข้ามาในระบบจ้างงานอีกรอบ ก็ไม่ยอมกลับมาทำงาน".
========================================================
================= ยูทุปของ 9engineer ,com ===================
คลิปที่น่าสนใจจัดทำโดย 9engineer.com ภายใต้ชื่อช่องTechnology talk Channel
**** นายเอ็นจิเนียร์ขอสงวนสิทธิ์รับรองความถูกต้อง โปรดใช้วิจารณญาณในการรับข่าวสารข้อมูล