ว่าที่ดอกเตอร์ประยุกต์นาโนเทคโนโลยีพัฒนาฟิล์มบางตรวจวัดก๊าซพิษ นำร่องตรวจไนโตรเจนไดออกไซด์ หวังสร้างระบบป้องกันก๊าซรั่วในโรงงาน
นายเรวัตร ใจสุทธิ นักศึกษาปริญญาเอก ภาควิชาฟิสิกส์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล พัฒนา "เซ็นเซอร์นาโน" ตรวจวัดก๊าซไนโตรเจนไดออกไซด์ ซึ่งเป็นก๊าซพิษที่เกิดจากการเผาไหม้เชื้อเพลิงที่เกิดในโรงงานอุตสาหกรรม หรือท่อไอเสียรถยนต์ แม้กระทั่งการปรุงอาหารในครัว หากมีปริมาณมากจะเป็นอันตรายต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อม
ปัจจุบันการวิจัยทำไปแล้วกว่า 60% คือ สามารถสร้างเซ็นเซอร์ฟิล์มบางที่ตรวจวัดก๊าซไนโตรเจนไดออกไซด์ได้ แต่จำเป็นต้องศึกษาเชิงลึกเกี่ยวกับกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีเซ็นเซอร์เพิ่มเติมเพื่อสร้างความเข้าใจ และเป็นองค์ความรู้ของตัวเองโดยไม่ต้องพึ่งพาของนำเข้า
"หากเรามีองค์ความรู้ สามารถสร้างเซ็นเซอร์ได้เอง จะทำให้ราคาถูกลงเป็น 100 เท่า จากเซ็นเซอร์ที่นำเข้ามาใช้ราคา 1,500-4,000 บาท ที่สำคัญ ยังสามารถประยุกต์ทำเป็นกลุ่มเซ็นเซอร์ตรวจวัดก๊าซพิษประเภทอื่นๆ ได้หลากหลายอีกด้วย" นายเรวัตรกล่าว
เซ็นเซอร์ตรวจวัดก๊าซพิษสามารถที่จะนำไปใช้ในโรงงานอุตสาหกรรมที่เสี่ยงต่อการรั่วไหลของสารพิษ ซึ่งสามารถที่จะเชื่อมต่อกับระบบเตือนภัยของโรงงาน หากเกิดความผิดปกติหรือการรั่วไหลของก๊าซพิษก็สามารถที่จะแจ้งเตือนได้ทันที
อย่างไรก็ตาม นักวิจัยย้ำว่าการพัฒนาเป็นเซ็นเซอร์ตรวจวัดก๊าซไนโตรเจนไดออกไซด์ ที่มีความแม่นยำ จำเป็นต้องผ่านกระบวนการตรวจสอบและวิจัย เพื่อให้ผลการตรวจวัดมีความแม่นยำ 100%
"การตรวจวัดสารพิษจะผิดไม่ได้แม้แต่ 1 พีพีเอ็ม เพราะอาจก่อให้เกิดการตายได้ ดังนั้น การวิจัยและพัฒนาที่เกี่ยวข้องกับความปลอดภัยจำเป็นต้องมีความมั่นใจและสมบูรณ์ ไม่คลาดเคลื่อนแม้แต่นิดเดียว ดังนั้น การพัฒนาเซ็นเซอร์ตรวจวัดสารพิษเพื่อนำไปใช้จริง ต้องใช้เวลาพอสมควร"
ทั้งนี้ การวิจัยหัวข้อเซ็นเซอร์นาโน หรือ "การตรวจวัดก๊าซไนโตรเจนไดออกไซด์ ด้วยเซ็นเซอร์ฟิล์มบางขนาดนาโน จากโลหะแพททาโลไซยาไนน์" เป็นส่วนหนึ่งของโครงการพัฒนา "จมูกอิเล็กทรอนิกส์" โดยในส่วนนี้ จะศึกษาคุณสมบัติของฟิล์มบางจากโลหะแพททาโลไซยาไนน์ ซึ่งเป็นสารประกอบอินทรีย์ที่มีโครงสร้างใกล้เคียงกับเฮโมโกลบินที่สามารถตรวจวัดออกซิเจนได้ จึงน่าจะมีความเป็นไปได้ที่จะนำมาตรวจวัดก๊าซพิษ
นักวิจัยใช้แพททาโลไซยาไนน์จากโลหะ 5 ประเภท คือ โคบอลต์ เหล็ก สังกะสี ทองแดง และแมงกานีส ทำเป็นฟิล์มบางขนาด 150 นาโนเมตร นำมาตรวจวัดก๊าซไนโตรเจนไดออกไซด์ด้วยกระบวนการทางเคมี แล้วนำผลไปอ่านค่าสัญญาณไฟฟ้า แสดงผลในรูปกราฟ
"ผลการตรวจสอบพบว่า ฟิล์มบางทั้ง 5 ชนิด สามารถตรวจวัดก๊าซไนโตรเจนไดออกไซด์ได้หมด แต่ทุกชนิดมีการตอบสนองที่แตกต่างกัน"
นักวิจัยนำเสนองานวิจัยนี้ในการประชุมนานาชาติด้านนาโนเทคโนโลยีเรื่อง "วัสดุนาโนเพื่อสุขภาพ พลังงานและสิ่งแวดล้อม" โดยสถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเซีย (เอไอที) และศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ (นาโนเทค/สวทช.)
ขอขอบคุณที่มาของแหล่งข้อมูล
========================================================
================= ยูทุปของ 9engineer ,com ===================
คลิปที่น่าสนใจจัดทำโดย 9engineer.com ภายใต้ชื่อช่องTechnology talk Channel
**** นายเอ็นจิเนียร์ขอสงวนสิทธิ์รับรองความถูกต้อง โปรดใช้วิจารณญาณในการรับข่าวสารข้อมูล