แปลและเรียบเรียงโดย : 9engineer
ส่วนประกอบหลักในระบบInter BUS
ระบบบัสประกอบด้วยส่วนต่างๆ หลายส่วน เช่น อุปกรณ์โลคัลบัส (local bus device) และโมดูลเทอร์มินัล (terminal module)
เชื่อมต่อเป็นบัส จะเป็นการดีหากผู้ใช้งานได้ทำความคุ้นเคยกับนิยามและหลักการทำงานของอุปกรณ์เหล่านี้
คอนโทรลบอร์ด (Controller Board)
คอนโทรลบอร์ดทำหน้าที่จัดการและควบคุมการสื่อสารระหว่างโมดูลต่างๆ ภายในบัส เช่น ส่งข้อมูลระหว่างโมดูล รับข้อมูลระหว่างโมดูล และคอยตรวจสอบดูแลสภาวะของสัญญาณข้อมูลภายในบัส นอกจากนี้ ยังใช้แสดงข้อความสำคัญในระบบที่อาจเป็นค่าข้อมูลตัวเลขใดๆ หรือสัญญาณเตือนภัยในกรณีที่ระบบเกิดปัญหาขัดข้อง รวมทั้งส่งข้อความเหล่านี้ไปยังระบบฐานข้อมูลหรือระบบปฏิบัติการในระดับบนต่อไป
ข้อมูลทางเทคนิคสำหรับลูป InterBUS
- ♦ ระยะห่างใกล้สุดระหว่างอุปกรณ์ 2 ตัวไม่ควรน้อยกว่า 20 เซนติเมตร (7.874 นิ้ว)
- ♦ ระยะห่างไกลสุดระหว่างอุปกรณ์ 2 ตัวไม่ควรมากกว่า 20 เมตร (65.617 ฟุต)
- ♦ ระยะห่างรวมระหว่างอุปกรณ์ 2 ตัวที่อยู๋ไกลจากกันมากที่สุดภายในบัสเดียวกันไม่ควรเกิน 200 เมตร (656.168 ฟุต)
- ♦ กระแสภายในบัสสูงสุด 1.8 แอมแปร์ (ขยายได้โดยใช้ PWR IN)
- ♦ ต่ออุปกรณ์ได้ทั้งหมด 63 ตัว
- ♦ แหล่งจ่ายไฟแรงดัน 19.2 - 30 V
- ♦ ใช้สายไฟชุดเดียวเป็นทั้งสายจ่ายไฟป้อนวงจรและสื่อสารสัญญาณข้อมูล
รีโมตบัส (Remote bus)
คอนโทรลบอร์ดถูกเชื่อมต่อเข้ากับอุปกรณ์รีโมตบัสด้วยรีโมตบัส กิ่งที่แยกออกมาจากรีโมตบัสนี้เรียกว่ากิ่งรีโมตบัส (remote bus branch) การรับส่งข้อมูลใช้มาตรฐาน RS-485 โดยสามารถรับส่งข้อมูลผ่านตัวกลางหลายชนิด เช่น สายไฟทองแดง สายใยแก้ว ระบบอินฟราเรด สลิปริง หรือตัวกลางชนิดอื่นๆ บัสเทอร์มินัลโมดูลชนิดพิเศษและโมดูลอินพุตเอาท์พุตบางชนิดเช่น หุ่นยนต์ ชุดขับกำลัง หรือ อุปกรณ์ภาคการเคลื่อนไหวภายในระบบควบคุมสามารถต่อใช้งานเป็นอุปกรณ์รีโมตบัสได้ อุปกรณ์แต่ละตัวมีแหล่งจ่ายไฟสำหรับตัวเองซึ่งจะแยกกันทางไฟฟ้ากับภาคการส่งสัญญาณออกสู่ภายนอกตัวอุปกรณ์ และนอกเหนือไปจากการทำหน้าที่รับส่งข้อมูลแล้ว รีโมตบัสยังสามารถใช้เป็นสายไฟสำหรับจ่ายไฟป้อนให้โมดูลอินพุตเอาท์พุตและอุปกรณ์เซนเซอร์อีกด้วย
Individual of an INTERBUS network
บัสเทอร์มินัล (Bus terminal)
โมดูลบัสเทอร์มินัล หรืออุปกรณ์ที่บรรจุฟังก์ชั่นการทำงานของบัสเทอร์มินัลอยู่ภายในตัว จะถูกเชื่อมต่อเข้ากับรีโมตบัส กิ่งของบัสที่แยกออกมานั้น เชื่อมต่อกับระบบหลักโดยต่อกับโมดูลรีโมตบัสและโมดูลอินพุตเอาท์พุต ด้วยวิธีนี้ทำให้สามารถต่อเซนเซอร์และอุปกรณ์ภาคการทำงาน (actuator) อื่นๆ เข้ากับระบบ InterBUS ได้
การใช้บัสเทอร์มินัลทำให้สามารถแบ่งแยกระบบออกเป็นส่วนปลีกย่อยหลายส่วน ทำให้สามารถเลือกตัดต่อส่วนบางส่วนออกจากระบบในขณะที่ระบบกำลังทำงานอยู่ได้โดยไม่ต้องหยุดระบบ โมดูลอินพุตเอาท์พุตสามารถใช้ไฟป้อนเลี้ยงวงจรจากบัสเทอร์มินัลได้ นอกจากนี้ บัสเทอร์มินัลยังทำหน้าที่เป็นตัวขยายสัญญาณ (repeater) และแยกส่วนประกอบต่างๆ ภายในระบบออกจากกันทางไฟฟ้า
โลคัลบัส (Local bus)
โลคัลบัสแยกออกจากรีโมตบัสโดยต่อผ่านโมดูลรีโมตอินเตอร์เฟสและต่อกับอุปกรณ์โลคัลบัส ซึ่งไม่สามารถต่อแยกกิ่งลงไปได้อีก ไฟเลี้ยงวงจรรับส่งข้อมูลภายในโลคัลบัสจะถูกจ่ายออกมาจากโมดูลบัสเทอร์มินัล ในขณะเดียวกัน สัญญาณข้อมูลเอาท์พุตก็จะถูกส่งออกมาต่างหากจากโมดูลเอาท์พุต ระบบบัสที่มีโครงสร้างการต่ออุปกรณ์ภายในบัสแบบกระจายเป็นกิ่งก้านสาขาโดยทั่วไปมักจะใช้โมดูลอินพุตเอาท์พุตเป็นอุปกรณ์โลคัลบัส
Loop
เซนเซอร์และแอคชูเอเตอร์ในเครื่องจักรและระบบสามารถเชื่อมต่อเข้ากับระบบ InterBUS ได้โดยใช้สายไฟเพียง 2 เส้น ที่ทำหน้าที่ทั้งรับส่งข้อมูลและจ่ายไฟเลี้ยง นอกจากนี้ ยังมีโมดูลใช้งานเฉพาะด้านแบบอื่นๆ ที่สามารถเชื่อมต่อกับ InterBUS ได้อีก เช่น มอเตอร์สตาร์ทเตอร์
|