06/10/2552 09:38 น. ,
อ่าน 7,940 ครั้ง
การล้างหม้อน้ำนั้นสำคัญไฉน
โดย : Admin
การทำงานของเครื่องยนต์ ไม่ว่าจะเป็นระบบใด หรือว่าใช้เชื้อเพลิงชนิดใดก็ตาม
สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือ ความร้อนที่สูงมาก ดังนั้นการระบายความร้อนออกจากเครื่องให้ได้มากที่สุด เร็วที่สุด จึงเป็นเรื่องจำเป็นอย่างยิ่ง เพื่อที่เครื่องยนต์จะสามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด และที่สำคัญ จะได้ไม่เกิดความเสียหายร้ายแรง ซึ่งหมายถึงค่าใช้จ่ายที่ตามมาไม่ใช่น้อยๆ เลยทีเดียว การระบายความร้อนด้วยน้ำ เป็นระบบพื้นฐานที่รถทุกคันในปัจจุบันใช้กัน ดังนั้นพยายามตรวจเช็คระดับน้ำในหม้อน้ำ ถังพักน้ำบ่อยๆ แต่ว่าต้องทำในช่วงที่เครื่องเย็นเท่านั้นนะครับ ไม่อย่างนั้นจะเกิดอันตรายถูกน้ำร้อนลวกได้
การตรวจสอบถ้าพบว่าน้ำพร่องไปบ้าง แบบไม่มากนัก ก็ถือว่าเป็นเรื่องปกติ แต่ก็อย่าลืมเติมเพิ่มเข้าไปให้อยู่ในระดับปกติ แต่ถ้าลดลงมาก เติมแล้วไม่นานก็ลดอีก ทีนี้ต้องไล่ดูแล้วว่ามันรั่วตรงไหน แล้วจัดการแก้ไขเสียให้เรียบร้อย ส่วนหม้อน้ำที่ปกติดี ไม่รั่วไม่ซึม ก็ไม่ได้หมายความจะปล่อยปละละเลยเอาตามใจชอบได้นะครับ ต้องคอยดูด้วยว่า มันสกปรกเกินไปหรือไม่ วิธีการก็ดูจากน้ำว่ามันใส มันขุ่น แค่ไหน ถ้าขุ่นชนิดภาษาชาวบ้านเรียกว่าขุ่นคลั่กละก็ คงต้องล้างกันสักหน่อยแล้ว
ล้างเองได้ไหม? เสียดายเงินจ้างเขา ได้แน่นอน ไม่ยากด้วย เริ่มต้นอย่างนี้
- ดับเครื่องยนต์ จากนั้นมุดไปใต้ท้อง คลายนัทหางปลาที่หม้อน้ำให้หลวมๆ แต่อย่าเพิ่งให้หลุดออกมา เพื่อให้น้ำในหม้อน้ำไม่ไหลออกมา พร้อมกับเปิดฝาหม้อน้ำเอาไว้ด้วย และเตรียมสายยางต่อตรงจากก๊อกน้ำเตรียมพร้อมไว้
- ติดเครื่องยนต์ด้วยรอบเดินเบาสักพัก ให้ความร้อนที่มาตรวัดขึ้นไปประมาณกลางๆ
- คลายนัทหางปลา เพื่อให้น้ำไหลออก แล้วก็รีบๆ เอาสายยางที่เตรียมไว้แหย่เข้าไปที่หม้อน้ำ เปิดก๊อกน้ำ แรงเบาแค่ไหน ก็ดูที่ความเหมาะสม คือให้มีน้ำอยู่ในหม้อน้ำตลอดเวลา ไม่ล้น ไม่แห้ง ทำไปเรื่อยๆ จนกว่า น้ำที่ปล่อยไหลออกมาจะสะอาด หายขุ่น
- ดับเครื่อง ปิดก๊อกน้ำ และปล่อยให้น้ำในหม้อน้ำไหลออกมาจนหมด จากนั้นปิดนัทหางปลาให้แน่น แล้วเติมน้ำเข้าไปจนได้ระดับ เติมคูลแลนท์เข้าไปด้วย ส่วนน้ำยากันสนิมจะเติมหรือไม่เติม ก็ตามแต่ใจครับ แล้วปิดฝาหม้อน้ำให้แน่น
- สตาร์ทเครื่องอีกครั้งให้พอร้อนๆ เสร็จแล้วดับเครื่อง เพื่อทำความสะอาดเครื่องยนต์ที่อาจจะเปียกชื้น เท่านี้ก็เป็นอันว่าเสร็จเรียบร้อย
อ้อ! ก่อนทำ ถ้าจะหาอะไรมาคลุมชิ้นส่วนอื่นๆ โดยเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับระบบไฟ ก็ดีครับ
|
ที่มา: กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ (3 กันยายน 2552)
|
|
========================================================