เมื่อพูดถึงคำว่า “ไฟฟ้าแรงสูง” หลายคนอาจจะรู้สึกไกลตัว แต่จริง ๆ แล้ว 24 ชั่วโมงของแต่ละวัน ไฟฟ้าที่เราใช้ได้ผ่านระบบส่งไฟฟ้าแรงสูงมาแล้วทั้งนั้น เพราะสายส่งไฟฟ้าแรงสูง เปรียบเสมือนเส้นเลือดใหญ่ของแหล่งพลังงาน ที่ส่งจ่ายไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าไปยังผู้ใช้ไฟฟ้าทุกทิศทั่วไทย
คำถาม 1 : ไฟฟ้า มาถึงบ้านของทุกคนได้อย่างไร?
คำตอบคือ กระแสไฟฟ้าแรงดันสูงนับแสนโวลต์จะวิ่งระยะทางไกล จากแหล่งผลิตไฟฟ้าผ่านสายส่งไฟฟ้าแรงสูง และผ่านหม้อแปลงแรงดันไฟฟ้าที่สถานีไฟฟ้าแรงสูง ไปยังสายส่งไฟฟ้าที่แรงดันต่ำลง ของการไฟฟ้านครหลวง หรือ การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ก่อนที่จะลดแรงดันเหลือ 220 โวลต์วิ่งเข้าสู่บ้านเรา
คำถาม 2 : ทำไมต้องส่งไฟฟ้าแรงดันสูงมาในตอนแรก ทำไมไม่ส่งแรงดันต่ำมาเลยจะได้ไม่ต้องผ่านหม้อแปลงแรงดัน?
คำตอบคือ ระบบไฟฟ้าที่มีแรงดันไฟฟ้าสูงจะสามารถส่งกระแสไฟฟ้าไปได้ในระยะทางที่ไกล และมีการสูญเสียทางไฟฟ้าต่ำกว่าระบบไฟฟ้าที่มีแรงดันไฟฟ้าต่ำ ซึ่งแหล่งผลิตไฟฟ้าหลักๆของประเทศกระจายกันอยู่ตามภาคต่างๆ ซึ่งมีระยะทางไกลเป็นหลายร้อยกิโลเมตร ดังนั้นเสาและสายส่งไฟฟ้าแรงสูง จึงจำเป็นต้องอยู่ในสภาพดีอยู่ตลอดเวลา
การซ่อมสายชำรุด
คำถาม 3 : ระบบไฟฟ้าของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย มีระดับแรงดันไฟฟ้าเท่าใดบ้าง?
คำตอบคือ ในปัจจุบันระบบส่งไฟฟ้าแรงสูงของ กฟผ. ใช้ระดับแรงดันไฟฟ้า คือ 69 กิโลโวลต์ (ปัจจุบันใช้อยู่น้อยมาก) 115 กิโลโวลต์ 230 กิโลโวลต์ และ 500 กิโลโวลต์ ซึ่งถือเป็นไฟฟ้าแรงสูงทั้งหมด และในอนาคต หากมีความต้องการพลังงานไฟฟ้ามากขึ้นและต้องส่งพลังงานไฟฟ้าในระยะไกลมากขึ้น อาจจะมีระดับแรงดันไฟฟ้าที่มากกว่า 500 กิโลโวลต์
โดยเสาส่งไฟฟ้าที่ใช้งานอยู่ 3 ชนิด คือ เสาคอนกรีต เสาโครงเหล็ก และเสาชนิด Monopole ซึ่งจะใช้เสาประเภทใดนั้น ขึ้นอยู่กับเงื่อนไขและความเหมาะสมของสภาพพื้นที่ที่ตั้งเสาไฟฟ้า แรงดันไฟฟ้า และจำนวนสายที่ใช้ในระบบของ กฟผ.
คำถาม 4 : เราจะทราบได้อย่างไรว่าสายไฟฟ้าแบบไหนเป็นสายไฟฟ้าแรงสูง?
คำตอบคือ วิธีสังเกตว่าเป็นไฟฟ้าแรงสูงง่ายๆ คือ ระดับความสูงของสายไฟ สายไฟฟ้าแรงสูง มักจะอยู่สูงจากพื้นดินตั้งแต่ 9 เมตรขึ้นไป ยิ่งสายไฟอยู่สูง แสดงว่าแรงดันไฟฟ้ายิ่งสูง
นอกจากนี้ เนื่องจากสายไฟฟ้าแรงสูงมีระยะอันตรายที่ไฟฟ้าจะกระโดดข้ามได้ ดังนั้น จึงต้องมีการจับยึดสายไฟฟ้า ด้วยวัสดุที่เป็นฉนวนไฟฟ้า ที่เรียกว่า “ลูกถ้วย” ในจำนวนที่พอเหมาะกับไฟฟ้าแรงสูงนั้น ซึ่งจำนวนชั้นของลูกถ้วย จะบ่งบอกถึงระดับแรงดันไฟฟ้าด้วย
คำถาม 5 : ลูกถ้วยสำหรับสายส่งไฟฟ้ามีคุณสมบัติอะไร?
คำตอบคือ ลูกถ้วยเป็นอุปกรณ์ที่ใช้รองรับสายไฟฟ้าแรงสูง มีคุณสมบัติเป็นฉนวนไฟฟ้า ป้องกันกระแสไฟฟ้าไหลจากสายตัวนำไปสู่โครงสร้างเสา
ลูกถ้วยที่ใช้อยู่ในสายส่งของ กฟผ. ทำจากกระเบื้องเคลือบ หรือแก้ว ซึ่งจะมีเนื้อละเอียดกว่าเซรามิกและแก้วที่ใช้ทำถ้วยชาม ฉาบผิวด้วยสารเคลือบเงาเพื่อให้เรียบ ลื่น สกปรกยาก ที่มีคุณสมบัติพิเศษคือมีความเป็นฉนวนมาก และมีความแข็งแรง ทนทาน แต่เมื่อใช้ไปนานๆ สัมผัสกับอากาศนานเข้าจะมีฝุ่นละอองมาเกาะทำให้เกิดการนำไฟฟ้าได้ จึงต้องมีการทำความสะอาดลูกถ้วยอย่าสม่ำเสมอ
คำถาม 6 : สายไฟฟ้าแรงสูงมีอันตรายหรือไม่ และเราควรปฏิบัติอย่างไรในเขตระบบไฟฟ้าแรงสูง
คำตอบคือ กระแสไฟฟ้าสามารถกระโดดจากสายไฟฟ้าข้ามผ่านอากาศได้ โดยไม่จำเป็นต้องสัมผัสถูกสายไฟฟ้า แค่เพียงเข้าใกล้สายไฟฟ้าก็อาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้ การใช้ประโยชน์ที่ดินในเขตระบบโครงข่ายไฟฟ้าจะต้องควบคุมดูแลและจำกัดการทำงานต่างๆ อย่างระมัดระวังและให้มีความปลอดภัยสูงสุด โดยไม่ควรเข้าใกล้สายส่งไฟฟ้าแรงสูงในรัศมี 4 เมตร
ถ้าหากสายไฟฟ้าแรงสูงเกิดข้อขัดข้องด้วยสาเหตุประการใดก็ตาม ย่อมส่งผลเสียในวงกว้าง กฟผ. จึงได้มีการบำรุงรักษาสายส่งไฟฟ้าแรงสูงที่พร้อมดำเนินการตลอดเวลา ไม่ว่าจะเป็นการชำรุดของเสาและสายส่ง หรือ การมีสิ่งแปลกปลอมไปติดที่เสาและสายส่ง กฟผ. พร้อมดำเนินการแก้ไขอย่างรวดเร็ว นอกจากนี้ ประชาชนผู้ใช้ไฟฟ้า สามารถช่วยกันดูแลและปกป้องสายส่งไฟฟ้าแรงสูงได้อีกทางหนึ่ง เช่น ระมัดระวังขณะใช้เครื่องจักรกลใกล้แนวสายส่งไฟฟ้าแรงสูง เช่น รถตัก รถเครน อย่าให้ชิ้นส่วนใดของรถเข้าใกล้สายส่งในรัศมี 4 เมตร ไม่เผาพืชในบริเวณใกล้แนวสายส่ง จุดประทัด พลุ หรือบั้งไฟ ใกล้แนวสายส่ง ไม่ปีนป่ายโครงเสาส่งไฟฟ้า ไม่เล่นว่าว เครื่องร่อน หากพบความผิดปกติกับสายส่งไฟฟ้าแรงสูง พบต้นไม้ใหญ่หรือสูงเกินกว่า 3 เมตร ใกล้สายส่งไฟฟ้าแรงสูง ควรแจ้งเจ้าหน้าที่ให้ทราบโดยเร็ว ที่ศูนย์บริการข้อมูล กฟผ. 1416 ได้ตลอด 24
Cr: https://www.egat.co.th/index.php?option=com_content&view=article&id=2107%3Aart-20170830-01&catid=49&Itemid=251&fbclid=IwAR21W4v_QchqSYE2oEHVtVeBXWFeMlpaa28shXtx4KbXlxhJSZ6t9jK6O08
========================================================