คลิป IT 24 ชม.
อีกไม่นานระบบการออกอากาศโทรทัศน์ในประเทศไทยก็กำลังจะเปลี่ยนจากระบบอนา ล็อคไปเป็นดิจิตอลกันแล้ว ซึ่งก็จะทำให้เราได้รับชมทีวีที่มีสัญญาณภาพและเสียงคมชัดขึ้น ไม่มีสัญญาณรบกวนและมีช่องฟรีทีวีให้ดูมากขึ้นอีกด้วย แต่ก็ยังมีคำถามอยู่ว่าระบบดิจิตอลกับระบบดาวเทียมที่เราใช้ดูช่องเคเบิ้ล ทีวีต่างๆในปัจจุบันนั้นมีความแตกต่างกันอย่างไร เรามีคำตอบมาฝาก
การติดตั้ง
ทีวีดาวเทียมนั้นต้องใช้พื้นที่ในการติดตั้งมาก ยิ่งถ้าเป็นจานดำ (c-band) จะยิ่งมีขนาดหน้าจานใหญ่ และจุดติดตั้งต้องสามารถหันไปในทิศที่ท้องฟ้าเปิดของดาวเทียมที่ต้องการรับ แต่ทีวีดิจิตอล สามารถใช้เสาอากาศก้างปลาแบบ UHF เดิมที่มีอยู่ หรือติดตั้งใหม่ได้เลย โดยจะมีให้เลือกหลายรูปแบบหลายขนาดตามความเหมาะสม ซึ่งบางจุดอาจใช้เพียงเสาอากาศภายนอกขนาดกะทัดรัดติดตั้งริมหน้าต่างหรือ ระเบียง
รูปแบบการรับชม
โดยทั่วไปทีวีดาวเทียมสามารถรับชมได้เฉพาะจุด เช่นติดตั้งที่บ้าน ก็ดูได้เพียงภายในบ้าน ส่วนการติดตั้งในรถยังมีราคาสูง และต้องอยู่ในพื้นที่เปิดโล่ง ฝนไม่ตกจึงจะรับชมได้ แต่ทีวีดิจิตอล มีหลายรูปแบบในการรับชม เช่น รับชมเฉพาะจุดภายในอาคาร จากอุปกรณ์พกพาโน๊ตบุ๊ค แท็บเล็ต หรือรับชมภายในรถ
พื้นที่ให้บริการ
สามารถให้บริการในพื้นที่กว้างและพื้นที่ห่างไกลเช่น ดาวเทียมไทยคม 5 c-band ครอบคลุมพื้นที่หลายประเทศในภูมิภาค แต่ทั้งนี้ขอบเขตพื้นที่การให้บริการของดาวเทียมอาจมีปัญหาในด้านลิขสิทธิ์ การออกอากาศ เช่น ลิขสิทธิ์การถ่ายทอดฟุตบอล ซึ่งทีวีดิจิตอลสามารถควบคุมพื้นที่การให้บริการได้ดีกว่า มีช่องรายการที่แพร่ภาพได้ทั่วประเทศ หรือช่องรายการที่แพร่ภาพเฉพาะภูมิภาคหรือบางพื้นที่ได้ เช่นทีวีภูมิภาค ทีวีชุมชน เป็นต้น หรือเพื่อรองรับในด้านความมั่นคง หรือการแจ้งเตือนเหตุฉุกเฉินหรืออุบัติภัย ที่สามารถเลือกแจ้งเตือนเฉพาะพื้นที่ได้
คุณภาพและความเสถียรของสัญญาณ
การรับสัญญาณดาวเทียม โดยเฉพาะอย่างยิ่งระบบ KU Band มักมีปัญหาไม่สามารถรับชมได้ในกรณีที่มีเมฆครึ้มมาก หรือฝนตกหนัก นอกจากนี้สัญญาณอาจถูกบล็อกจากสิ่งกีดขวางที่เกิดขึ้นภายหลัง เช่น ต้นไมบัง , มีตึกสูงบัง เป็นต้น แต่ทีวีดิจิตอลมีความเสถียรของสัญญาณมากกว่า สามารถปรับแต่งเพิ่มกำลังส่ง หรือเพิ่มสถานีส่งย่อย หรือเพิ่ม Gap Filler ซึ่งเป็นอุปกรณ์ขยายสัญญาณสำหรับพื้นที่อับสัญญาณได้ เช่น มุมอับสัญญาณเนื่องจากตึกสูงหนาแน่นในตัวเมือง เป็นต้น
ภาพประกอบจาก www.photos.com , IT 24 Hrs
========================================================