โดย โกวิท วงศ์สุรวัฒน์ มติชน 18 ก.ค.2555
ข้อความหล่อๆ อย่างนี้ได้พบเห็นและได้ยินพูดกันออกเกร่อจนรำคาญ เนื่องจากคนที่พูดที่เขียนกันหลายๆ คนมักจะใช้ข้อความนี้ออกมาเพื่อความเท่ห์เท่านั้น โดยไม่ทราบความหมายจริงๆ อะไรมากกว่านี้ อย่างมากก็รู้เพิ่มอีกหน่อยว่าเป็นคำพูดของอัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ ผู้เป็นที่ยอมรับกันอย่างกว้างขวางว่าเป็นนักวิทยาศาสตร์ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในคริสต์ศตวรรษที่ 20 เมื่อไอน์สไตน์ค้นพบทฤษฎีสัมพันธภาพทั่วไปใน พ.ศ.2458 เขาจึงกลายเป็นผู้ที่มีชื่อเสียง ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่ค่อยธรรมดานักสำหรับนักวิทยาศาสตร์ (ผู้ที่ไม่ได้เป็นดาราหรือนักการเมือง) ชื่อเสียงของเขาได้ขยายวงกว้างออกไปมากกว่านักวิทยาศาสตร์คนอื่นๆ ในประวัติศาสตร์ ไอน์สไตน์ ได้กลายมาเป็นแบบอย่างของความฉลาดหรืออัจฉริยะนั่นเอง |
ความจริงคำกล่าวเต็มๆ ของวรรคทองนี้คือ "Imagination is more important than knowledge. For knowledge is limited to all we now know and understand, while imagination embraces the entire world, and all there ever will be to know and understand."
พากย์ไทยคือ "จินตนาการสำคัญกว่าความรู้ เนื่องจากความรู้นั้นจำกัดอยู่แค่ที่เรารู้และเข้าใจทั้งหมดเท่านั้น ในขณะที่จินตนาการรวมเอาโลกกับความรู้และความเข้าใจที่จะต้องรู้ทั้งหมดทั้งโลกไว้ด้วยกัน"
ครับ ! อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ หมายความว่าคุณต้องมีทั้งความรู้และความเข้าใจเสียก่อนจึงจะมีจินตนาการต่อยอดออกไปเพื่อที่จะแสวงหาความรู้และความเข้าใจต่อไป ไม่ใช่มีแต่จินตนาการโดยปราศจากความรู้ความเข้าใจ ซึ่งการมีจินตนาการโดยไม่มีความรู้และความเข้าใจนั้นเรียกว่า การฝันกลางวัน หรือการการสร้างวิมานในอากาศนั่นเอง (โปรดสังเกต**ไอน์สไตน์ใช้คำว่าความรู้กับความเข้าใจแยกจากกันนะครับ เพราะมีความรู้แล้วมิได้หมายความว่าจะต้องมีความเข้าใจแต่การจะเข้าใจได้ ต้องมีความรู้เสียก่อน)
ไอน์สไตน์เชื่อว่าวิทยาการจะก้าวหน้าได้จากการทดลองทางกายภาพและการค้นหาความจริงที่ยังไม่พบให้ได้ โดยมีคณิตศาสตร์เป็นเครื่องมือให้คำอธิบายที่สอดคล้องกันได้ในทุกสภาวการณ์โดยไม่ขัดแย้งกันเอง ไอน์สไตน์ยังสนับสนุนทฤษฎีที่ค้นหาผลลัพธ์ในจินตนาการอย่างแข็งขัน อันเป็นหลักการของการพิสูจน์ทฤษฎีของการศึกษาระดับบัณฑิตศึกษาที่เป็นสากลในปัจจุบันนั่นเอง
ครับ ! ปีเตอร์ ฮิกส์ นักฟิสิกส์ชาวสก๊อตได้ใช้จินตนาการในการอธิบายกำเนิดจักรวาลหลังการเกิดบิ๊กแบงเมื่อ 48 ปีมาแล้ว โดยอธิบายว่า ในชั่วระยะเวลา 1 ใน 1 ล้านล้านส่วนของวินาทีหลังเกิดบิ๊กแบง ได้เกิดสภาวะที่เรียกกันในเวลาต่อมาว่าสภาวะ ฮิกส์โบซอน ขึ้น ภายใต้สภาวะดังกล่าวจะมีอนุภาคส่วนหนึ่งซึ่งต่อมาถูกเรียกว่า อนุภาคฮิกส์ ถูกดึงดูดเข้ารวมกับอนุภาคอีกส่วนหนึ่ง ทำให้มีมวลมากกว่า อนุภาคอีกส่วนที่ไม่มีคุณสมบัติเดียวกัน ความแตกต่างดังกล่าวนี้เองที่ก่อให้เกิดมวลขึ้นในสภาวะไร้น้ำหนัก และเป็นจุดกำเนิดจักรวาลในเวลาต่อมา พูดง่ายๆ คือ เดิมทีเดียวในจักรวาลนั้นมีแต่พลังงานยังไม่มีมวล (คนแก่ๆ สมัยผู้เขียนเรียกมวลว่าสสาร)
พูดง่ายๆ อีกทีก็คือ เจ้าอนุภาคฮิกส์ หรือฮิกส์โบซอน (โบซอนนี่มาจากชื่อของนักฟิสิกส์ชาวอินเดียนะครับ วันหน้าค่อยเขียนเป็นอีกเรื่องหนึ่งก็แล้วกัน) นี่ทำให้เกิดมวลขึ้นเป็นดวงดาวทั้งหลายในจักรวาล นั่นแหละ แต่ไม่มีใครเคยเห็นเจ้าอนุภาคฮิกส์นี่เลย บรรดานักฟิสิกส์ส่วนใหญ่ทั่วโลกเชื่อว่ามีอนุภาคฮิกส์จริงๆ จนมีนักฟิสิกส์ผู้เคยได้รับรางวัลโนเบลใน พ.ศ.2531 ชื่อ ลีออง เอ็ม. ลีดเดอร์แมน เรียกอนุภาคฮิกส์นี้ว่า "Goddamn particle" จนเขียนเป็นหนังสือขึ้นมาเล่มหนึ่ง บ่นถึงความยากลำบากในการค้นหาอนุภาคฮิกส์นี้ เพราะว่ายังไม่มีใครเคยเห็นจริงๆ เลย แต่ทางสำนักพิมพ์ที่พิมพ์หนังสือของศาสตราจารย์ลีดเดอร์แมนขอตัดคำว่า "damn" ออก จึงกลายเป็นอนุภาคของพระเจ้าไปและผู้คนเรียกติดปากมากกว่าเรียกว่าอนุภาคฮิกส์เสียอีก
ครับ ! เจอแล้วครับโดยองค์การวิจัยนิวเคลียร์ยุโรปหรือชื่อย่อว่า "เซิร์น" ประกาศเมื่อวันที่ 4 กรกฎาคมศกนี้เองว่า เครื่องเร่งอนุภาคขนาดใหญ่ของเซิร์นได้ค้นพบอนุภาคใหม่ ที่มีลักษณะคล้ายกับ "อนุภาคฮิกส์" แล้ว (ฝรั่งก็อย่างนี้แหละครับเจอแล้วแต่ไม่รีบประกาศว่าแน่นอนพันเปอร์เซ็นต์แบบบ้านเราเลย ต้องสงวนเผื่อผิดไว้บ้าง แต่สตีเฟน ฮอว์กิง นักฟิสิกส์ชื่อดังที่คนไทยรู้จักกันดีได้กล่าวว่านี่ถือเป็นการค้นพบที่สำคัญ และปีเตอร์ ฮิกส์ควรได้รับรางวัลโนเบล และกล่าวว่า การค้นพบครั้งยิ่งใหญ่ในทางฟิสิกส์มักจะมาจากการทดลองที่มักให้ผลที่เราคาดไม่ถึง แถมบ่นนิดๆ ว่าเสียพนันเพื่อนไปเป็นเงิน $100 เนื่องจากไปพนันว่ายังจะไม่เจออนุภาคฮิกส์นี้)
ดังนั้น หากยังไม่ค่อยรู้และไม่ค่อยเข้าใจในวิชาอะไรละก็ กรุณาอย่าใช้จินตนาการมากนักนะครับ เดี๋ยวจะกลายเป็นแบบผู้เขียนที่เดาอะไรต่อมิอะไรผิดอยู่เรื่อย เนื่องจากความไม่เข้าใจจริงๆ อย่างเรื่องการเมืองไทยเป็นต้น
========================================================