โดย : กรุงเทพธุรกิจออนไลน์
31 พฤษภาคม 54
ช่วง เหตุการณ์ Black Monday (ปี 2530) มีแต่โบรกเกอร์เบอร์ 8 ที่ ศิริวัฒน์บริหารลุยซื้อหุ้นจน ดร.มารวย ผดุงสิทธิ์ ผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์ในตอนนั้นชมเปาะว่า นี่แหละ อัศวินขี่ม้าขาวตัวจริง แม้แต่พวกฝรั่งยังเรียกเขาว่า "Stock Guru" ช่วงหวานไม่นาน ความขมในชีวิตก็เข้ามาเยือน ศิริวัฒน์ วรเวทวุฒิคุณ กรรมการผู้จัดการ บล.เอเซีย (ปัจจุบันควบรวมกิจการเป็น บล.เอเซีย พลัส) สมัยรุ่งเรือง บล.เอเชีย ถือเป็นโบรกเกอร์ใหญ่เวลาส่งคำสั่งซื้อขายก็มีผลทั้งกระดาน
ชีวิต ผ่านยุครุ่งเรืองในเวลาอันรวดเร็ว ศิริวัฒน์ในวัยเพียง 40 ปี เริ่ม "อิ่ม" ในอาชีพลูกจ้าง เขามีความฝันว่าอายุสัก 45 ปีอยากจะรีไทร์ (เป็นอิสรภาพทางการเงิน) ความมั่นใจในตัวเองที่เริ่ม "อิน" กับความเป็น Stock Guru คิดที่จะ "รวยเร็ว" จากตลาดหุ้น ทำให้เขาก้าวเข้าสู่อาชีพนักลงทุนเต็มตัว
|
"ผมลาออกมาเป็น นักลงทุนเต็มตัวตอนอายุ 40 ปี ช่วงนั้นบางวันผมทำกำไรจากหุ้นเป็น "สิบล้านบาท" สาเหตุที่ผม "เจ๊ง" แทบหมดตัวเป็นเพราะใช้มาร์จิน (กู้มาลงทุน) ตอนนั้น ก.ล.ต.ออกกฎให้มีการบังคับขาย (ฟอร์ซเซล) แล้ว พอหุ้นมันตกแรงๆ ก็โดนฟอร์ซเซล หมดพอร์ตเลยแถมยังมีหนี้ที่กู้มาดอกเบี้ย 20% ยังเดินอยู่"
ระหว่าง นั้นศิริวัฒน์เริ่มผ่องเงินเข้าสู่ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ จัดตั้ง บริษัท ทองกวีน จำกัด ลงทุนสร้างคอนโดมิเนียมหรูที่เขาใหญ่ ด้วยหวังว่าจะเป็นแหล่งรายได้ช่วงเกษียณ ตอนนั้นดอกเบี้ยเงินกู้สูง 17-18% ก็ยอมกู้ พอเศรษฐกิจล่มสลายคอนโดห้องละ 15 ล้านบาทขายไม่ออก ลูกค้ายังมาเบี้ยวไม่จ่ายอีกเท่ากับว่า "โดนสองดอก" เป็นหนี้สินรวมกว่า 1,000 ล้านบาท คอนโดที่สร้างไว้ก็ถูกยึด "ชีวิตผมเหมือนกับล้มทั้งยืน" เมื่อปี 2544 บริษัท บริหารสินทรัพย์จันทบุรี จำกัด ได้ยื่นฟ้องล้มละลายศิริวัฒน์ เรียกหนี้คืน 625 ล้านบาท
พ่อค้าแซนด์วิชริมฟุตบาทข้างถนน ก้าวขึ้นสู่
'นักธุรกิจ' เต็มขั้น 'เสือผอมผู้ทระนง' กำลังจะกลายเป็น 'เสี่ย" เสียที...ลาดหลักทรัพย์ mai
วันที่ 20 เมษายน 2540 เขาตัดสินใจชวนภรรยา วิไลลักษณ์ วรเวทวุฒิคุณ “เราไปขายแซนด์วิชกันเถอะ”
ขายวันแรกรู้สึกอายติดยึดอดีตเคยเป็นผู้บริหารใหญ่บริษัทโบรกเกอร์ จบการศึกษาคณะบริหารธุรกิจจากมหาวิทยาลัยเทกซัส สหรัฐอเมริกา แต่ก็อดทนเริ่มขายที่โรงพยาบาลกรุงเทพ ซอยศูนย์วิจัย ใช้เวลา 6 ชั่วโมงครึ่งขายได้ 20 ชิ้นๆ 25 บาท ได้เงินจากน้ำพักน้ำแรง 500 บาท
ครั้ง หนึ่งศิริวัฒน์ บังเอิญพบเพื่อนสมัยเรียนขณะนั้นเป็นผู้บริหารระดับสูงธนาคารแห่งหนึ่ง "คุณมาทำอะไรแถวนี้" เพื่อนนายธนาคารถามด้วยความประหลาดใจ "ก็ขายแซนด์วิชไง" ศิริวัฒน์ตอบแบบอายๆ ก่อนจะงุดหน้าเดินจากไป ปัจจุบันความ "อาย" ได้เปลี่ยนเป็นความ "ภาคภูมิใจ" ที่เงินก็หาซื้อไม่ได้
"วินาที แรกที่ผมคิดคือต้องไม่ทิ้งลูกน้องเด็ดขาด ตอนนั้นมีอยู่ 40 คน ไม่มีเงินจ่ายพนักงานพวกเขาจึงลาออก 20 คน เหลือ 20 คน ก็ต้องหาอะไรให้เขาทำ ส่วนตัวเครดิตหมดไปแล้ว ไม่มีใครให้กู้ จึงมีความคิดว่าจะทำอะไรเพื่อให้ได้ "เงินสด" ซึ่งหนีไม่พ้น "อาหาร" จึงตัดสินใจทำแซนด์วิชขาย ตอนเศรษฐกิจดีผมรวยจากหุ้น (เงินคนอื่น) พอล้มละลายผมตัดสินใจจะรวยด้วยตัวเองให้ได้"
ไม่ มีโชคชะตาที่ไม่เปลี่ยนแปลงตลอดกาลขอเพียงตัวเราขยันขันแข็งโชคชะตาย่อมรับ ใช้เรา ศิริวัฒน์เศรษฐีตกสวรรค์ ใช้ "ริมฟุตบาท..ข้างถนน" เป็นจุดเริ่มต้นสร้างชีวิตใหม่ โดยละทิ้ง "หัวโขนและอดีตจอมปลอม" ไว้เบื้องหลัง
บ้าน เลขที่ 2 ซอยสาทร 11 แยก 5 สถานที่ที่ไม่ได้เป็นเพียงแค่ที่พักอาศัยของศิริวัฒน์ แต่มีพนักงานมากกว่า 10 คน จากทั้งหมด 40 คน นั่งทำงานกันอย่างขะมักเขม้น รวมถึง วรวรรณ วรเวทวุฒิคุณ (ซวง) ลูกสาวคนโตวัย 29 ปี ดีกรีปริญญาตรีเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่นั่งทำงานหน้าห้องคุณพ่อมาปีกว่า
สำหรับ ลูกชายคนรอง วรวุฒิ วรเวทวุฒิคุณ อายุ 27 หลังจบบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ (ABAC) ให้ไปเรียนภาษาจีนกลาง ณ กรุงปักกิ่ง เป็นเวลา 1 ปี ส่วนลูกสาวคนสุดท้อง วรัญญา วรเวทวุฒิคุณ (ปิง) วัย 22 ปี กำลังศึกษาปี 4 ด้านบริหารธุรกิจ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ลูกสาวคนนี้ศิริวัฒน์ให้เรียนด้านบริหารจะได้มาทำธุรกิจของตัวเอง
ยังไม่ทิ้งลาย 'Stock Guru'
จากราย ใหญ่เคยมีพอร์ตลงทุนหลายร้อยล้านบาท ตกชั้นมาเป็นรายย่อย ศิริวัฒน์ยังคงใช้ประสบการณ์แพรวพราวในอาชีพค้าหุ้นมาสร้างมูลค่าให้กับตัว เอง ความเจ็บปวดในอดีตไม่เคยทำให้ Sandwich Man เซียนหุ้นรุ่นเดอะท้อถอย เขายังคงออกหมัดแย็บรับบริหารพอร์ตให้ลูกค้า 10 รายไม่คิดแขวนนวม
"ไม่ ว่าจะผ่านมากี่ยุคกี่สมัย จะ “ชรา” หรือ “วัยทีน” จะเล่นหุ้นแบบ Value Investment หรือเล่นเก็งกำไร การลงทุนในตลาดหุ้นก็ยังเหมือนเดิมหนีไม่พ้น “เก่งบวกเฮง” คงไม่มีใครเก่งหรืออาศัยโชคเพียงอย่างเดียวแล้วรวยได้" ศิริวัฒน์ ตกผลึกจากประสบการณ์ร่วม 40 ปีในตลาดหุ้น
นักสู้ผู้ไม่ยอมแพ้ พูดประโยคกินใจว่า อดีตนั้นเราแก้ไขไม่ได้ แต่เราสามารถเปลี่ยนแปลงอนาคตได้ทั้งหมด..อยู่ที่ตัวเอง
ปัจจุบัน เขาเป็นเจ้าของ บริษัท ทีจีไอเอฟ คอร์ปปอเรชั่น จำกัด ประกอบธุรกิจอาหารและเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพ เสือผอมผู้ทระนงต่อยอดจากแซนด์วิช ซึชิข้าวกล้อง ปิต้าแซนด์วิช ข้าวตัง ขนมปังอบกรอบ ทำร้านกาแฟ Coffee Corner เปิดสาขาที่ รพ.กรุงเทพ, รพ.บีเอ็นเอช รพ.ปิยะเวท รพ.กรุงเทพ พัทยา และเซ็นทรัล พลาซา ชลบุรี ยังออกผลิตภัณฑ์น้ำลูกเดือย, น้ำมะเม่า และผลิตภัณฑ์ตัวใหม่ข้าวกล้องอบกรอบ รสบาร์บีคิว รสสาหร่าย และรสคลาสสิก ยี่ห้อ "ไบรซ์" ตั้งเป้าขายอย่างเป็นล่ำเป็นสัน
ทุก วันนี้ Mr. Sandwich ยังเป็น "มือปืนรับจ้าง" บริหารพอร์ตให้คนคุ้นเคยที่ยังเชื่อมั่นในตัวเขา เมื่อเร็วๆ นี้ ก็สร้างสีสันด้วยการเป็นตัวแทนรายย่อยเสริมสุข (SSC) ยืนข้าง สมชาย บุลสุข ประธานกรรมการบริหาร ออกมาต่อสู้กับ เป๊ปซี่-โคล่า โดยใช้สิทธิความเป็นผู้ถือหุ้น SSC จำนวน 100 หุ้น ซื้อมาหุ้นละ 33 บาท เมื่อกลางปี 2553
เขาดูทำเกินหน้าที่ผู้ถือหุ้น SSC เพียง 100 หุ้น เมื่อปลายเดือนเมษายน 2554 ศิริวัฒน์ได้ยื่นหนังสือร้องเรียนไปที่
“เป๊ป ซี่ อิ้ง” บริษัทแม่ของ เป๊ปซี่-โคล่า (ไทย) เทรดดิ้ง ในประเทศสหรัฐอเมริกา เพื่อให้บริษัทแม่รับทราบถึงความขัดแย้งระหว่างผู้บริหารคนไทยกับผู้บริหาร เป๊ปซี่ และแจ้งให้รับทราบพฤติกรรมของผู้บริหารเป๊ปซี่ในไทยที่ไม่เหมาะสม
"หลายคนมองว่า ผมเป็นตัวแทนใครกันแน่ระหว่าง รายย่อย หรือ สมชาย บุลสุข ถ้าใครรู้จักผมจะรู้ว่าที่ผ่านมาผมเป็นปากเป็นเสียงแทนรายย่อยมาตลอด ยิ่ง SSC มีรายย่อยมากถึง 1,122 ราย ส่วนใหญ่ก็เป็นคนอายุมากที่มีเงินแล้วไม่ค่อยรู้เรื่องหุ้น แบบนี้จะให้นิ่งได้อย่างไร" ศิริวัฒน์ กล่าวกับกรุงเทพธุรกิจ BizWeek
แม้ จะเป็นนักธุรกิจอาหารเต็มตัว เสือผอมผู้ทระนงไม่ได้ผอมเหมือนยุคปี 2540 อีกแล้ว แต่เจ้าตัวยืนยัน วันนี้ก็ยัง "รับจ้างเล่นหุ้น" ให้คนอื่นเหมือนเดิม โดยจะแบ่งกำไรประมาณ 10-20% เช่น ซื้อหุ้นให้ลูกค้า 5 ตัว แล้วขายทิ้งไป 1 ตัว ได้กำไรเท่าไรก็แบ่งตามที่ตกลงกัน ตอนสมัยรุ่งเรืองทำกำไรให้ทั้งตัวเองและลูกค้าได้เป็นล้าน พอหมดยุคทำได้ 10% ก็เก่งแล้ว
"ลูกค้า ของผมเป็นคนมีเงินเยอะอายุ 50 ปีขึ้นไป ส่วนใหญ่รู้จักกันมานานตั้งแต่สมัยเป็นโบรกเกอร์ ตอนนี้มีลูกค้าประมาณ 10 ราย เป็นนักลงทุนที่ชอบเล่นหุ้นระยะสั้น-กลาง ไม่ใช่เขาเล่นหุ้นไม่เป็นนะเพียงแต่อาจเลือกหุ้นไม่เก่ง หาจังหวะเข้าออกไม่ถูก"
Mr.Sandwich รีบออกตัวว่า ไม่ใช่ศิริวัฒน์เก่งนะ แต่ของแบบนี้มันต้อง “เก่งบวกเฮง” อาศัยประสบการณ์ในอดีตมาเป็นบทเรียนยังเคยโดนลูกค้าบ่นทำนอง "ด่า" ตอนปลายปี 2551 ผมขายหุ้น การบินไทย (THAI) 12 บาท ซื้อมา 9 บาท เพื่อนำเงินไปซื้อหุ้นเอสซี แอสเสท (SC) เพราะเห็นว่าตอนนั้นหุ้น SC ประกาศจ่ายเงินปันผล 0.70 บาทต่อหุ้น แต่หุ้น THAI ไม่จ่ายเงินปันผล หลังจากนั้น 2 ปี หุ้น THAI ทะยานไปแตะ 57 บาท ลูกค้าโทรมาบ่นว่า "คุณขายหุ้นตัวนั้นของผมทำไม! ถ้าเก็บไว้ป่านนี้รวยเละ..ผมคิดในใจว่าใครจะไปรู้เรื่องอนาคต ถ้ารู้ (กู) รวยไปแล้ว"
ลงทุนสไตล์..มิสเตอร์แซนด์วิช
หลัก การบริหารพอร์ตให้ลูกค้า Mr.Sandwich เล่าให้ฟังว่า ลูกค้าจะให้เงินมาก้อนหนึ่ง เพื่อให้นำไปบริหารอย่างอิสระโดยที่เขาจะไม่เข้ามายุ่งเกี่ยวหรือมากำหนดว่า ต้องได้กำไรหรือขาดทุนเท่าไร โดยจะพยายามทำกำไรให้ได้มากกว่าดอกเบี้ยเงินฝาก แล้วจะเชื่อใจกันได้อย่างไร..? คนที่จะเอาเงินมาให้บริหารต้องไว้ใจกัน "คนอย่างผม..ไม่โกงคุณหรอก"
ส่วน ใหญ่จะซื้อหุ้นให้ลูกค้า 5-10 ตัว แต่จะไม่แบ่งว่าตัวไหนถือสั้น-กลาง-ยาว ทุกอย่างขึ้นอยู่กับสถานการณ์ วิธีการเลือกหุ้นไม่ได้มีอะไรซับซ้อน "ผมชอบหุ้นที่มีราคาไม่สูงกว่ามูลค่าหุ้นทางบัญชี, มี P/E ต่ำ, จ่ายเงินปันผลเกินดอกเบี้ยเงินฝาก และผลประกอบการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง"
เมื่อ เลือกหุ้นได้แล้วก็จะมาดูจังหวะว่าจะเข้าซื้อตอนไหน ใช้เวลาดูหุ้นไม่นานบางตัวแค่วันเดียว และมักจะซื้อหุ้นเดือน "มีนาคม-เมษายน" เพราะเป็นช่วงที่บริษัทจดทะเบียนต่างๆ กำลังจะจ่ายเงินปันผล
“ขาด ทุนผมไม่รับ ขอรับแต่กำไร” เวลากำไรลูกค้าจะบอกว่าเอาเงินไปเล่นอีกก้อน แต่พอขาดทุนก็จะลดวงเงินทันที หรือหยุดเล่นไปเลย ทุกครั้งที่ขาดทุนส่วนใหญ่เกิดจากหลายปัจจัยอาจจะประเมินผิดพลาด พื้นฐานเปลี่ยน หรือดาวโจนส์ตกหนัก
"ถ้า วันไหนดาวโจนส์หล่น เมื่อตลาดหุ้นไทยเปิดตอนเช้า ผมจะดูท่าทีก่อนถ้าบวก 10-20 สตางค์ ก็จะไม่ขาย แต่ถ้าตรงกันข้ามจะปล่อยทันที...ผมเป็นนักลงทุนพื้นฐานไม่ถนัดเทคนิค ดูไม่เป็น ผมจะดูฝรั่งเป็นหลัก เพราะหุ้นจะขึ้นหรือลงให้เล็งที่ต่างชาติ"
ปีนี้ดัชนี 1,200 จุด คงไม่น่าถึง
ถามว่าช่วงนี้แนะนำนักลงทุนอย่างไร..? ศิริวัฒน์ กล่าวว่า ตอนนี้พอร์ตเป็น "ศูนย์" ไม่ได้บริหารให้ลูกค้ามา 6 เดือนแล้ว เพราะแนะนำลูกค้าไปว่าให้เอาเงินที่จะเล่นหุ้นไปฝากกินดอกเบี้ยแบงก์ 3 เดือน (ซื้อตั๋ว บี/อี) น่าจะได้ 2-3% ดีกว่าเอามาลงทุนในตลาดหุ้น เพราะเล่นหุ้นนาทีนี้ “โอกาสขาดทุนสูงมาก” ดัชนี 1,200 จุด คงไม่น่าถึงรอไปซื้อตอนดัชนี 800 จุดน่าจะดีกว่า
วันนี้ ทั้งโลกกำลังมีปัญหาสหรัฐอเมริการัฐบาลอาจเป็นหนี้มากกว่า 14.3 ล้านล้านเหรียญ ถือว่าเข้าข่ายอันตรายมาก แถม บารัก โอบามา ยังขอสภาคองเกรสขยายเพดานการกู้หนี้ขึ้นไปอีก เพราะเศรษฐกิจสหรัฐฯอาจลงเหวลึกกว่าเดิม หนี้ก็สูง คนว่างงานก็พุ่งกว่า 9% หรือ 15 ล้านคน นี่แหละตัวดึงเศรษฐกิจสหรัฐฯของแท้
ส่วน จีนอาจต้องหันมาบริโภคของภายในประเทศมากขึ้น เศรษฐกิจจีนอาจชะลอตัว ญี่ปุ่นก็เป็นหนี้สูงถึง 227% ของ GDP เศรษฐกิจในแถบยุโรปก็อาจกลายเป็น “โดมิโน” อัดฉีดเงินเข้าไปแล้วยังช่วยอะไรไม่ได้ สุดท้ายต้นทุนสูงขึ้น วันนี้ราคาน้ำมันพูดกันที่ระดับ 100 เหรียญต่อบาร์เรล ไม่ใช่หลักสิบเหมือนก่อน
แม้ เจ้าตัวจะมองตลาดหุ้นไม่ดีแต่ยังยืนยันที่จะอยู่เคียงข้างตลาดหุ้นเหมือน เดิม โดยยังไม่ทิ้งความฝันจะนำบริษัท (ทีจีไอเอฟ คอร์ปปอเรชั่น) เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ mai ภายใน 2 ปีข้างหน้า ตอนนี้กำลังสร้างผลประกอบการให้แข็งแรง
ศิริ วัฒน์เลี่ยงที่จะประกาศเป้าหมายตัวเลขยอดขายและกำไรในปี 2553 และปี 2554 ให้สาธารณะรับรู้ โดยบอกเพียงว่าตอนนี้สัดส่วนรายได้มาจากแซนด์วิช 50% กาแฟ-เครื่องดื่ม 25% ข้าวกล้องอบกรอบ 10% และอื่นๆ 5%
"ปัญหา กิจการของผมตอนนี้คือ ไม่มีคนขาย ส่วนผลิตภัณฑ์นิยมมากในกลุ่มคนสูงอายุ และเรากำลังขยายตลาดไปสู่วัยรุ่น อีกไม่นานเราจะได้เจอกันในตลาดหุ้น" เขากล่าว
ภารกิจ ตอนนี้กำลังเร่งสร้างแบรนด์ "ข้าวกล้องอบกรอบ" ให้ไปขายในร้านโมเดิร์นเทรดให้ได้ กำลังพูดคุยกับร้านเซเว่นอีเลฟเว่น และกำลังพัฒนาข้าวกล้องสาหร่ายเป็นเจ้าแรกของโลก แผนธุรกิจต่อไปเขาอยากพัฒนาสินค้าที่มุ่งเน้นสุขภาพโดยสร้างมูลค่าเพิ่มให้ กับสินค้าท้องถิ่นอย่างพวก OTOP 4-5 ดาว
"ตอน นี้ธนาคารก็อยากจะให้กู้แต่ผมไม่อยากเป็นหนี้อีกแล้ว (เข็ด) อยากจะสร้างธุรกิจให้มั่นคงเพื่อสืบทอดต่อถึงรุ่นลูกผม...วันนี้ผมต้องเจียม ตัวไว้ก่อนเพราะเคยโลภมาเยอะ ปรัชญาธุรกิจของผมคือต้องเดินไปอย่างมั่นคง ตอนเจ๊งครั้งแรกผมอายุ 40 กว่า (ตอนนี้ 60 กว่าแล้ว) ถ้าเจ๊งอีกทีไม่มีเวลาให้แก้ตัวอีกแล้ว"
วันนี้ พ่อค้าแซนด์วิชข้างถนนก้าวขึ้นเป็น "นักธุรกิจ" เต็มตัว Mr.Sandwich of Thailand ที่ดังไกลไปถึงต่างประเทศ เขาไม่ใช่ "เสือผอม" อีกแล้ว แต่กำลังจะกลายเป็น "เสี่ยศิริวัฒน์" เจ้าของหุ้นในตลาด mai ...ความฝันที่ใกล้แค่เอื้อม!
========================================================