ที่มา แนวหน้า
ในช่วงฤดูร้อนนอกจากภัยแล้งแล้ว ยังมักเกิดพายุฤดูร้อน ในช่วงเดือนมีนาคม - พฤษภาคม โดยสภาพอากาศในช่วงที่เกิดพายุฤดูร้อนจะแปรปรวนอย่างฉับพลัน เกิดพายุฝนฟ้าคะนอง ฝนตกหนัก ฟ้าผ่า ลมกระโชกแรง และอาจมีลูกเห็บตกในช่วงระยะเวลาสั้นๆ ในพื้นที่ไม่กว้างนัก แต่มักสร้างความเสียหายให้กับสิ่งปลูกสร้างและพืชผลทางการ เกษตรจำนวนมาก อีกทั้งยังมีข่าวคราวจากทั้งในประเทศ และต่างประเทศ พบว่า "มีผู้ถูกฟ้าผ่าเสียชีวิต" จึงเตือนให้ระมัดระวัง โดยความจริงปรากฏการณ์ฟ้าผ่าเป็นปรากฏการณ์ธรรมชาติสามารรถเกิดได้กับทุกคน
ดังนั้น เพื่อความปลอดภัยในฤดูแห่งสายฝน วันนี้ "สกู๊ปแนวหน้า" จึงรวบรวมคำแนะนำในการป้องกันตัวเองจากสายฟ้า และวิธีเตรียมรับมือพายุฤดูร้อน"ก่อนเกิดพายุ"ควรตรวจตราดูแลบ้านเรือน สิ่งปลูกสร้างให้อยู่ในสภาพมั่นคงแข็งแรง หากชำรุดให้ซ่อมแซมทันที กรณีตรวจพบกิ่งไม้ปกคลุมสายไฟฟ้า ต้นไม้ ป้ายโฆษณาใกล้ล้ม หรือติดตั้งไม่ได้มาตรฐานให้แจ้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมาดำ เนินการแก้ไข หมั่นติดตามรับฟังพยากรณ์อากาศ หากมีประกาศเตือนภัยให้จัดเก็บสิ่งของที่ปลิวได้ในที่มิดชิด ส่วนเกษตรกรควรจัดทำที่ค้ำยันต้นไม้ เพื่อป้องกันผลิตผลทางการเกษตรได้รับความเสียหาย
ขณะเกิดพายุ ควรหลบในอาคารบ้านเรือนที่มั่นคงแข็งแรง ปิดประตู - หน้าต่างให้สนิท เพื่อป้องกันแรงลมหอบพัดบ้านเรือน และสิ่งของปลิวเข้ามาในบ้าน จนได้รับความเสียหาย ห้ามหลบบริเวณใต้ต้นไม้ เสาไฟฟ้าหรือใกล้ป้ายโฆษณา เพราะเสี่ยงต่อการถูกล้มทับและถูกฟ้าผ่าได้ ที่สำคัญ ในช่วงที่เกิดพายุฝนฟ้าคะนองควรงดเว้น การประกอบกิจกรรมกลางแจ้ง อยู่ห่างจากวัตถุที่เป็นสื่อนำไฟฟ้าทุกชนิด ไม่สวมใส่เครื่องประดับ เช่น ทองคำ ทองแดง เงิน เป็นต้น งดเว้นการใช้อุปกรณ์ไฟฟ้า และโทรศัพท์มือถือชั่วคราว เพราะเสี่ยงต่อการถูกฟ้าผ่า ตลอดจนระมัดระวังอันตรายจากลูกเห็บที่อาจทำให้บาดเจ็บได้ หลังเกิดพายุ ควรตรวจดูจนแน่ใจว่าพายุสงบแล้ว จึงออกไปสำรวจความเสียหาย หากพบต้นไม้ใกล้ล้ม สายไฟฟ้าขาดหรือสายไฟฟ้าพาดเกี่ยวกับต้นไม้ ให้แจ้งเจ้าหน้าที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการแก้ไขทันที
5 วิธีป้องกันอันตรายจากฟ้าผ่า
1.อย่าเข้าไปในบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนอง
นายวิบูลย์ นาคสุข ผอ.ศูนย์ประชาสัมพันธ์ กรมอุตุนิยมวิทยา กล่าวว่า วิธีเลี่ยงอย่าเข้าไปในบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนอง แต่ถ้าเลี่ยงไม่ได้อย่าอยู่ใกล้ต้นไม้สูง และพยายามหลบเข้าอาคารหาที่กำบังที่เป็นลักษณะอาคาร แต่ถ้าติดอยู่ในที่โล่งแจ้งก็ให้ทำตัวเองให้เตี้ยที่สุด รวมถึงหลีกเลี่ยงการพกพาสื่อนำไฟฟ้าที่เป็นโลหะ พร้อมทั้งให้ข้อสังเกตว่า หากเห็นสายฟ้าแลบ ฟ้าผ่าในลักษณะตรงๆ หรือเอียงไม่เกิน 45 องศา แสดงว่าพายุกำลังเคลื่อนตัวมาหาเรา หากเลี่ยงได้ก็ควรเลี่ยง แต่ถ้าลักษณะฟ้าแลบ ฟ้าผ่าเอียงเกิน 45 องศา แสดงว่าพายุกำลังเคลื่อนตัวหนีจากตำแหน่งที่เราอยู่
2.อยู่ในอาคารที่มีสายล่อฟ้าปลอดภัยกว่าอาคารที่ไม่มีสายล่อฟ้า
ทางด้าน น.ส.อุมาภรณ์ เครือคำวัง นักวิชาการผู้ดูแลกิจกรรมด้านวิทยาศาสตร์ขององค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์ แห่งชาติ (อพวช.) กล่าวว่า วิธีป้องกันตัวเราจากฟ้าผ่าได้ดีที่สุดคือ การอยู่ในอาคารที่มีสายล่อฟ้าระหว่างเกิดฟ้าร้องฟ้าผ่า แต่การอยู่ในอาคารที่ไม่มีสายล่อฟ้าก็จะไม่ช่วยให้เกิดความปลอดภัยจากฟ้าผ่า ได้เลย ส่วนการขับรถหรืออยู่ในรถระหว่างมีฟ้าร้องฟ้าผ่านั้น เชื่อว่ามีโอกาสถูกฟ้าผ่าได้น้อย ซึ่งน่าจะเพราะเป็นรถยนต์มีโลหะที่เป็นตัวนำไฟฟ้าที่ไม่ดีนัก
โลหะทั้งหลายจะเป็นตัวนำไฟฟ้าที่ดี เช่น เงินและอลูมิเนียม หากเราสวมหรือถืออุปกรณ์โลหะเหล่านี้ ไม่ว่าจะเป็นจี้หรือสร้อยโลหะ แม้กระทั่งร่มที่มีปลายโลหะยอดแหลมในที่โล่งแจ้ง เช่น กลางทุ่งนา ในระหว่างที่เกิดฟ้าร้องฟ้าผ่าก็มีโอกาสเกิดฟ้าผ่าได้
3.ไม่ควรเปิดทีวี ระหว่างฟ้าร้องฟ้าผ่า
"น.ส.อุมาภรณ์" กล่าวอีกว่า ระหว่างเกิดฟ้าร้องฟ้าผ่าว่า"ไม่ควรเปิดโทรทัศน์โดยเด็ดขาด"เพราะอาจเกิดฟ้า ผ่ามาที่เสาอากาศนอกบ้านซึ่งเชื่อมต่อกับโทรทัศน์ หากเกิดฟ้าผ่า กระแสไฟฟ้าปริมาณสูงจะไหลเข้าที่โทรทัศน์มาก ทำให้เกิดกระแสไฟฟ้าลัดวงจร และได้รับความเสียหายได้ เว้นแต่โทรทัศน์ที่มีการต่อสายดิน อาจช่วยลดความเสี่ยงลงได้
ส่วนอุปกรณ์ไฟฟ้าอื่นๆ ในบ้าน อาทิ วิทยุ คอมพิวเตอร์ ก็ไม่น่าจะเกิดฟ้าผ่าได้ เพราะไม่มีเสาอากาศคอยรับประจุไฟฟ้าจากอากาศ เว้นแต่จะนำไปใช้กลางแจ้ง ส่วนอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์อย่างโทรศัพท์มือถือ หากพูดสายขณะที่มีฟ้าร้องฟ้าผ่าก็มีโอกาสที่จะถูกฟ้าผ่าได้เช่นกัน จึงจำเป็นต้องหลีกเลี่ยงงดใช้ในเวลาดังกล่าว
4.หากอยู่ที่โล่งให้นั่งยองๆ ขาชิดกัน
ขณะที่ ดร.คมสัน เพ็ชรรัตน์ หัวหน้าห้องจำลองฟ้าผ่า คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า กรณีที่อยู่กลางแจ้งและไม่สามารถหาที่ที่เหมาะสมกว่าได้ ก็ให้นั่งทำตัวอยู่ต่ำมากที่สุด คือ นั่งยองๆ ขาชิดกันที่พื้น แต่ห้ามนอน ซึ่งวิธีนี้ก็จะลดความเสี่ยงได้มาก เพราะจะช่วยลดค่าความต่างศักย์ ซึ่งจะทำให้เกิดอันตรายต่อร่างกายได้ โดยข้อห้ามหนึ่งระหว่างเกิดฟ้าร้องฟ้าผ่าคือ ห้ามอยู่ใต้ต้นไม้ใหญ่ เพราะฟ้ามักจะผ่าลงที่สูง การหลบอยู่ใต้ต้นไม้ใหญ่จึงไม่ปลอดภัย
ตามสถิติฟ้าผ่ารุนแรงที่สุดจะมีกระแสไฟฟ้ามากถึง 2 แสนแอมแปร์ หากคนโดนฟ้าผ่าก็จะตายสถานเดียว เพราะมีความร้อนจำนวนมากไหลผ่านเข้าสู่ร่างกายไปพร้อมๆกับกระแสไฟฟ้า ทำให้น้ำในเซลล์ระเหยออกมา และทำให้เซลล์แห้งตาย หากกระแสไฟฟ้าไหลเข้าหัวใจๆ เซลล์หัวใจก็จะไหม้ และหัวใจจะหยุดเต้น ส่วนในรายที่โชคดีจริงๆ ซึ่งรอดจากฟ้าผ่าได้ เนื่องมาจากกระแสไฟฟ้าไม่ได้ไหลเข้าสู่ร่างกาย หรือไหลเข้าสู่ร่างกายน้อย แต่กระแสไฟฟ้าส่วนมากจะไหลจากผิวหนังไปลงดิน ทำให้มีบาดแผลเป็นรอยไหม้ที่ผิวหนังเท่านั้น
ส่วนการใช้เครื่องใช้ไฟฟ้าระหว่างฝนตกฟ้าคะนอง "ดร.คมสัน" อธิบายว่า อุปกรณ์ที่ต้องเสียบปลั๊กไฟทุกชนิดมีโอกาสได้รับความเสียหายจากฟ้าผ่าทั้ง สิ้น แม้ว่าจะไม่ได้โดนฟ้าผ่าตรงๆ แต่ก็อาจมีแรงดันเกินเกิดขึ้นกับสายไฟฟ้าในบริเวณใกล้เคียงกับที่โดนฟ้าผ่า แล้วไหลเข้าสู่เครื่องใช้ไฟฟ้าทำให้เกิดความเสียหายในที่สุด สำหรับในกรณีของโทรศัพท์เคลื่อนที่นั้น เชื่อว่าไม่น่าจะได้รับอันตรายจากฟ้าผ่าแต่อย่างใด ไม่ว่าจะอยู่ในระหว่างการใช้งานหรือไม่ก็ตาม
5.เก็บ "มือถือ" สื่อล่อฟ้า
ทางด้าน นายสรรเสริญ ทรงเผ่า วิศวกรฝ่ายวิจัยและพัฒนา บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) เจ้าของผลงาน"ระบบป้องกันฟ้าผ่า"รางวัลชมเชยผลงานประดิษฐ์คิดค้นปี2548 สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กล่าวว่า อย่าอยู่ในที่โล่งแจ้ง เช่น สนามกอล์ฟ ให้รีบกลับเข้าอาคาร ซึ่งการอยู่ในรถยนต์หรืออาคารจะปลอดภัยที่สุด โดยเฉพาะอาคารที่มีระบบป้องกันฟ้าผ่า และไม่ควรพกพาวัสดุวัสดุที่เป็นโลหะ เนื่องจากจะมีโอกาสถูกฟ้าผ่าได้มาก ส่วนโทรศัพท์มือถือเป็นสื่อล่อฟ้า เนื่องจากมีแผ่นโลหะ สายอากาศ และแบตเตอรี่ ซึ่งเป็นส่วนผสมของโลหะ
นอกจากนี้ร่มกันฝนที่เราใช้กันนั้นมีแกนกลางที่เป็นโลหะซึ่งเป็นตัวล่อฟ้า ได้ แต่โอกาสมีที่ฟ้าจะผ่าน้อยมาก ส่วนใหญ่เราจะกางร่มกันฝนในช่วงที่ฝนตกหนักซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ฟ้าผ่าน้อยลง แต่ฟ้าจะผ่าหนักในช่วงก่อนเกิดฝน ขณะเกิดฟ้าผ่าใต้ต้นไม้ใหญ่จะมีแรงดันที่พื้นดิน ทำให้คนที่อยู่ใต้ต้นไม้ได้รับอันตรายเนื่องจากกระแสไฟฟ้าจะวิ่งผ่านขาข้าง หนึ่งไปยังขาอีกข้างหนึ่ง ทำให้เกิดอาการ "ช็อก" เนื่องจาก "แรงดันระยะก้าว" ซึ่งเกิดจากการไหลของแรงดันในดิน ทำให้เกิดความต่างศักย์ในร่างกายและเป็นแรงดันที่ทำให้หัวใจหยุดเต้น ทั้งนี้ขณะเกิดฟ้าผ่าคนเราจะได้รับอันตรายจาก 3 ปฏิกิริยาคือ ปฏิกิริยาเชิงกลซึ่งทำให้เรากระเด็น ปฏิกิริยาทางความร้อนซึ่งทำให้ผิวหนังไหม้ และปฏิกิริยาไฟฟ้าซึ่งทำให้หัวใจหยุดเต้น
ฟ้าผ่านั้นเกิดจากความพยายามลดความต่างศักย์ระหว่างก้อนเมฆกับพื้นดิน เนื่องจากก้อนเมฆได้สะสมประจุไว้ในลักษณะไฟฟ้าสถิต จนมีน้ำหนักมากขึ้นจะเคลื่อนตัวลงเข้าใกล้พื้นดินทำให้เกิดความต่างศักย์ ขึ้น โดยสนามไฟฟ้าสถิตที่กระทำระหว่างก้อนเมฆและพื้นดินจะเพิ่มขึ้น ปรากฏการณ์ฟ้าผ่าจะเกิดในช่วงเปลี่ยนฤดู จากการเปลี่ยนแปลงระหว่างอากาศแห้งกับอากาศชื้น ทั้งจากฤดูร้อนไปฤดูฝน และจากฤดูฝนไปฤดูหนาว
แม้ไม่สามารถหลีกเลี่ยงการเผชิญกับพายุฤดูร้อนได้ แต่การเตรียมรับมือไว้ล่วงหน้าจะช่วยลดความสูญเสียที่อาจเกิดขึ้นได้
========================================================