ธนินท์ เจียรวนนท์ - ทำไมซีพีจึงประสบความสำเร็จ
Posted on Thursday, September 02, 2010
จากคำถามดังกล่าว เจ้าสัวธนินท์เฉลยว่า เครือเจริญโภคภัณฑ์ใช้ 3 นโยบายในการดำเนินธุรกิจ นั่นคือ ต้องเป็นประโยชน์ต่อประเทศ ต้องเป็นประโยชน์ต่อประชาชน และต้องเป็นประโยชน์ต่อบริษัท “ไม่ว่าจะไปลงทุนในประเทศไหนก็ตาม โดยเฉพาะในไทย ต้องมี 3 ประโยชน์นี้ ขาดอย่างใดอย่างหนึ่ง ซีพีอยู่ไม่ได้” ธนินท์เล่า
เขาอธิบายต่อว่า ถ้าหากดำเนินธุรกิจแล้วไม่เกิดประโยชน์ต่อประเทศ รัฐบาลก็ไม่สนับสนุน ถ้าไม่เกิดประโยชน์ต่อประชาชน ประชาชนก็ไม่ซื้อสินค้าซีพี “ซีพีไม่มีอำนาจที่จะไปบอกว่าคุณต้องมาซื้อไข่ เนื้อหมูของพวกเราไปทาน ถ้าขายของแพงแล้วคนไม่มีกำลังซื้อ ซีพีก็ไม่รู้จะไปขายให้ใคร พวกเราไม่ชอบขายของแพง แต่ขายของถูก ซีพีชอบ เพราะขายง่าย”
อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาซีพีใช้กลยุทธ์เดินสายกลาง ไม่ขายสินค้าแพงหรือถูกจนเกินไป “ถ้าขายของถูก เกษตรกรอยู่ไม่ได้ ถ้าขายแพงไป ผู้บริโภคก็ไม่ซื้อ ดังนั้นซีพีไปลงทุนที่ไหนจะต้องเป็นประโยชน์ต่อประชาชน และถ้าบริษัทไม่มีรายได้ ไม่กำไร บริษัทจะไปจ้างไปพัฒนาคนเก่งหรือวิจัยค้นคว้าได้อย่างไร และถ้าบริษัทนั้นไม่มีกำไร รัฐบาลก็ไม่มีภาษี เพราะพวกเราต้องเสียภาษีรายได้” ธนินท์กล่าว
นอกจากนี้ ที่ผ่านมาเจ้าสัวธนินท์มักจะพูดกับพนักงานซีพีเสมอว่า ซีพีจะมองหาคนเก่งๆ แล้วนำเข้ามาบริหารงานองค์กร “อย่าไปจำกัดตัวเองว่าต้องใช้คนในครอบครัว แต่เราไปเชิญคนเก่งเข้ามาบริหาร เราถึงจะเก่งจริง เราต้องมองทั่วโลก เพราะธุรกิจซีพีไปทั่วโลก ดังนั้นตลาดของทั่วโลกเป็นของซีพี เราต้องตั้งโจทย์นี้ไว้ แล้วทำให้พนักงานทุกคนเห็นเป้าหมาย มีเป้าหมาย และวัตถุดิบทั่วโลกเป็นของซีพี แต่ถ้ามาจำกัดว่าวัตถุดิบต้องมาจากในประเทศ ก็ต้องถามว่ามีวัตถุดิบเพียงพอที่จะผลิตแล้วไปขายทั่วโลก ดังนั้น ถ้าซีพีจะขายของทั่วโลก ก็ต้องใช้วัตถุดิบทั้งโลก โดยกลยุทธ์ ก็คือ วัตถุดิบที่ไหนถูกก็ใช้ที่นั่น ที่ไหนดีก็ไปซื้อที่นั่น” ธนินท์อธิบาย
ความลับอีกอย่างที่ธนินท์เฉลยออกมาที่ทำให้ซีพีประสบความสำเร็จ นั่นคือ ทำอะไรที่คนอื่นยังไม่ได้ทำ “ดังนั้นข้อมูลจึงเป็นเรื่องสำคัญ ต้องรู้ก่อน เข้าใจก่อน ศึกษาก่อน แล้วก็ทำก่อน เช่น ธุรกิจปูนซีเมนต์ ผมมีเงินแต่จะไม่ทำ เพราะเสียเวลา เสียคนเก่ง ตรงกันข้ามผมเอาคนเก่งไปทำธุรกิจที่ยังไม่มีใครทำแล้วมีอนาคต ไม่มีคู่แข่ง”
ที่ผ่านมาในสายตาคนไทย อาจจะนึกว่าซีพีเก่งไปหมดทุกอย่าง แต่ความจริงแล้วพวกเขาเพียงแต่ฉลาดเลือกทำในธุรกิจที่ยังไม่มีคู่แข่ง อย่างเช่น ช่วงที่ซีพี ทำร้านสะดวกซื้อ 7/11 ซึ่งตอนนั้นยังไม่มีใครทำ ดังนั้นพวกเขาไร้คู่แข่ง
“ถ้าเปรียบกับการชกมวย พวกเราต่อยอย่างไรก็ชนะ ต่อให้สะดุดขาตัวเองสลบไป ตื่นขึ้นมาใหม่ ก็ยังชนะ เพราะไม่มีคู่ชก ดังนั้นพวกเราจะหลีกเลี่ยงคู่แข่งที่เข้มแข็งกว่า และถ้าตลาดไหนมีการแข่งขันอยู่แล้ว ก็ไม่เข้าไป ผมเคยคิดจะทำธุรกิจเบียร์ แต่มีคุณเจริญ สิริวัฒนภักดี ที่เก่งและผมนับถือมาก ถ้าผมเข้าไปทำแล้วเกิดชนะคุณเจริญ ไม่ใช่แค่คุณเจริญเท่านั้นที่ต้องบอบช้ำ ผมก็ต้องบอบช้ำด้วย ดังนั้นซีพีเลือกทำธุรกิจ ไม่ใช่อยากจะทำอะไรก็ทำ” ธนินท์เล่า
ข้อสำเร็จอีกอย่างหนึ่งที่เจ้าสัวธนินท์บอก นั่นคือ ถ้าหากไปลงทุนในประเทศที่ด้อยพัฒนาหรือกำลังพัฒนา ซีพีจะไม่ใช้เทคโนโลยีแบบล้าสมัย แต่ต้องทำให้เทียบเท่าหรือเหนือกว่า “พวกเรามาทีหลังต้องมีเทคโนโลยีสูงกว่า อย่างเช่น ระบบโทรศัพท์ เป็นเรื่องเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงเร็ว พวกเราต้องเร็วกว่า หรือนำสมัยกว่า”
หรือแม้แต่เรื่องการเกษตร เจ้าสัวธนินท์บอกว่ามีคนเข้าใจผิดว่าการเกษตรไม่ต้องใช้เทคโนโลยี แต่ความจริงยิ่งเกษตรกรมีความรู้น้อย ยิ่งจำเป็นต้องใช้เทคโนโลยีสูง “เมื่อ 40 ปีก่อน ผมส่งเสริมเลี้ยงไก่ 10,000 ตัว เกษตรกรไม่เคยเลี้ยงไก่ แต่พอเอาไก่ไปให้เลี้ยง พวกเขาเลี้ยงได้ ผมถามว่าเหนื่อยหรือไม่ พวกเขาบอกว่าเลี้ยงติดต่อกัน 16 ชั่วโมงยังไม่เหนื่อยเลย เพราะว่าเลี้ยงไก่ในร่ม ผมมีพัดลมให้ด้วย ทำให้เกษตรกรทำงานได้นานและไม่เหนื่อย เหมือนกับกล้องถ่ายรูป ผู้ผลิตผลิตด้วยเทคโนโลยี คนใช้กดอย่างเดียว ภาพออกมาอย่างกับช่างภาพที่เชี่ยวชาญ”
ดังนั้น เพื่อให้เกษตรกรประสบความสำเร็จก็ต้องใส่เทคโนโลยีเข้าไป “เกษตรกรไทยทุกวันนี้ 1 คนสามารถเลี้ยงไก่ไข่ได้ 150,000 ตัว ซึ่งเรื่องนี้เป็นที่ตกใจของเมืองจีน จนมีคำถามตามมาว่าถ้าคนหนึ่งเลี้ยงไก่ไข่ได้มากขนาดนั้น เกษตรกรที่เหลือต้องตกงานแน่นอน ผมตอบว่าถ้าทำได้อย่างนี้จะมีเกษตรกรเพิ่มขึ้นอีก 2 เท่ากว่าๆ เพราะซีพีไม่ได้ส่งคนไปดูแลไก่ทุกคน แต่ส่งเข้าโรงงาน ส่งคนไปขับรถ ส่งคนไปขายไก่ย่าง 5 ดาว ดังนั้นต้นทุนจากการเลี้ยงไก่ต่ำ ก็จะทำให้อุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องไปได้ และฉุดกันขึ้นมา เมื่ออุตสาหกรรมเกษตรดีก็จะไปฉุดอุตสาหกรรมอื่นๆ ตามขึ้นมา ดังนั้นคนที่เหลือที่มาเป็นคนงานและพนักงาน ย่อมจะมีรายได้สูงกว่าเกษตรกร” ธนินท์กล่าว
อีกเรื่องหนึ่งที่ทำให้ซีพีประสบความสำเร็จ คือ จะไม่นำลูกหลานเข้ามาทำงานในธุรกิจที่ประสบความสำเร็จแล้ว “ลูกหลานซีพีมีไม่มากมายอะไร แต่ผมก็มีนโยบายนี้ เพราะธุรกิจที่สำเร็จแล้ว แปลว่าทุกขั้นตอนมีคนเก่ง ธุรกิจนี้จึงจะสำเร็จ ถ้านำลูกหลานเข้ามาแซงคิว ผมว่ามีแต่เสียกับเสีย และถ้าลูกหลานเราเก่ง คนก็ไม่รู้ว่าเขาเก่ง เพราะทุกอย่างดีอยู่แล้ว มองไม่ชัด แล้วจะทำให้คนเก่งๆ ลาออก ไม่เห็นอนาคต เพราะคิดว่าเป็นบริษัทครอบครัว”
กลยุทธ์ของธนินท์คือ นำเอาลูกหลานไปทำธุรกิจใหม่ๆ ด้วยการให้วงเงินเพื่อไปทำธุรกิจที่มีอนาคต ซึ่งเป็นการแสดงความสามารถ ถ้าทำได้ไม่ดีก็ปิดกิจการ และไม่กระทบกับบริษัทแม่ แต่ถ้าบริหารแล้วรุ่งเรือง ซีพีก็ได้ธุรกิจเพิ่มขึ้นอีกหนึ่งธุรกิจ
“ถ้านำลูกหลานที่เก่งๆ มาบริหารธุรกิจที่เก่งแล้ว ก็ยังคงมีเพียงหนึ่งธุรกิจ ไม่ได้เพิ่มธุรกิจใหม่ขึ้น แถมทำให้มีปัญหาอีก ถ้าลูกหลานเก่งจริง ก็ควรจะทำให้เป็น 1+1 = 2 ไม่ใช่ 1+1 = 1 และเป็นเกียรติแก่ตัวพวกเขาด้วย”
จากกลยุทธ์ไม่นำลูกหลานตัวเองเข้ามาทำงานในธุรกิจที่แข็งแกร่งแล้ว ผลลัพธ์ ก็คือ ซีพีสามารถรักษาผู้บริหารมืออาชีพเก่งๆ เอาไว้ได้ อีกทั้งทำให้ผู้บริหารเหล่านี้มองเห็นอนาคตของตัวเอง ด้วยการขยายธุรกิจออกไปอย่างต่อเนื่อง
“บางทีคนจะไม่เข้าใจผม ถามผมว่าคุณธนินท์ทำไมขยายธุรกิจไม่หยุดเลย ผมบอกว่าถ้าเป็นนักธุรกิจต้องไม่คิดถึงเฉพาะบริษัทนี้เท่านั้น แต่ต้องคิดถึงพนักงาน ต้องคิดถึงผู้บริหารว่าทำอย่างไรให้คนเก่งๆอยู่ต่อ ดังนั้นถ้าจะให้อยู่ต่อ ก็ต้องให้งาน ต้องให้อนาคตพวกเขาเห็นชัด ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญมาก ผมจึงต้องพัฒนาและขยายธุรกิจอย่างต่อเนื่อง” เจ้าสัวธนินท์ทิ้งท้าย
จากคอลัมน์ Inside CEO โดย ฐิติเมธ โภคชัย นิตยสาร M&W กันยายน 2553
========================================================