อุบัติเหตุแท้ๆ นำมาซึ่งการค้นพบ "กระจกนิรภัย" เรื่องมีอยู่ว่า วันหนึ่งในปี ค.ศ.1903 นักเคมีชาวฝรั่งเศสชื่อว่า นายเฮ็ดวาร์ด เบเนดิกตัส (Edouard Benedictus) ขณะอยู่ในห้องทดลอง ได้ชนเอาขวดแก้วทดลองตกลงพื้น ขวดแก้วแตก แต่ชินส่วนของขวดแก้วกลับไม่แตกกระจายจากกัน หากแต่เกาะตัวติดกันอยู่ ด้วยความเป็นคนช่างสังเกต เบเนดิกตัสแปลกใจในสิ่งที่เห็นตรงหน้า เขาจึงสืบค้นทันที จึงรู้ว่าขวดแก้วนี้ก่อนตกแตกนั้น ได้บรรจุสารละลายของพลาสติกเหลว ซึ่งสารนี้ได้ระเหยไปในอากาศช้าๆ คงทิ้งพลาสติกเคลือบแก้วเอาไว้ เอ็ดวาร์ดตื่นเต้นกับการค้นพบโดยบังเอิญนี้มาก เขาได้นำความคิดนี้ไปเสนอให้บริษัททำรถยนต์แห่งหนึ่ง ให้สร้างกระจกหน้าของรถเป็นกระจกเคลือบพลาสติก เพื่อช่วยป้องกันคนขับจากกระจกหน้าแตกเมื่อเกิดอุบัติเหตุ แต่บริษัทรถยนต์แห่งนั้นไม่สนใจ เพราะคิดว่าอุบัติเหตุเป็นเรื่องของคนขับรถไม่ใช่เรื่องของบริษัท อีกอย่างทางบริษัทก็ไม่ต้องการเพิ่มค่าใช้จ่ายในการลงทุน ต่อมาในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1 กองทัพสหรัฐอเมริกาได้นำสารเคลือบพลาสติกมาเคลือบที่หน้ากากทหารเพื่อป้องกันหน้ากากแตกเป็นเสี่ยง นั่นแหละบริษัทรถยนต์แห่งนั้นจึงได้ตระหนักถึงความผิดพลาดครั้งยิ่งใหญ่ ที่ไม่เอาใจใส่ต่อข้อเสนอของเบเนดิกตัส ทำให้กระจกนิรภัยสำหรับรถได้เริ่มผลิตขึ้นเมื่อปี ค.ศ.1918 หลังสงครามโลกครั้งที่ 1 สิ้นสุดลง ขอขอบคุณข้อมูลจาก : http://kungsss.exteen.com |
========================================================