วิศวกรรม คืออะไร
วิศวกรรม คืออะไร
คำว่า วิศวกรรม ที่เราใช้กันอยู่ทั่วไปในภาษาไทยนั้น เราแปลมาจากคำว่า ”Engineering” ในภาษาอังกฤษ ซึ่งอ่านว่า เอ็น-จิ-เนีย-ริ่ง ซึ่งหนังสือ Encyclopaedia Americana ได้ให้คำจำกัดความไว้ว่า “Engineering” เป็นอาชีพที่เกี่ยวข้องโดยชัดเจนกับวิทยาศาสตร์ของการวางแผนการออกแบบการสร้าง และการใช้งานอย่างถูกหลักเศรษฐศาสตร์ของสิ่งก่อสร้างหรือเครื่องจักร คำว่า Engineering นี้แปลมาจากภาษาลาตินว่า “engenium” ซึ่งแผลงว่าความสามารถตามธรรมชาติ (หรือความเป็นอัจฉริยะที่ติดตัวมาโดยกำเนิด) หรือการคิดประดิษฐ์สิ่งใหม่ๆ คำว่า ingenium นี้แผลงมาจากศัพท์เดิมว่า “eignere” หรือ “genere” ซึ่งแปลว่า ผลิต ประดิษฐ์ สร้าง หรือทำให้เกิดขึ้น
Engineering Council for Professional Development แห่งสหรัฐอเมริกา ได้ให้ความหมายของ engineering ไว้ดังนี้คือ “การสร้างสรรค์โดยการนำเอาหลักวิทยาศาสตร์มาใช้ออกแบบ และพัฒนาสิ่งก่อสร้าง เครื่องจักร อุปกรณ์ หรือกระบวนการผลิต หรือกิจกรรมใดๆ ซึ่งใช้สิ่งต่างๆ เหล่านี้อย่างเดียวกันหรือหลายอย่างรวมกัน หรือการก่อสร้างและการใช้งานสิ่งเหล่านี้ให้ประโยชน์ให้เต็มที่ หรือการพยากรณ์การทำงานของสิ่งเหล่านี้ภายใต้สภาวะของการใช้งาน ซึ่งทั้งหมดนี้ก็เพื่อให้สิ่งต่างๆดังกล่าวมาแล้วทำงานตามหน้าที่ที่ออกแบบมาให้ทำ ให้เป็นการคุ้มค่าทางเศรษฐศาสตร์และปลอดภัยต่อชีวิตและทรัพย์สิน” อนึ่ง มีผู้ใจเข้าคลาดเคลื่อนกันมากว่า วิศวกร (Engineer) คือ คนที่ทำงานคุมเครื่องจักร (engine = เครื่องจักร) ซึ่งเดิมทีแล้ว คำว่า engineer เป็นคำดั้งเดิมซึ่งสะกดกันต่างๆ นานา เช่น ingenor บ้าง ingeneu บ้าง enginor บ้าง ฯลฯ ซึ่งไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับคำว่า engine แต่อย่างไร วิศวกรที่ทำหน้าที่ควบคุมเครื่องจักรนั้นมีน้อยมาก เมื่อเทียบกับวิศวกรที่หางานอื่นๆ กล่าวโดยสรุป วิศวกรรม คือ งานสร้างสรรค์สิ่งต่างๆ ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อสังคมโดยอาศัยพื้นความรู้ทางวิทยาศาสตร์และเศรษศาสตร์มาช่วยในการสร้างสรรค์
ประวัติของอาชีพวิศวกรรม
เป็นที่ยอมรับกันโดยทั่วไปว่าอาชีพวิศวกรรมในสมัยเริ่มแรกนั้นเกี่ยวข้องอย่างใกล้ชิดกับการทหาร กล่าวคือ เป็นงานในลักษณะของการสร้างอาวุธส่งคราม เช่น เครื่องยิงก้อนหิน ปืนใหญ่ เครื่องกระทุ้งประตูเมือง การก่อสร้างกำแพง ป้อมยาม คูเมือง เหล่านี้เป็นต้น ดังนั้นวิศวกรรุ่นแรกคือ วิศวกรการทหาร (Military Engineer) วิศวกรพวกนี้ส่วนใหญ่จะเป็นทหารซึ่งจะต้องเข้าร่วมรบในสงคราม แต่หน้าที่พิเศษแตกต่างจากทหารอื่นๆ คือต้องทำการสร้างสรรค์สิ่งต่างๆ ดังกล่าวมาแล้ว
ต่อมาถึงสมัยที่อำนาจของเจ้าผู้ครองนครและอาณาจักรต่างๆ ถึงจุดเสื่อม การพาณิชยกรรมได้เจริญรุ่งเรืองขึ้นแทนการรบขยายอาณาเขต ประมาณ ปี ค.ศ. 1750 คือ ประมาณสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย จึงเกิดมีวิศวกรพลเรือน (Civil Engineer) ซึ่งทำงานต่างๆ ที่ไม่เกี่ยวข้องกับการทหารโดยตรง เช่น การสร้างถนน ขุดคลอง เป็นต้น และวิศวกรเหล่านี้ได้รวมตัวกันจัดตั้งเป็นสถาบัน Institute of Civil Engineer (London) ขึ้นในปี ค.ศ. 1828
ยิ่งวงการพาณิชยกรรมและอุตสาหกรรมเจริญรุ่งเรืองยิ่งขึ้นเท่าไร ความจำเป็นที่จะต้องจำแนกสาขาเฉพาะของวิศวกรยิ่งมีมากขึ้นเท่านั้น เมื่อการใช้เครื่องจักร เครื่องกลมีมากขึ้น วิศวกรพลเรือนที่ทำงานเกี่ยวข้องกับเครื่องจักรกลก็มากขึ้นไปด้วย วิศวกรพลเรือน จำนวนหนึ่งจึงแยกตนเองออกมาตั้งเป็นสาขาใหม่ คือ วิศวกรรมเครื่องกล (Mechanical Engineering) วิศวกรเครื่องกลจะทำงานเกี่ยวกับเครื่องจักรกำเนิดพลัง (engine) เครื่องจักรแปรรูปวัสดุ และผลิตสินค้า โรงงานขนาดใหญ่และอุปกรณ์ขนย้ายวัสดุ (material handling equipment) และความหมายของ วิศวกรรมพลเรือนแต่เดิม (Civil Engineering) นั้นก็เปลี่ยนมาหมายความถึงวิศวกรรมโยธา ซึ่งเกี่ยวข้องกับการก่อสร้างอาคาร ถนน คลอง ฯลฯ และยังคงใช้คำว่า Civil เหมือนเดิม
ในสมัยต่อมาเมื่อพลังงานไฟฟ้าเป็นที่รู้จักกันแพร่หลาย วิศวกรเครื่องกลบางกลุ่มที่ ทำงานเกี่ยวกับเครื่องจักรกำเนิดไฟฟ้าและระบบการจ่ายกระแสไฟฟ้าก็แยกสาขาออกเป็นวิศวกรรมไฟฟ้า (Electrical Engineering) เพิ่มขึ้นมาอีกสาขาหนึ่ง
จากสาขาหลักใหญ่ๆ 3 สาขาของวิศวกรรมศาสตร์ คือ วิศวกรรมโยธา วิศวกรรมเครื่องกล และวิศวกรรมไฟฟ้า สาขาย่อยอื่นๆ ของวิศวกรรมศาสตร์ก็เจริญเติบโตขึ้นมาอีกมากมาย เช่น วิศวกรรมอุตสาหการ (Industrial Engineering) วิศวกรรมเคมี (Chemical Engineering) วิศวกรรมเหมืองแร่และโลหะวิทยา (Mining and Metallurgical Engineering) วิศวกรรมการเดินอากาศ (Aeronautical Engineering) วิศวกรรมการเกษตร (Agricultural Engineering) วิศวกรรมเครื่องกลเรือ (Marine Engineering) วิศวกรรมอิเลคทรอนิค (Electronic Engineering) วิศวกรรมนิวเคลียร์ (Unclear Engineering) และยังมีสาขาอื่นๆ อีกมากมายไม่สามารถนำมาระบุให้ครบถ้วนในที่นี้ได้
|