วันนี้ (21 เมษายน) นายประสิทธิชัย หนูนวล ผู้ประสานงานเครือข่ายปกป้องอันดามันจากถ่านหิน นักเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อมและพลังงาน โพสต์ข้อความทางเฟซบุ๊กส่วนตัว กรณีการจ่อขึ้นค่าไฟ ระบุว่า “ว่าด้วยการขึ้นค่าเอฟที …แค่ 10 สตางค์ได้เงิน 2 หมื่นล้าน” มีรายละเอียดดังนี้
หากมีการเรียกเก็บค่าเอฟทีเกินจริงไปเพียง 1 สตางค์ต่อหน่วย เมื่อรวมกันแล้วก็มีมูลค่าทั้งปีประมาณ 2 พันล้านบาท ถ้าเกินไปสัก 10 สตางค์ก็เป็นเงินถึง 2 หมื่นล้านบาท
การคำนวนค่าเอฟที เกิดจากความเปลี่ยนแปลงที่กำหนดไว้เดิมของ3 ปัจจัย คือ ค่าเชื้อเพลิง ค่าซื้อไฟฟ้าจากเอกชน และ นโยบายรัฐ การเก็บค่าเอฟทีเป็นการคำนวนล่วงหน้าโดยจะมีการปรับเปลี่ยนปีละ๓ครั้ง หากเก็บผิดพลาดไปจะมีการปรับเปลี่ยนในงวดถัดไป
ปัจจัยที่มีผลต่อค่าเอฟทีทั้ง 3 ปัจจัย พบว่าค่าซื้อไฟฟ้าจากเอกชนของ กฟผ.เป็นปัจจัยที่มีส่วนร่วมมากที่สุด เช่น ในช่วงแรกของปี 2558 ปัจจัยนี้มีส่วนร่วมถึง 67% ในขณะที่ปัจจัยจากนโยบายของรัฐมีส่วนร่วมน้อยที่สุดแค่ 5% เท่านั้น ที่เหลืออีก 28% เป็นค่าเชื้อเพลิงของ กฟผ. ในส่วนที่ กฟผ. ผลิต (ข้อมูลจาก กกพ.)
มีข้อสังเกตุจาก ผศ.ประสาท มีแต้ม นักวิชาการพลังงาน เกี่ยวกับการคิดค่าเอฟทีเกินจริงที่ต้องอ่านดังนี้
(1) คิดจากการเปลี่ยนแปลงของราคาไฟฟ้าที่ทาง กฟผ.ซื้อจากเอกชน ซึ่งมีสัดส่วนปริมาณไฟฟ้า 66% ของที่ผลิตทั้งประเทศ พบว่า ในช่วงที่สองของปี 2555 ค่าไฟฟ้าของเอกชนเพิ่มขึ้นเพียง 0.16 บาทต่อหน่วยเท่านั้น แต่ค่าเอฟทีขึ้นไปถึง 0.30 บาทต่อหน่วย
(2) คิดจากการเปลี่ยนแปลงของราคาเชื้อเพลิงหลัก 3 ชนิด (ซึ่งมีส่วนถึง 89%) พบว่าในช่วงที่สองของปี ค่าเอฟทีควรจะเท่ากับ 0.056 บาทต่อหน่วย แต่ค่าเอฟทีขึ้นไป 0.30 บาทต่อหน่วย
จะเห็นว่าทั้งสองทางมีผลลัพธ์ไปในทำนองเดียวกัน คือ ค่าเอฟทีสูงเกินกว่าที่ควรจะเป็น
สำหรับค่าเอฟทีที่เกินไปในช่วง 8 เดือนสุดท้ายของปี 2555 จากการคำนวณผมพบว่าได้มีการเรียกเก็บเกินกว่าที่ควรจะเป็นไป 0.33 บาทต่อหน่วย คิดเป็นมูลค่าถึง38,270 ล้านบาทเงินจำนวนนี้ทั้งหมดเป็นของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย
ต้องขอย้ำว่า
1.ประชาชนชาวไทยต้องเสียค่าไฟฟ้าปีละ6แสนล้านบาทนะครับ
2.ขึ้นค่าเอฟทีแค่1สตางค์จึงมีความหมายเท่ากับ 2พันล้านต่อปี 3.ถ้า10สตางค์ก็2 หมื่นล้านบาท
มันมากพอสำหรับจะทำอะไรๆนะครับ
Cr: http://www.matichon.co.th/news/536351