A Thai telephone engineer installing a cable on a telegraph pole in a street in Bangkok. (Photo by: Loop Images/UIG via Getty Images)
“ไม่ว่าเราจะทุกข์เศร้าน้ำตานองเพียงใด แต่ประเทศไทยอันเป็นที่รักของพวกเราและของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯในพระบรมโกศต้องดำรงต่อไป อย่าให้การเสด็จสวรรคตครั้งนี้ ทำให้พระราชปณิธาน ที่จะเห็นราชอาณาจักรของพระองค์ มีความเจริญรุ่งเรือง พสกนิกรมีความผาสุกสวัสดี มีเมตตาและไมตรีต่อกัน ต้องหยุดชะงักลง” ถ้อยแถลงของ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯและหัวหน้า คสช.ในแถลงการณ์ที่มีต่อประชาชนคนไทยเมื่อค่ำวันที่ 13 ตุลาคม 2559
“เนตรทิพย์” เห็นด้วยอย่างยิ่งกับถ้อยแถลงของนายกฯที่เตือนสติพี่น้องประชาชนคนไทยเราข้างต้นครับ แม้เราจะโศกเศร้าต่อการสวรรคตของ“ในหลวง”ผู้เป็นที่รักและเทิดทูลยิ่งของปวงชนชาวไทยเราอย่างไร แต่ประเทศจะต้องก้าวเดินต่อไป และการสืบสานปณิธานพ่อหลวงคือ การแสดงความจงรักภักดีที่ดีที่สุดในยามนี้ครับ!
เช่นเดียวกับเรื่องของนโยบายของ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำเอาสายไฟฟ้าและสายสื่อสารโทรคมนาคมทั้งหลายลงใต้ดินภายใน 5 ปี เพื่อปรับทัศนียภาพโดยรวมของท้องถนนให้สวยงาม หลังจากที่ก่อนหน้า นายบิลล์เกตส์ “เจ้าพ่อไมโครซอฟต์”ได้โพสต์ภาพลงบนเฟซบุ๊คสัพยอกเมืองไทยอย่างแสบสันว่า มีระบบการจัดการสายไฟฟ้าที่ยังไม่ดีพอนั้น
ที่ต้องหยิบยกเรื่องนี้ขึ้นมากล่าวถึง เพราะไม่แน่ใจว่าจะเป็นหนทางแก้ไขปัญหาที่ตรงจุดและสอดคล้องกับความพอเพียงที่ทุกฝ่ายเพรียกหาหรือไม่?
นัยว่าในส่วนของการไฟฟ้านครหลวง(กฟน.) ได้ดำเนินโครงการเปลี่ยนระบบสายไฟฟ้าอากาศเป็นสายไฟฟ้าใต้ดินใน 39 เส้นทางระยะทางรวม 127.3 กิโลเมตรวงเงินลงทุน 48,717 ล้านบาทไปแล้ว ประกอบด้วยพื้นที่ นนทบุรี พระราม 9 กาญจนาภิเษก-อโศก รัชดาภิเษก-พระราม 9 และดำเนินการในพื้นที่นำร่องไปเสร็จสิ้นแล้วหลายสาย
ขณะที่บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน)ได้แถลงข่าวล่าสุดเตรียมจัดตั้งกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานท่อร้อยสาย หรือ Infrastructure Fund เพื่อระดมทุน 10,000 ล้านบาทในการก่อสร้างท่อร้อยสายสื่อสารโทรคมนาคมเพื่อนำลงสู่ใต้ดินเช่นกัน โดยมีแผนจะลงทุนในระยะแรก 5 ปี(ปี 2560-2564)ราว 5,000 ล้านบาทหรือปีละ 1,000 ล้านบาท
อย่างไรก็ตามหากทุกฝ่ายจะได้ย้อนกลับไปพิจารณาบรรดาสายไฟฟ้า หรือสายสื่อสารโทรคมนาคมที่ห้อยระโยงระยางอยู่บนเสาไฟฟ้าในปัจจุบันจะพบว่า แท้ที่จริงแล้วสายไฟฟ้าไม่ได้เป็นตัวสร้างปัญหาแต่อย่างใด ถนนหนทางในกรุงเทพฯ ก็มีสายไฟฟ้าแค่ 3-4 เส้นเท่านั้น
แต่ไอ้สายที่มันระโยงระยางสร้างความอุดจาดตาอยู่บนเสาไฟนั้น ส่วนใหญ่คือสายโทรศัพท์ เคเบิ้ล สายสัญญาณสื่อสารของบริษัทโทรคมนาคมต่างๆ ซึ่งมีทั้งที่ขออนุญาตโดยถูกกฎหมายและไม่ถูกกฎหมาย แต่ส่วนใหญ่กว่าร้อยละ 70-80 จะเป็นประการหลังเสียมากกว่า
ดังนั้น การที่รัฐจะนำเอาสายไฟฟ้าและสายโทรศัพท์ตลอดจนสายสื่อสัญญาณอะไรต่อมิอะไรลงดินนั้น แม้จะเป็นเรื่องที่ดีเพื่อสร้างความเป็นระเบียบ แต่ต้องคำนึงถึงสภาพข้อเท็จจริงด้วยว่าคุ้มหรือไม่กับเม็ดเงินที่ต้องผลาญกันลงไป และเป็นการแก้ไขปัญหาที่ตรงจุดหรือไม่ เพราะการจะเอาสายไฟฟ้าลงสู่ใต้ดินนั้นมันมีต้นทุนค่าใช้จ่ายสูงลิบลิ่ว เห็นได้จากการลงทุนของกฟน.ที่กำลังดำเนินการในเฟสแรก 39 เส้นทางระยะทางแค่ 127 กิโลเมตรแต่ต้องใช้วงเงินลงทุนสูงกว่า 48,717 ล้านบาท! นี่แค่เฟสแรกยังสูงลิ่วขนาดนี้ ถ้าทำทั้งกรุงเทพฯ ปริมณฑลจะทะลักไปกี่แสนล้าน ผมหล่ะไม่อยากอิมเมจิ้นเลยจริงๆ
เท่าที่คุยกับวิศวกรผู้เชี่ยวชาญด้านไฟฟ้าหรือกฟน.เองใช่ว่าจะอยากทำเพราะไม่มีประโยชน์ และเต็มไปด้วยความยุ่งยาก เพราะต้องก่อสร้างแท่นคอนกรีตพิเศษที่มีฉนวนกันไฟฟ้าอย่างดีและต้องขุดฝังท่อลึกลงไปในดินไม่น้อยกว่า 0.8- 1 เมตร ทั้งยังต้องแยกสายโทรศัพท์หรือสายสื่อสารอื่น ๆ ออกไปไม่สามารถจะแพ็ครวมอยู่ในท่อไฟฟ้าได้ จะตัดต่อแต่ละทีหากอยู่ใต้ดินแล้วเป็นเรื่องใหญ่เลยครับ
ส่วนสายสื่อสารโทรคมนาคม เคเบิลหรือสื่อสัญญาณต่างๆนั้นต่างกัน สามารถที่จะแพ็ครวมกันใส่ท่อพีวีซี หรือท่อร้อยสายธรรมดาวางลอดท่อระบายน้ำของกทม.ไปได้เลยไม่มีปัญหา จะขุดริมถนนวางท่อแยกต่างหาก หรือลอดท่อระบายน้ำของกทม.ก็ทำไปได้เลย จะตัดแยก รื้อย้าย ตัดท่อยังไงก็ไม่มีปัญหาใช้งบประมาณไม่สูงมากด้วย ซึ่งหากรัฐแยกเอาสายสื่อสารโทรคมนาคม เคเบิ้ล อะไรต่อมิอะไรเหล่านี้ลงดินไป ถนนหนทางต่างๆก็โล่งปราศจากความอุดจาดตาไปได้แล้ว
ผิดกับสายไฟฟ้าที่หากเกิดความผิดพลาดทำไม่ดีก็มีหวังได้งานเข้า ยิ่งกทม.เรายามนี้ทุกฝ่ายก็รู้แก่ใจกันดีว่าต้องเผชิญปัญหาน้ำท่วมขังรอการระบายกันเป็นว่าเล่นเสียด้วยซิ เกิดรั่วกันขึ้นมาทีอาจมี“ตายหมู่” จริงไม่จริง!!!
บทความโดย : เนตรทิพย์
ที่มา: http://www.logisticstime.net