สินบนสายไฟฟ้าโผล่! สหรัฐปรับผู้ผลิตจ่ายตัวแทนไทยแบ่งผู้มีอำนาจอนุมัติโครงการ
สินบนข้ามชาติลุกลาม ยุติธรรมมะกันเผยอีกบริษัทผลิตสายเคเบิล-ไฟฟ้าก็มียัดเงินเพื่อให้ได้โครงการ “วิษณุ” เกิดจิตสำนึกรับผิดชอบนั่งรองนายกฯ ปี 47 เตรียมหาข้อมูลโรลส์-รอยซ์ “อภิศักดิ์” เชื่อสาวไม่ยากเพราะผลสอบเมืองผู้ดีระบุชัดใครทำอะไรที่ไหนอย่างไร “กรณ์” แฉเจ้าจำปีใช้นายหน้าทุกเรื่องแม้กระทั่งมะนาว “อิศรา” คุ้ยมติ ครม.พบ “สุริยะ” ชงซื้อเครื่องบิน 14 ลำ "พิศิษฐ์" โอ่มีรายชื่อพวกปากมันงาบสินบนแล้ว รอคอนเฟิร์มจากอังกฤษก่อนแถลง “นายหน้า” ปตท.เตรียมซวยรับบาปแทน “ประเสริฐ-อนนต์” พาเหรดปัดเอี่ยว
เมื่อวันจันทร์ยังคงมีความต่อเนื่องในกรณีสินบนข้ามชาติจากกรณีบริษัท โรลส์-รอยซ์ได้ยอมรับกับสำนักงานปราบปรามการทุจริตของประเทศอังกฤษ (เอสเอฟโอ) ว่าได้จ่ายสินบนให้เจ้าหน้าที่รัฐ พนักงาน และอดีตผู้บริหารบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ถึง 3 ครั้งในช่วงปี 2534-2548 เป็นเงินกว่า 1,253 ล้านบาท และกระทรวงยุติธรรมสหรัฐอเมริกาได้เผยผลการตรวจสอบบริษัท โรลส์-รอยซ์ เอนเนอร์จี ซิสเตม อิงค์ ได้ติดสินบนผู้บริหารและเจ้าหน้าที่บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) และบริษัท ปตท. สำรวจและผลิตปิโตรเลียม (ปตท.สผ.) จำกัด (มหาชน) กว่า 11 ล้านดอลลาร์ หรือราว 385 ล้านบาทในช่วงปี 2543-2556 อีก
โดยล่าสุด เว็บไซต์กระทรวงยุติธรรมสหรัฐฯ ได้แจ้งถึงการจ่ายค่าปรับจำนวนมากกว่า 20 ล้านดอลลาร์ของบริษัท เจเนอรัล เคเบิล จำกัด ผู้ผลิตและจำหน่ายสายเคเบิลและสายไฟฟ้าจากรัฐเคนทักกี เพื่อยุติการสอบสวนดำเนินคดีกับบริษัท ฐานติดสินบนเจ้าหน้าที่รัฐในหลายประเทศทั้งเอเชียและแอฟริกาซึ่งรวมถึงไทยด้วย
รายงานดังกล่าว นอกจากค่าปรับ 20,469,694 ดอลลาร์ หรือราว 722,783,290 บาทที่จ่ายให้กระทรวงยุติธรรมแล้ว บริษัทนี้ยังต้องจ่ายคืนผลกำไร 51 ล้านดอลลาร์ที่ได้มาจากการติดสินบนในต่างแดนคืนสู่สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ของสหรัฐฯ (เอสอีซี) อีกราว 55 ล้านดอลลาร์ ทำให้บริษัทนี้ต้องจ่ายเงินเพื่อไกล่เกลี่ยรวมกว่า 75.75 ล้านดอลลาร์ หรือกว่า 2,673.76 ล้านบาท
เอกสารรับสารภาพของบริษัทระบุว่า พนักงานของบริษัทรวมถึงในระดับผู้บริหารของบริษัทแม่และบริษัทสาขารับรู้ว่า บริษัทสาขาในต่างประเทศใช้นายหน้าที่เป็นบุคคลที่สามและผู้แทนจำหน่ายจ่ายเงินสินบนให้เจ้าหน้าที่รัฐในต่างประเทศเพื่อรักษาหรือช่วยให้ได้สัญญาทางธุรกิจ การทุจริตนี้เริ่มต้นเมื่อปี 2553 ซึ่งในส่วนของไทยนั้นได้ระบุว่า จ่ายให้ตัวแทนเพื่อแบ่งให้ผู้ที่มีอำนาจตัดสินใจของฝ่ายลูกค้า ซึ่งเกี่ยวข้องกับเจ้าหน้าที่ระดับสูงในกระทรวง และผู้บริหารระดับสูงบางคนที่ร่วมการประมูล
นายกฤษฎา บุญราช ปลัดกระทรวงมหาดไทย ในฐานะประธานบอร์ดการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) กล่าวว่าจะมีการประชุมบอร์ด กฟน.ในวันอังคารที่ 24 ม.ค.นี้ ที่ก็คาดว่าจะนำเรื่องนี้ไปหารือกับผู้บริหาร กฟน.เพื่อสอบถามข้อเท็จจริงเบื้องต้นว่า ในช่วงที่เกิดเหตุเกิดขึ้นในช่วงไหน ใครเป็นผู้บริหาร จากนั้นก็จะพิจารณาต่อไปว่าจะทำอย่างไรเช่นขอข้อมูล โดยขณะนี้ยังตอบไม่ได้ว่าจะมีการตั้งกรรมการสอบข้อเท็จจริงโดยด่วนหรือไม่ เพราะตามที่มีข่าวออกมาว่าเรื่องเกิดช่วงปี 2555 นั้น ยังรับราชการเป็นผู้ว่าราชการจังหวัดอยู่ จึงต้องถามผู้เกี่ยวข้องใน กฟน.ก่อน
นายเสริมสกุล คล้ายแก้ว ผู้ว่าการการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) กล่าวเช่นกันว่า ยังไม่ทราบข่าวดังกล่าว ที่ผ่านมา กฟภ.จัดซื้อสายไฟฟ้าภายในประเทศมาตลอด ไม่มีการซื้อจากต่างประเทศแต่อย่างใด เพราะการจัดซื้อต้องจัดซื้อวัสดุสายไฟที่ต้องผ่านการรับรองจากสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (มอก.) แต่ กฟภ.จะรีบตรวจสอบต้นเรื่องต่อไปว่าข้อเท็จจริงเป็นอย่างไร