สำนักเลขานุการด้านการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศแห่งชาติ (เอ็นซีซีเอส) ร่วมกับมูลนิธิเพื่อการศึกษาวิจัยแห่งชาติ (เอ็นอาร์เอฟ) แห่งสิงคโปร์ มอบหมายให้สถาบันวิจัยพลังงานของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยี นานยาง ศึกษาวิจัยเพื่อกำหนดแผนแม่บทการใช้พลังงานในอนาคต ให้สอดคล้องกับการตั้งเป้าหมายจะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงให้ได้ 36 เปอร์เซ็นต์ ภายในปี 2030 ตามที่ทำความตกลงไว้ในการประชุมที่กรุงปารีสก่อนหน้านี้
ส่วนหนึ่งของ แผนดังกล่าว ระบุว่า สิงคโปร์สามารถบรรลุถึงเป้าหมายเปลี่ยน 50 เปอร์เซ็นต์ของรถยนต์ทั้งหมดที่ใช้ในประเทศให้กลายเป็นรถที่ขับเคลื่อนด้วย พลังงานไฟฟ้าได้ภายในปี 2050 ด้วยการกำหนดนโยบายและแผนปฏิบัติการที่ถูกต้องเหมาะสม และผลจากการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวจะช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงระหว่าง 20-30 เปอร์เซ็นต์ เมื่อเทียบกับการไม่ได้ดำเนินการใดๆเลย
แผนปฏิบัติการหรือโรดแมปเพื่อการนี้นั้นชี้ว่ารัฐบาลควรเริ่มต้นที่ แท็กซี่และรถโดยสารสาธารณะ ด้วยเหตุผลที่ว่า แท็กซี่เป็นรถที่ถูกใช้งานคิดเป็นระยะทางต่อคันไกลที่สุด ในขณะที่รถโดยสารเป็นรถประเภทที่ปล่อยคาร์บอนออกมาเป็นมลพิษมากที่สุดต่อคัน ทั้งนี้ เพื่อให้บรรลุเป้าหมายปารีส แผนดังกล่าวเสนอแนะให้สิงคโปร์ปรับเปลี่ยนไปใช้พลังงานทางเลือกที่หมุนเวียน กลับมาใช้ใหม่ได้ควบคู่กันไปด้วย โดยตั้งเป้าหมายไว้ที่สัดส่วน 8 เปอร์เซ็นต์ ของค่าการใช้พลังงานไฟฟ้าสูงสุดของประเทศภายในปี 2030
สิงคโปร์ ริเริ่มโครงการรถโดยสารที่ใช้พลังงานไฟฟ้าตั้งแต่ปี 2017 นี้เป็นต้นไป โดยเริ่มด้วยโครงการใช้รถไฟฟ้าแบบคาร์แชริง จำนวน 125 คัน พร้อมสถานีชาร์จไฟ 250 แห่งในปีหน้านี้ด้วยการมอบหมายให้บริษัท บลูเอสจี ในเครือบอลลอร์กรุ๊ปจากฝรั่งเศสเป็นผู้ดำเนินการ และภายในปี 2020 จะเพิ่มจำนวนรถเป็น 1,000 คัน มีสถานี 500 สถานี จุดชาร์จไฟฟ้า 2,000 จุดทั่วประเทศ
ในส่วนของรถโดยสารส่วนบุคคล ทางการสิงคโปร์ริเริ่มโครงการ “คาร์บอนรีเบท” จ่ายเงินบางส่วนคืนให้ผู้ซื้อรถยนต์ใช้พลังงานไฟฟ้า และรถยนต์ไฮบริด ที่ผ่านการทดสอบปริมาณการปล่อยคาร์บอนมอนนอกไซด์ของรัฐสำหรับไฟฟ้าที่ใช้ ชาร์จรถยนต์เหล่านั้นแล้ว
เพื่อกระตุ้นให้ผู้ใช้หันมาใช้รถยนต์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมนั่นเอง
ที่มา : http://www.matichon.co.th