updated: 09 ก.ค. 2556
คอลัมน์ พร้อมรับ AEC หรือยัง โดย ณกฤช เศวตนันท์
การที่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือ AEC กำลังจะเกิดขึ้นในระยะเวลาอันใกล้นี้ ทุกประเทศสมาชิกต่างเร่งเตรียมความพร้อมในด้านต่าง ๆ เพื่อให้ประเทศของตนสามารถแข่งขันกับประเทศสมาชิกอื่นได้มากที่สุด แต่ละประเทศพยายามหาจุดเด่นเพื่อจูงใจนักลงทุนต่างชาติให้เข้ามาทำธุรกิจใน ประเทศตน ซึ่งในครั้งที่แล้วเราได้พูดถึงการเตรียมความพร้อมด้านพลังงานของประเทศไทย ไปแล้ว ในคอลัมน์นี้จะขอพูดถึงการเตรียมความพร้อมด้านพลังงานในประเทศพม่ากันบ้าง ตั้งแต่ เปิดประเทศ พม่ากลายเป็นพื้นที่เป้าหมายของนักลงทุนต่างชาติรวมถึงนักลงทุนไทย โดยเฉพาะการลงทุนด้านพลังงานเพื่อรองรับอุตสาหกรรมประเภทต่าง ๆ พม่าถือว่าเป็นประเทศหนึ่งที่มีความอุดมสมบูรณ์ทางแหล่งพลังงานมาก ดังจะเห็นได้จากการที่พม่ามีก๊าซธรรมชาติสำรองจำนวนมาก สามารถจำหน่ายให้ประเทศเพื่อนบ้านอย่างประเทศไทย เพื่อสร้างรายได้เข้าประเทศปีละกว่า 2.5 พันล้านดอลลาร์ หรือราว 7.5 หมื่นล้านบาท |
นอกจากนี้แหล่งน้ำมันและก๊าซธรรมชาติของพม่ายังมีความ สดใหม่อยู่มากและยังไม่ถูกค้นพบกับขุดเจาะอย่างจริงจัง ทำให้นักลงทุนต่างชาติอยากเข้ามาครอบครองแหล่งน้ำมันและก๊าซธรรมชาติที่พม่า มีอยู่นี้
อย่างไรก็ตามศักยภาพการผลิตไฟฟ้าของพม่านั้นยังค่อนข้าง จำกัด พม่าสามารถผลิตไฟฟ้าได้เพียง 3,361 เมกะวัตต์ต่อปี แหล่งพลังงานไฟฟ้าในพม่าร้อยละ 70 มาจากพลังน้ำ ร้อยละ 30 มาจากพลังลม ส่วนที่เหลือมาจากถ่านหิน ทั้งนี้ได้มีรายงานจาก The New Energy Architecture ซึ่งเป็นรายงานวิเคราะห์ประเด็นความท้าทายในภาคพลังงานของพม่าระบุว่า ประชากรเกือบสามในสี่ของประเทศหรือประมาณ 60 ล้านคนยังไม่มีไฟฟ้าใช้ ประชากรในพื้นที่ชนบทที่มีอยู่ถึงร้อยละ 70 นั้นมีเพียงร้อยละ 16 เท่านั้น
ที่เข้าถึงไฟฟ้าได้ ทำให้เกิดข้อจำกัดในการเข้าถึงบริการสาธารณสุข งานและการพัฒนาเศรษฐกิจ ดังนั้นก่อนการเริ่มต้นของการเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน พม่าจึงต้องเร่งปรับปรุงคุณภาพของระบบการผลิตไฟฟ้าเป็นการเร่งด่วนเพื่อรอง รับการลงทุนที่จะเกิดขึ้น
จากรายงานข่าวล่าสุด รัฐบาลพม่าประกาศแผนว่าจะสร้างโรงไฟฟ้าพลังแสงอาทิตย์แห่งแรกของประเทศซึ่ง จะมีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 3 ของโลก โดยโรงไฟฟ้าดังกล่าวมีมูลค่า 8,200 ล้านบาท สามารถผลิตไฟฟ้าได้ 210 เมกะวัตต์ ด้วยเงินลงทุน 275 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 8,250 ล้านบาท บนเนื้อที่ 2,000 ไร่ ที่จังหวัดมินบู (Minbu) เขตเมเกว (Magway) นครหลวงเนย์ปิดอว์ (Naypyidaw) โดยมีบริษัท กรีน เอิร์ธ พาวเวอร์ จำกัด จากไทย เป็นผู้ดูแลการก่อสร้าง
โครงการ พลังงานแสงอาทิตย์ดังกล่าวจะใช้เวลาก่อสร้างทั้งหมด 18 เดือน แบ่งเป็น 3 เฟส เฟสแรกกำลังผลิต 50 เมกะวัตต์ เฟสที่สองกำลังผลิต 70 เมกะวัตต์ ส่วนเฟสที่สามจะทำหน้าที่เข้ามาเสริมกำลังผลิตไฟฟ้ารวมของพม่าให้มั่นคงมาก ขึ้น ซึ่งพม่าวางเป้าหมายว่าภายในปี พ.ศ. 2573 จะต้องมีกำลังผลิตรวม 30,000 เมกะวัตต์ และมีการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนร้อยละ 10 ด้วย
ทั้งนี้ ปัจจัยผกผันที่อาจจะทำให้การก่อสร้างโรงไฟฟ้าไม่ราบรื่นนั้นอาจจะเกิดจาก รัฐบาลพม่า เพราะแม้จะเปิดประเทศแล้ว แต่รัฐบาลทหารยังคงยึดครองอำนาจอยู่ ซึ่งวิธีการบริหารงานยังมีลักษณะเผด็จการ ดังนั้นอาจจะมีการเปลี่ยนแปลงคำสั่งกะทันหันเป็นเหตุให้โครงการนี้ไม่สำเร็จ แบบโรงไฟฟ้าที่ทวายหรือโครงการอื่น ๆ ที่รัฐบาลระงับคำสั่งก็เป็นไปได้ หากรัฐบาลพม่ามองว่าเป็นปัญหา
จากนี้เราคงต้องตามข่าวโครงการโรง ไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ในพม่ากันอย่างใกล้ชิดว่าจะทำสำเร็จลุล่วงทันการเปิด AEC หรือไม่ ซึ่งหากทำสำเร็จด้วยเทคโนโลยีที่สะอาดและมีประสิทธิภาพสูงก็จะช่วยยกระดับ เศรษฐกิจของประเทศพม่าให้ขึ้นมาอยู่แถวหน้าของภูมิภาคอาเซียนได้อย่างแน่นอน และนักลงทุนจำนวนมากย่อมจะให้ความสนใจเข้าไปลงทุนในธุรกิจพลังงานของประเทศ พม่ามากยิ่งขึ้น