จะเอาไฟดับหรือเอาไฟแพง" เอาโรงไฟฟ้านิวเคลียร์?
โดย : Admin

ที่มา: ประชาชาติธุรกิจออนไลน์/ก.พ. 255

 

สถานการณ์ทางด้านพลังงานของประเทศกำลังเกิดความตึงเครียดขึ้นมาทันที เมื่อก๊าซธรรมชาติซึ่งเป็นเชื้อเพลิงสำคัญของโรงไฟฟ้าที่มาจากแหล่งผลิตในเมียนมาร์ 2 แหล่ง คือแหล่งยาดานา กับแหล่งเยตากุน ถึงกำหนดที่จะต้องปิดซ่อมแท่นขุดเจาะ ส่งผลให้กำลังผลิตไฟฟ้าในระบบของประเทศหายไปทันทีถึง 6,000 MW โดยที่ไม่มีแหล่งเชื้อเพลิงภายในประเทศแหล่งใดที่มีต้นทุนในการผลิตไฟฟ้าเทียบเท่ากับก๊าซธรรมชาติที่สามารถนำมาทดแทนได้

วิกฤตการณ์ที่กำลังจะเกิดขึ้นในเดือนเมษายนนี้ทำให้ผู้คนในประเทศเริ่มย้อนกลับมาถามหาความมั่นคงทางด้านระบบไฟฟ้าที่ว่า ประเทศไทยควรจะมีโรงไฟฟ้าประเภทใดในอนาคตระหว่างโรงไฟฟ้าชีวมวล โรงไฟฟ้าถ่านหิน โรงไฟฟ้าก๊าซ และโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ ท่ามกลางข้อถกเถียงระหว่าง "ความกลัว" ผลกระทบสิ่งแวดล้อม ความปลอดภัยของประชาชน กับราคาค่าไฟฟ้าที่เหมาะสมกับสภาวะเศรษฐกิจของประเทศที่กำลังเติบโตขึ้นในอีก 10-20 ปีข้างหน้า

 

 



"ประชาชาติธุรกิจ" สัมภาษณ์ นายรัตนชัย นามวงศ์ ผู้ช่วยผู้ว่าการวิศวกรรมโรงไฟฟ้า การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ถึงอนาคตของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ในประเทศไทย



- ความคืบหน้าโรงไฟฟ้านิวเคลียร์


ก่อนเกิดเหตุการณ์โรงไฟฟ้า นิวเคลียร์ฟูกูชิมาระเบิดในเดือนมีนาคม2554กฟผ.ได้ดำเนินการเตรียมความพร้อม ที่จะมีโรงไฟฟ้านิวเคลียร์มาพักหนึ่งแล้ว โดยให้ IEA มาสัมภาษณ์ว่า ประเทศไทยเหมาะสม

อะไร ตอนนั้นพบว่ามีอยู่หลายเรื่องที่ต้องดำเนินการ ทั้งการศึกษาความเหมาะสมในการมีโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ รวมไปถึงความไม่เรียบร้อยทางด้านกฎหมายภายในประเทศ ต้องแก้ไขปรับปรุงกฎหมายใหม่ ซึ่งสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ กำลังดำเนินการปรับปรุงกฎหมายและอนุสัญญาหรือการเป็นภาคีกับต่างประเทศให้เหมาะสมยิ่งขึ้น ตอนนี้กฎหมายอยู่ในขั้นตอนของกฤษฎีกา ทาง กฟผ.และกระทรวงพลังงานได้เข้าไปช่วยให้ความเห็นด้วย

การมีหรือไม่มีโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ตอนนี้ขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย ไม่ใช่จู่ ๆ จะสร้างขึ้นมาเลย มันไม่ได้ ต้องผ่านการประเมินของ IEA ว่า ประเทศไทยมีความพร้อมมีศักยภาพหรือไม่ ถ้ารัฐบาลมีนโยบายให้ทำต่อ กฟผ.ก็พร้อมดำเนินการ แต่ว่าจะถึงขั้นให้เดินหน้าเป็นโรงไฟฟ้านิวเคลียร์คงต้องฟังเสียงประชาชนทั้งหมด ต้องใช้เวลา



- โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ในแผน PDP

โรงแรก 2026 โรงถัดมา 2027 รวมกัน 2,000 เมกะวัตต์ โรงละ 1,000 เมกะวัตต์ แผน PDP ไปหยุดอยู่แค่นั้น เท่ากับเรามีเวลาอีก 13 ปี การแบ่งตามขั้นตอนประเมินของ IEA มี 4 ขั้น คือ ขั้นแรก เตรียมการและปรับปรุงกฎหมาย ขั้นที่ 2 สำรวจและเตรียมความพร้อมทุกอย่าง ขั้นที่ 3 ประมูล ขั้นที่ 4 ก่อสร้าง ตอนนี้เราอยู่ในปลายขั้นที่ 1 ถ้าเราผ่านเรื่องกฎหมายก็ผ่านไปขั้นที่ 2 ได้ ทุกขั้นตอนต้องผ่านการตรวจสอบของ IEA ทั้งหมด

- IEA ประเมินครั้งหนึ่งแล้วไม่ผ่าน

เราไม่ชัดเจน ความปลอดภัยในแง่ของ กฟผ.เราผ่านหมดแล้ว ในแง่ของกฎหมายที่สำนักปรมาณูเพื่อสันติรับผิดชอบก็ติดอยู่ เขายังไม่ได้เขียนเรื่องความปลอดภัยให้ชัดเจน เรื่องอนุสัญญาตอนนี้แค่ไม่ได้

ลงนามก็เท่านั้นเอง ถ้าชัดเจนก็ดำเนินการลงนามได้ ไม่น่าเป็นปัญหา เป็นความร่วมมือระหว่างกระทรวงการต่างประเทศ กฎหมายก็ยังอยู่ในขั้นกฤษฎีกา ทั้งหมดรวมทั้งกฎหมายจะจบภายในปีนี้ กฤษฎีกาเขาช่วยดูก็เป็นเรื่องที่ดีทำให้รัดกุม

- ใครเป็นคนบอกว่าเราจะไปขั้นที่ 2

รัฐบาลต้องสั่งมาให้ดำเนินการ ตอนนี้กระทรวงพลังงานเป็นคนดูเพราะแผน PDP ปรับปรุงทุกปี เรื่องอยู่ที่กระทรวงพลังงานมีทีมงานดูอยู่ เนื่องจากว่าโครงการนี้ยังไม่ได้ตัดสินใจ

- แล้วจะทันตามแผน PDP หรือไม่

โรงไฟฟ้านิวเคลียร์จะต้องใช้เวลาการก่อสร้าง 12 ปี ตึง ๆ มือปัจจุบันนี้โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ก่อสร้างแบบใหม่เอี่ยมน่าจะประมาน 5 ปีอย่างต่ำ ประมูลหรือเจรจาอีกประมาณ 3 ปี สำรวจและทำความเข้าใจกับประชาชนก็น่าจะประมาณไม่ต่ำกว่า 3 ปี รวมทั้งหมดก็ 11 ปี แต่อย่างที่บอกประเทศไทยตัดสินใจยากเพราะมีรายละเอียดเยอะ คือต้องเรียนว่าโรงไฟฟ้าโรงหนึ่ง ไม่ใช่ว่าพอเห็นด้วยแล้วอีก 1 เดือนทำได้ ต้องอีก 5 ปีอย่างต่ำกว่าจะทำเรื่องความเข้าใจชุมชน กว่าจะทำ IEA ได้

- เรื่องเงินลงทุนต้องประเมินใหม่


แผนการลงทุนที่เคยประเมินไว้ก็ใช้ไม่ได้แล้วเพราะเวลามันเลื่อนออกไปทุกปี ถ้าทำขึ้นมาจริง ๆ ก็ต้องมาปรับปรุงอีกทีว่าจะเป็นอย่างไร ต้องมาดูอีกทีว่าเหมาะสมเป็นเท่าไร ถ้าประเมินอีกก็ต้องทำให้รอบคอบว่า แพงเกินไปหรือเปล่า ถ้าแพงเกินไปทำอย่างไรถึงจะเหมาะสม ถ้าจำเป็นต้องสร้างจะสร้างอย่างไร ต่อให้เทคโนโลยีเหมาะสมแต่พอกลับไปดูแล้วแพงมหาศาล บางทีมันก็จ่ายไม่ไหว มูลค่าตอนนั้นประมาณ 85,000 ล้านบาทต่อ 1,000 เมกะวัตต์ถือว่าถูก ตอนนี้ไม่ได้แล้ว



- เทคโนโลยีโรงไฟฟ้านิวเคลียร์อยู่ขั้นไหน


ปัจจุบันอยู่ที่ขั้น 3.5 ถ้าเทียบกับโรงไฟฟ้าฟูกูชิมาอยู่ระดับ 1.5 ที่เราวางแผนจะก่อสร้างอยู่ขั้น 3.5 แม้ตอนนี้กำลังมีการพัฒนาเป็นขั้นที่ 4 แล้ว แต่ว่าเทคโนโลยีของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ต้องให้ Regulator เป็นคนให้คำรับรองก่อนว่าผ่านหรือเปล่าเพื่อจะขายต่อ ระดับรุ่นที่ 4 กำลังพัฒนาอยู่แต่ยังไม่ได้รับการรับรอง



- สถานที่ตั้งยังเป็น 5 แห่งใช่หรือไม่ (กาฬสินธุ์-นครสวรรค์-ตราด-ชุมพร-นครศรีธรรมราช)

ใช่ครับ บริเวณริมทะเลกับตัวแผ่นดิน ความจริงต้องอยู่ริมทะเล แต่เลือกไม่ได้ เมืองไทยจะว่าโชคดีก็โชคดี โชคไม่ดีคือ พื้นที่สร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ลำบาก ไม่ใช่จะหากันง่าย ๆ อย่างฝั่งอันดามันเป็นแหล่งท่องเที่ยวสร้างไม่ได้ ขณะที่เรามีที่น้อย โอกาสไม่ง่ายนัก โรงไฟฟ้าโรงหนึ่งต้องใช้พื้นที่ประมาน 600-700 ไร่ แต่ขณะนี้ยังไม่ได้ตัดสินใจเลือกว่าจะก่อสร้างที่ไหน



- ถ้าไม่มีนิวเคลียร์


ต้องหาโรงไฟฟ้าอื่นเข้ามาแทน แต่ไม่ว่าจะเป็นโรงไฟฟ้าประเภทใดไม่ง่าย เพราะกว่าจะเปลี่ยนจากทุ่งนาเป็นโรงไฟฟ้า
โรงหนึ่งต้องใช้เวลา โรงไฟฟ้าในอนาคตจะต้องเป็นโรงไฟฟ้าที่ใช้ก๊าซ แต่ปัญหาคือ ก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยกำลังจะหมดไปอีก 10 ปี เหลือก๊าซ LNG ซึ่งต้องนำเข้าจากต่างประเทศ ซึ่งมีราคาแพงกว่าก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยเป็น 2 เท่าหมายถึง ต้นทุนในการผลิตไฟฟ้าต่อหน่วยจะแพงขึ้นต้องเลือกว่า ตกลงจะเอาไฟดับหรือจะเอาไฟแพง ตรงนี้จะกลายเป็นวิกฤตพลังงานของประเทศไทย เราจึงต้องนำเสนอนิวเคลียร์เพราะเราไม่มีพลังงานใช้ในอนาคต

เนื้อหาโดย: 9engineer.com (https://9engineer.com/)