26 กุมภาพันธ์ . 2556 ข่าวสดออนไลน์
ทวี มีเงิน
"ค่าเอฟที" ภาระที่ชาวบ้านไม่ได้ก่อ
ประเด็น หนึ่งที่ยังไม่มีใครตั้งคำถาม ทั้งที่เกี่ยวกับผลประโยชน์ของประชาชนโดยตรงนั่นคือ ใครควรจะเป็นผู้รับผิดชอบค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติหรือ "ค่าเอฟที" ที่เพิ่มขึ้นจากกรณีที่มีการหยุดจ่ายก๊าซจากแหล่งก๊าซธรรมชาติยานาดา และเยตากุนจากพม่า
การ หยุดจ่ายก๊าซธรรมชาติเที่ยวนี้ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) จะต้องหาเชื้อเพลิงชนิดอื่นมาทดแทนเพื่อไม่ให้มีปัญหาไฟฟ้าตกหรือดับใน พื้นที่กรุงเทพมหานครและ ภาคใต้ อาทิ น้ำมันเตาที่ใช้ได้ในโรงไฟฟ้าพลังความร้อน สำหรับโรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วมจะต้องใช้น้ำมันดีเซลซึ่งแพงมากตกหน่วยละ 8-9 บาท จึงคงไม่นำมาใช้เพราะค่าใช้จ่ายสูงเกินไป
ประเด็น มีอยู่ว่าแล้วค่าใช้จ่ายที่เพิ่มสูงขึ้นนี้ ใครควรต้องรับผิดชอบ ปตท.ในฐานะผู้จำหน่ายก๊าซให้กับกฟผ. หรือจะผลักภาระนี้ให้กับประชาชน
เท่า ที่ได้ฟังจาก "ดร.ปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์" อดีตรัฐมนตรีกระทรวงพลังงานบอกว่า "การซ่อมบำรุงท่อก๊าซเป็นเรื่องปกติที่เกิดขึ้น แต่รัฐบาลต้องวางแผนให้ดีกว่านี้ ไม่ใช่เรื่องกะทันหัน เขาแจ้งล่วงหน้ามาก่อนหน้านี้แล้ว ซึ่งเอกสารกระทรวงพลังงานตั้งแต่ปลายปีที่แล้วมีการคำนวณค่าเอฟที แสดงให้เห็นแล้วว่ามีการปิดซ่อมก๊าซจะน้อยลง ต้องใช้น้ำมันเตาเพิ่มขึ้น ช่วงนี้ค่า เอฟทีก็จะสูงขึ้น เขาใส่ค่าเอฟทีไปแล้วสำหรับปีนี้"
ประเด็น ที่ ดร.ปิยสวัสดิ์ พูดขึ้นมามีวรรคทองที่ต้องขีดเส้นใต้อยู่ 2 วรรค ที่น่าสนใจคือ เรื่องนี้ได้มีการแจ้งล่วงหน้ามานานแล้ว วรรคทองต่อมาน่าสนใจอย่างยิ่งว่า ได้มีการเก็บค่าเอฟทีตั้งแต่ปลายปีที่แล้ว
จาก การตรวจสอบข้อมูลพบว่า เมื่อเดือนธันวาคมปีที่แล้ว ได้มีการขึ้นค่าเอฟทีสำหรับเดือนมกราคม-เมษายนไปแล้ว 1.70 สตางค์ต่อหน่วย และในการประชุมครั้งต่อไป คาดว่าจะมีการขึ้นค่าเอฟทีเดือนพฤษภาคม-สิงหาคมเป็น 2.20 สตางค์ต่อหน่วย
นั่นแสดงว่าได้มีการ "ลักไก่" ขึ้นค่าไฟฟ้าจากกรณีนี้ให้ประชาชนรับภาระล่วงหน้าไปแล้ว
ถือ ว่าโยนภาระให้กับประชาชนโดยที่ประชาชนไม่รู้อีโหน่อีเหน่ ไม่มีการชี้แจงสักคำว่าต้นทุนเพิ่มจากอะไร ทั้งที่ไม่ควรเป็นค่าใช้จ่ายหรือความรับผิดชอบของประชาชน แต่ควรจะเป็นภาระของ ปตท.ที่ขายก๊าซเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าให้กับ กฟผ.อีกทีหนึ่ง ต้องเป็นผู้รับผิดชอบ
ไม่ใช่มัดมือชกแอบลักไก่ขึ้น โดยที่ผู้บริโภคไม่รู้เรื่องอย่างที่ทำมาตลอด