เฮียเพ้ง"เล็งเยือนโมซัมบิก ปูทางกลุ่ม ปตท. ลงทุนโรงผลิตก๊าซแอลเอ็นจี-โรงงานปิโตรเคมี ส่วน กฟผ.ลงทุนโรงไฟฟ้า มั่นใจมีศักยภาพด้านพลังงานสูง ล่าสุดพบว่าแหล่ง
พงษ์ศักดิ์ รักตพงศ์ไพศาลมี ปริมาณสำรองก๊าซฯมากถึง 60 ล้านล้านลูกบาศก์ฟุต ช่วยหนุนความมั่นคงด้านพลังงานให้กับไทย ฟาก ปตท.สผ.ยอมรับสนใจลุยธุรกิจสำรวจและผลิตปิโตรเลียมในโมซัมบิกและติมอร์เพิ่ม
นายพงษ์ศักดิ์ รักตพงศ์ไพศาล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2556 ที่ผ่านมา นางเอสเปรันซ่า บีแอส รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานของสาธารณรัฐโมซัมบิก พร้อมด้วยคณะ เดินทางเยือนกระทรวงพลังงานของไทย โดยได้มีการหารือด้านความร่วมมือด้านพลังงาน เบื้องต้นโมซัมบิกต้องการให้ไทยถ่ายทอดความรู้ด้านพลังงาน รวมทั้งอบรมบุคลากรให้มีความรู้ความสามารถด้านการผลิตก๊าซ ปิโตรเคมี โรงไฟฟ้า และโรงไฟฟ้าถ่านหิน
"การหารือในครั้งนี้จะต่อยอดไปถึงการลงทุนโครงการอื่นๆ ร่วมกันต่อไป โดยในช่วง 1-2 เดือนนี้ เตรียมจะเดินทางไปลงนามบันทึกข้อตกลงร่วมกัน(เอ็มโอยู) กับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานสาธารณรัฐโมซัมบิก เพื่อนำไปสู่การศึกษาโครงการร่วมทุน เนื่องจากปัจจุบันบริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท.สผ. ได้เข้าไปถือหุ้นบริษัท Cove Energy Plc. ในสัดส่วน 8.5% ซึ่งพบว่าแหล่งดังกล่าวหลังจากการขุดเจาะสำรวจเบื้องต้นคาดว่าจะมีปริมาณ สำรองก๊าซมากถึง 60 ล้านล้านลูกบาศก์ฟุต ดังนั้นแหล่งก๊าซดังกล่าวจะช่วยเพิ่มความมั่นคงด้านพลังงานให้กับประเทศไทย ด้วย โดยตามสัดส่วนการถือหุ้น จะทำให้ไทยมีปริมาณสำรองก๊าซอยู่ที่ประมาณ 5 ล้านล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน คาดว่าจะเริ่มผลิตก๊าซจากแหล่ง Cove ได้ภายใน 5-6 ปีข้างหน้า"
ทั้งนี้ เชื่อว่าโมซัมบิกจะเป็นคู่ค้าด้านพลังงานที่สำคัญของไทย รวมทั้งในอนาคตจะมีโครงการร่วมทุน อาทิ โรงผลิตก๊าซธรรมชาติเหลว(แอลเอ็นจี) โรงไฟฟ้า และโรงงานปิโตรเคมี รวมทั้งจะเป็นแหล่งวัตถุดิบเพื่อป้อนให้กับโรงงานปิโตรเคมีในไทยด้วย สำหรับแผนลงทุนดังกล่าวน่าจะเห็นความชัดเจนภายใน 1-2 ปีนี้ หากล่าช้าก็จะเสียโอกาสด้านพลังงานของไทยได้
นายพงษ์ศักดิ์ กล่าวอีกว่า สำหรับแผนลงทุนโครงการโรงกลั่นในโมซัมบิกนั้น คาดว่าจะเป็นโรงกลั่นขนาดเล็ก เนื่องจากความต้องการใช้พลังงานในโมซัมบิกยังมีไม่มากนัก มีจำนวนประชากรเพียง 22 ล้านคน มีการใช้ก๊าซเพียง 8 ล้านล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน และมีการส่งออกน้ำมัน 2.2 หมื่นบาร์เรลต่อวัน ส่วนโรงไฟฟ้า ก็จะมีการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) ที่จะเข้าไปลงทุนเบื้องต้นทางการโมซัมบิกได้ส่งบุคลากรเข้ามาอบรมด้วยแล้ว
นอกจากความร่วมมือด้านพลังงานกับโมซัมบิกแล้ว ยังมีความร่วมมือด้านพลังงานกับประเทศติมอร์ด้วย ซึ่งจากการเดินทางไปเยือนประเทศติมอร์เมื่อวันที่ 31 มกราคม-1 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ได้มีการลงนามบันทึกข้อตกลงร่วมกัน เบื้องต้นบริษัท พีทีที อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด จะร่วมกับติมอร์แก๊ป เพื่อก่อสร้างโรงกลั่นคอนเดนเสต ขนาดกำลังการผลิต 4 หมื่นบาร์เรลต่อวัน โดย ปตท.จะถือหุ้นในโรงกลั่นดังกล่าวสัดส่วนกว่า 70% และติมอร์แก๊ปอยู่ที่กว่า 20% คาดว่าจะใช้เงินลงทุนไม่เกิน 5 พันล้านบาท
นางเพ็ญจันทร์ จริเกษม รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายการเงินและบัญชีองค์กร ปตท.สผ. กล่าวว่า ปตท.สผ.มีความสนใจที่จะเข้าไปลงทุนสำรวจและผลิตปิโตรเลียมในประเทศติมอร์ ซึ่งมองว่าประเทศดังกล่าวมีศักยภาพด้านปิโตรเลียม หากทางภาครัฐสนับสนุน ปตท.สผ.ก็มีความพร้อมลงทุน ขณะเดียวกันบริษัท พีทีที อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทลูกของ ปตท. ก็จะร่วมลงทุนกับทางบริษัท ติมอร์แก๊ป จำกัด ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจด้านพลังงานของประเทศติมอร์เพื่อร่วมทุนก่อสร้างโรง กลั่นคอนเดนเสต สปริตเตอร์ ขนาด 4 หมื่นบาร์เรลต่อวัน
นายณัฐชาติ จารุจินดา ประธานเจ้าหน้าที่บริหารปฏิบัติการกลุ่มธุรกิจปิโตรเลียมขั้นปลาย บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ขณะนี้ ปตท.อยู่ระหว่างการศึกษาโครงการร่วมทุนก่อสร้างโรงกลั่นคอนเดนเสต ซึ่งผลผลิตที่ได้จะเป็นน้ำมันเบนซินและแนฟทา ซึ่งสามารถนำเข้ามาป้อนเป็นวัตถุดิบให้กับโรงงานปิโตรเคมีในไทยได้ อย่างไรก็ตามโรงกลั่นดังกล่าวมีขนาดเพียง 4 หมื่นบาร์เรลต่อวัน ซึ่งมีขนาดเล็กมาก ดังนั้นการนำเข้าวัตถุดิบจากโรงกลั่นนี้คิดเป็นเพียง 3% เท่านั้น
อย่างไรก็ตาม ติมอร์ยังเป็นประเทศเปิดใหม่ที่มีศักยภาพด้านปิโตรเลียมสูง ซึ่งมีความเป็นไปได้ที่ ปตท.สผ.จะเข้ามาลงทุนธุรกิจสำรวจและผลิตปิโตรเลียม แต่คงต้องรอผลการศึกษาโครงการร่วมทุนโรงกลั่นคอนเดนเสตก่อน และในอนาคตอาจมีแผนขยายโครงการร่วมทุนเพิ่มขึ้น โดยคาดว่าผลการศึกษาโครงการร่วมทุนดังกล่าวจะใช้ระยะเวลาประมาณ 6 เดือน และจะเห็นความชัดเจนภายในไตรมาส 3 ปีนี้
จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 33 ฉบับที่ 2,817 วันที่ 10 - 13 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556