'นาซ่า'เฮ-ยานอวกาศวอยเอเจอร์-1 บินใกล้ขอบนอกระบบสุริยะ
โดย : Admin

ที่มา: ข่าวสดออนไลน์
24 ธันวาคม พ.ศ. 2553





สำนักงานบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติสหรัฐ หรือนาซ่า แถลงว่า "ยานอวกาศวอยเอเจอร์ 1" กำลังเข้าใกล้ขอบนอกสุดของระบบสุริยะแล้ว หลังจากขึ้นปฏิบัติภารกิจตั้งแต่ 33 ปีก่อน

นาซ่า ระบุว่า เมื่อปี 2547 วอย เอเจอร์ 1 เดินทางไปถึงโซนที่มีลมสุริยะซึ่งเต็มไปด้วยอนุภาคที่มีประจุไฟฟ้าที่ดวงอาทิตย์ปล่อยออกมา ด้วยความเร็ว 1 ล้านไมล์ต่อชั่วโมง จากข้อมูลล่าสุดพบว่า ความเร็วเฉลี่ยของลมสุริยะที่วัดได้ ช้าลงจนเกือบเป็นศูนย์ ซึ่งหมายความว่า ยานวอยเอเจอร์ 1 เข้าใกล้ขอบนอกของระบบสุริยะ หรือในย่านที่เรียกว่า "เฮลิโอพอส" เข้าไปทุกขณะ


 



เอ็ดเวิร์ด สโตน ผอ.ห้องทดลองจรวดขับดันนาซ่า กล่าวว่า วอยเอเจอร์ 1 กำลังจะสร้างก้าวย่างสำคัญของวงการอวกาศ และชี้ว่าขอบสุริยะไม่ได้อยู่ไกลเกินเอื้อม คาดว่าจะต้องใช้เวลาอีกราว 4 ปีกว่าวอยเอเจอร์จะออกพ้นระบบสุริยะสำเร็จและเข้าสู่ห้วงอวกาศสากล

ทั้งนี้ นักดาราศาสตร์สังเกตเห็นลมสุริยะชะลอความเร็วลงตั้งแต่เดือนมิ.ย. จากนั้นทดสอบอยู่นานหลายเดือนจนแน่ใจ ปกติลมสุริยะจะเดินทางด้วยความเร็วเหนือเสียง ในรัศมี 10,000 ล้านกิโลเมตรแรกลมสุริยะเคลื่อนที่ด้วยความเร็ว มากกว่า 1 ล้านกิโลเมตรต่อชั่วโมง จากนั้นจึงเริ่มชะลอและสลายไปในสสารระหว่างดาว ลมสุริยะจะชะลอความ เร็วลงจนหยุดลงในที่สุดและรวมไปในมวลสารเหล่านั้น

จุดที่ลมสุริยะชะลอความเร็วลงเรียกว่า "กำแพงกระแทก" จุดที่แรงดันของสสารระหว่างดาวกับลมสุริยะเข้าสู่สมดุลกันเรียกว่า "เฮลิโอพอส" จุดที่สสารระหว่างดาวเคลื่อนที่ในทางตรงกันข้าม คือชะลอตัวลงเมื่อปะทะเข้ากับเฮลิโอสเฟียร์ เรียกว่า "โบว์ช็อก"

วอยเอเจอร์ 1 และวอยเอเจอร์ 2 มีภารกิจสำรวจดาวเคราะห์ขนาดยักษ์ 4 ดวง ได้แก่ ดาวพฤหัสบดี ดาวเสาร์ ดาวยูเรนัสและดาวเนปจูน โดยเป็นยานอวกาศลำที่ 3 กับ 4 ที่เดินทางออกนอกระบบสุริยะ ต่อจากยานไพโอเนียร์ 10 และไพโอเนียร์ 11
 

เนื้อหาโดย: 9engineer.com (https://9engineer.com/)