อินโดฯ เรียกร้องค่าเสียหาย 70,000 ล้านบาท จาก ปตท.สผ. กรณีน้ำมันรั่วไหลในทะเลติมอร์
โดย : Admin

 มติชนออนไลน์ 
25 สิงหาคม  2553 

 

           สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า แหล่งข่าวรัฐบาลอินโดนีเซียเปิดเผยว่า อินโดนีเซียมีแผนที่จะเรียกร้องค่าชดเชยจำนวน 20 ล้านล้านรูเปียห์ (2.23 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ) หรือราว 70,000 ล้านบาท เป็นอย่างต่ำ จากบริษัท ปตท. สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) (ปตท.สผ.) จากกรณีทำน้ำมันรั่วไหลลงสู่ทะเลติมอร์


"เราได้ตัวเลขสุดท้ายของการเรียกร้องเงินชดเชยแล้ว ซึ่งจะสูงกว่า 20 ล้านล้านรูเปียห์ โดยประมาณ" แหล่งข่าวของอินโดนีเซียกล่าว
"นี่คือตัวเลขที่เราจะเสนอไป เราเข้าใจว่าเราจำเป็นต้องพิสูจน์ข้อเรียกร้องนี้บนพื้นฐานของข้อโต้แย้งทางวิทยาศาสตร์"

 เจ้าหน้าที่ของปตท.สผ. และตัวแทนของรัฐบาลอินโดนีเซียมีแผนจัดการประชุมที่เมืองเพิร์ธ ประเทศออสเตรเลีย เพื่อหารือเกี่ยวกับค่าชดเชย สำหรับเหตุน้ำมันรั่วไหลครั้งที่เลวร้ายที่สุดในประวัติศาสตร์ของออสเตรเลีย

 

โดยหนังสือพิมพ์จาการ์ตา โพสต์ รายงานเมื่อวานนี้ว่า อินโดนีเซียจะเรียกร้องค่าชดเชย 784 ล้านดอลลาร์ ซึ่งสูงกว่าตัวเลขเบื้องต้นที่ 55 ล้านดอลลาร์ ที่อินโดนีเซียเรียกร้องให้ปตท.สผ. ชดเชยเป็นค่าเสียหายให้แก่ประชาชนในท้องถิ่นและชาวประมงในพื้นที่ดังกล่าว

 

โดยนายอานนท์ สิริแสงทักษิณ ประธานเจ้าที่บริหาร และกรรมการผู้จัดการใหญ่ ของ ปตท.สผ. เผยว่า ขณะนี้ยังไม่มีหลักฐานบ่งชี้ ในการจ่ายค่าชดเชยความเสียหาย จากกรณีโครงการมอนทารา ในออสเตรเลีย แม้ล่าสุดมีข่าวว่า ทางการอินโดนีเซียจะเรียกร้องค่าเสียหายดังกล่าวจากบริษัทฯก็ตาม

 

นายอานนท์กล่าวว่า ขณะนี้ทางการอินโดนีเซีย ยังไม่ได้เรียกร้องความเสียหายดังกล่าวจากกลุ่มบริษัท ซึ่งคาดว่าอาจมีตัวแทนไปเรียกร้องกับบริษัทย่อย ซึ่งเป็นผู้ดำเนินโครงการมอนทาราในวันพรุ่งนี้ (26 สค.)

 

"เรื่องนี้(การเรียกร้องค่าเสียหาย) ต้องมีหลักฐาน มีขั้นตอน การเรียกร้องต้องมีข้อเท็จจริงสนับสนุน วันนี้ไม่มี ตอนเกิดเหตุเราได้ทำการสำรวจ และเก็บข้อมูลมาตลอด และเชื่อว่าจะไม่มี" นายอานนท์กล่าวกับรอยเตอร์

 

เขากล่าวว่า บริษัทยังรอรายงานสรุปกรณีโครงการมอนทารา จากรัฐบาลออสเตรเลียก่อน ซึ่งขณะนี้ยังไม่มีความคืบหน้า 

โครงการมอนทาราตั้งอยู่ในพื้นที่ประเทศออสเตรเลีย ซึ่งถือหุ้นทั้งหมดโดยบริษัทย่อยของ ปตท.สผ. ขณะที่โครงการดังกล่าวยังไม่ได้เริ่มดำเนินการผลิต แต่จากเหตุน้ำมันและก๊าซธรรมชาติรั่วไหล รวมถึงเพลิงไหม้แท่นขุดเจาะ ทำให้ต้องเลื่อนการผลิตปิโตรเลียมจากโครงการดังกล่าวเป็นครึ่งหลังของปี 2011 จากเดิมที่จะเริ่มตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน ปี 2009

 

 

 

เนื้อหาโดย: 9engineer.com (https://9engineer.com/)