ผู้บริโภคหลายๆ ท่าน อาจเคยผ่านตา มองเห็น "ฉลากเพื่อสิ่งแวดล้อม" เวลาไปเดินจับจ่ายซื้อสินค้าตามร้านค้าทั่ว ไป ล่าสุด ชมรมนักข่าวสิ่งแวดล้อม จัดงานสัมมนาเผยแพร่ความรู้ในประเด็นดังกล่าว ระบุ ว่า ปัจจุบัน "ฉลากเพื่อสิ่งแวดล้อม" แบ่งเป็น 3 ประเภท
1. ฉลากเขียว มีสีเขียวสมชื่อ ใช้บ่งบอกว่าผลิตภัณฑ์ยี่ห้อนั้นมีคุณภาพและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยมีคณะอนุกรรมการจากกระ ทรวงอุตสาหกรรมคอยตรวจรับรองคุณภาพ ตั้งแต่กระบวนการออกแบบ ผลิต ใช้งาน กระทั่งจบสิ้นที่การทิ้งทำลายว่ามีอัตราปล่อยก๊าซเรือนกระจก หรือคาร์บอนไดออกไซด์ มากเกินความจำเป็นหรือไม่
2. ฉลากลดคาร์บอน หรือ ฉลากแสดงการลดระดับการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของผลิตภัณฑ์นั้นๆ ลง เมื่อเทียบกับปี 2545 ที่โรงงานเคยปล่อย โดยหากผลประเมินพบว่าสินค้านั้นมีกระบวนการผลิตที่ปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกน้อยลงร้อยละ 10 จะถือว่าผ่านเกณฑ์
3. ฉลากน้องใหม่ "คาร์บอนฟุตพรินต์" ซึ่งเป็นฉลากแสดงตัวเลขของปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่เกิดขึ้นตลอดวัฏจักรชีวิตของผลิต ภัณฑ์ที่โรงงานผลิต
กระแสรักษ์โลกเป็นประเด็นที่นานาชาติต่างตื่นตัวกันมานาน แต่สำหรับประเทศไทยนักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมกลับส่ายหัวกันเป็นทิวแถว เพราะไม่เห็นวี่แววที่น่าชื่นใจ
นางสาวพรรรัตน์ เพชรภักดี ผอ.สถาบันสิ่งแวดล้อมอุตสาหกรรม สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย แลกเปลี่ยนประสบการณ์ ว่า
ตลอดช่วงกว่า 10 ปีแรกทีมงานเน้นกลุ่มเป้าหมายเป็นประชาชนทั่วไป แต่ผลตอบรับกลับไม่เป็นไปตามเป้าเนื่องจากประชาชนไม่เห็นความสำคัญของการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม มองเห็นเป็นเรื่องไกลตัว จึงต้องเปลี่ยนแผนใหม่เป็นการขอความร่วมมือจากภาคอุตสาหกรรม นอกจากนั้น ช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา เทรนด์อนุรักษ์สิ่งแวดล้อมกำลังมาแรงทำให้การทำงานของหน่วยงานง่ายขึ้น
อุตสาหกรรมหลายแห่งเสนอตัวขอรับการตรวจสอบเพื่อให้ได้ "ฉลากเพื่อสิ่งแวดล้อม" นำไปใช้โฆษณา ส่งเสริมการขาย และเอื้อให้ผลิตภัณฑ์สามารถส่งออกได้
สำหรับภาครัฐในปี 2551 รัฐบาลมีนโยบายส่งเสริมให้หน่วยงานจัดซื้อจัดจ้างสินค้าที่ได้รับ "ฉลากเพื่อสิ่งแวดล้อม"
ด้าน ดร.พงษ์วิภา หล่อสมบูรณ์ ผอ.สำนักตลาดคาร์บอน องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก ให้ความเห็นว่า เหตุที่ประชาชนไทยยังไม่ตระหนักถึงความสำคัญของสิ่งแวดล้อม เพราะยังขาดความเข้าใจอยู่มาก และมีทัศนคติด้านลบกับสินค้าสีเขียวว่าต้องมีราคาแพง ทั้งๆ ที่ร้อยละ 80-90 ของสินค้ามีราคาปกติเมื่อเทียบกับสินค้าประเภทเดียวกัน
ทางแก้ปัญหา คือ รัฐบาลต้องกำหนดนโย บายการผลิตสินค้าของภาคอุตฯ ให้ชัดเจน และกระตุ้นให้ประชาชนใช้สินค้าเพื่อสิ่งแวดล้อมอย่างจริงจัง ยิ่งเมื่อกระทรวงทรัพยากรธรรม ชาติฯ เตรียมผลักดันให้ประเทศไทยเป็น "สังคมคาร์บอนต่ำ" โจทย์ใหญ่ที่ยิ่งต้องแก้คือภาคประ ชาชนมีความรู้ความเข้า ใจเพียงพอแล้วหรือยัง
นายวรศาสตร์ อภัยพงษ์ รองอธิบดีกรมควบคุมมลพิษ กล่าวว่า แม้ร้อยละ 56 ของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกมาจากกระบวนการผลิต แต่โจทย์ใหญ่คือการเปลี่ยนจิตสำนึกของประชาชน เพราะหากมีกำลังซื้อก็ย่อมมีกำลังขาย ดังนั้น จึงเรียกร้องให้ทุกภาคส่วนเดินหน้าอนุรักษ์ธรรมชาติไปพร้อมๆ กัน ไม่ต้องรอใครอื่น เริ่มจากตัวของเราเอง
หากผู้บริโภคไม่ทราบว่าจะหาซื้อผลิตภัณฑ์ที่มีตราสัญลักษณ์เพื่อสิ่งแวดล้อมได้ที่ไหน เร็วๆ นี้ห้างสรรพสินค้าคาร์ฟูร์ และร้านสะดวกซื้อเซเว่น อีเลฟเว่น กำลังเตรียมจัดมุมพิเศษสำหรับสินค้าเพื่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งมีราคาถูกและคุณภาพทัดเทียมกับสินค้าทั่วไปต่อไป
|