ที่มา: หนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ
ที่ผ่านมา ประเทศกำลังพัฒนาอย่าง จีน อินเดีย เวียดนาม ตุรกี เม็กซิโก สามารถสร้าง "ที่ยืน" ในแผนที่อุตสาหกรรมรถยนต์โลกได้อย่างน่าทึ่ง และมีแนวโน้มที่จะสร้างความเปลี่ยนแปลงที่สำคัญให้แก่แวดวงรถยนต์ในอนาคตต่อไป "วอลล์สตรีต เจอร์นัล" รายงานว่า ค่ายรถยักษ์ใหญ่ของโลกหลายแห่งเริ่มปรับโฟกัสประเทศกำลังพัฒนา โดยเปลี่ยนจากการให้ความสำคัญเรื่องต้นทุนการผลิตที่ต่ำเพียงอย่างเดียว มาเป็น การตั้ง "ศูนย์วิศวกรรม" เพื่อพัฒนางานดีไซน์ไปพร้อมกับการใช้ต้นทุนการผลิตในระดับต่ำ ซึ่งจะเป็นการเปลี่ยนโฉมอุตสาหกรรมยานยนต์ของโลกครั้งสำคัญ |
หลายปีที่ผ่านมา ผู้ผลิตรถยนต์หลายค่ายต่างก็พยายามลดรายจ่ายในการผลิต ด้วยการตั้ง โรงงานประกอบเครื่องในประเทศที่มีต้นทุนการผลิตต่ำอย่าง รัสเซีย ตุรกี และเม็กซิโก
แต่ปัจจุบัน บริษัทเหล่านี้เริ่มหันมาตั้งหน่วยงานด้านการออกแบบและวิศวกรรม (design and engineering operations) ที่ต้องใช้ทักษะระดับสูงในประเทศกำลังพัฒนามากขึ้น แทนที่จะไปตั้งในประเทศพัฒนาแล้วอย่าง สหรัฐ เยอรมนี และญี่ปุ่นเหมือนเมื่อก่อน
ยกตัวอย่าง "นิสสัน มอเตอร์" ค่ายรถยนต์จากแดนอาทิตย์อุทัย ซึ่งมองประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นกุญแจสำคัญในยุทธศาสตร์การลดต้นทุนการพัฒนารถยนต์ของบริษัท และแข่งขันกับผู้ผลิตรถยนต์จากประเทศจีนและอินเดียที่เริ่มมีบทบาทมากขึ้นเรื่อยๆ
ขณะนี้นิสสันกลายเป็นหนึ่งในค่ายรถยนต์ระดับบิ๊กที่ตัดสินใจย้ายงานด้านวิศวกรรมไปยังประเทศกำลังพัฒนา
โดยย้ายไปตั้งศูนย์วิศวกรรมในเมืองฮานอยของเวียดนาม ซึ่งมีทีมงานวิศวกรชาวเวียดนามกว่า 700 คนทำหน้าที่ออกแบบชิ้นส่วนรถยนต์พื้นฐาน ตั้งแต่ท่อส่งน้ำมัน ไปจนถึงท่อไอเสียรถ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของงานออกแบบในศูนย์วิศวกรรมใหญ่ในญี่ปุ่น
ทั้งนี้ วิศวกรชาวเวียดนามได้รับค่าจ้างราว 200 ดอลลาร์ต่อเดือน ซึ่งคิดเป็น 1 ใน 10 ของวิศวกรที่ทำงานในญี่ปุ่น
ขณะที่ "ฮอนด้า มอเตอร์" ยักษ์รถยนต์จากญี่ปุ่นอีกราย ประกาศเมื่อปีที่แล้วว่า บริษัทมีแผนจะสร้างศูนย์พัฒนา (development center) ในเมืองกวางโจว ประเทศจีน
ส่วนเมื่อเดือนที่แล้ว "ไครสเลอร์" ระบุว่า เตรียมจะย้ายงานด้านการพัฒนามาลงหลักปักฐานในประเทศที่มีต้นทุนการผลิตต่ำ เช่นเดียวกับ "เจเนอรัล มอเตอร์" (จีเอ็ม) ที่ใช้ทีมงานในจีนออกแบบตกแต่งรถบูอิก (Buicks) ที่จะจำหน่ายในสหรัฐ
"อลัน ทาอับ" ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและพัฒนาของจีเอ็ม กล่าวว่า การลดต้นทุน และความต้องการขายสินค้าในตลาดท้องถิ่น เป็นเรื่องที่ผลักดันให้บริษัทต้องย้ายงานด้านพัฒนาผลิตภัณฑ์ไปยังประเทศจีน
เพราะบริษัทพบว่า ผู้ใช้รถชาวจีนต้องการรถยนต์ที่มีที่นั่งแบบตั้งตรง เพื่อให้มีพื้นที่ใช้สอยกว้างขวางและสะดวกสบายมากขึ้น เมื่อเทียบกับความต้องการของชาวอเมริกัน เนื่องจากผู้ซื้อรถชาวจีนจำนวนมากมักจะมีโชเฟอร์ขับรถให้
ดังนั้น หากคุณพยายามจะผลิตสินค้านอกพื้นที่ที่จะวางขาย คุณอาจจะมองข้ามจุดนี้ไป
"คาร์ลอส กอส์น" ประธานบริหารของนิสสัน และเรโนลต์กล่าวว่า หากคุณจ้างวิศวกรในฮานอยแทนที่จะจ้างวิศวกรในญี่ปุ่น คุณจะสามารถประหยัดต้นทุนได้มาก
สำหรับรถยนต์แบรนด์ "เรโนลต์" นั้นใช้วิศวกรชาวโรมาเนียในการพัฒนารถยนต์รุ่น "โลแกน" (Logan) ซึ่งเป็นรถขนาดเล็กที่จำหน่ายในยุโรปและเอเชีย โดยรถยนต์รุ่นนี้มีสนนราคาอยู่ที่ประมาณ 13,000-14,500 ดอลลาร์
และเมื่อเร็วๆ นี้ "กอส์น" ก็ตกลงที่จะจับมือกับบริษัทรัสเซียชื่อ "โอเอโอ แอฟโทวาซ" ในการใช้วิศวกรรัสเซียที่มีราว 4,000 คน เพื่อจะลดต้นทุนการพัฒนาของทั้งเรโนลต์และนิสสันลง
นอกจากนี้ยังมีแผนจะตั้งศูนย์วิศวกรรมในเมืองเชนไนของอินเดีย เพื่อจะพัฒนารถยนต์ที่สามารถวางขายในตลาดกำลังพัฒนาที่ระดับราคา 3,000 ดอลลาร์ หรือต่ำกว่านั้น
เช่นเดียวกับศูนย์เทคโนโลยีของนิสสันในเมืองโทลูกาของเม็กซิโกก็กำลังเน้นพัฒนารถยนต์ ขนาดเล็กรุ่น "เวอร์ซา" และ "เซนทรา" ที่จำหน่ายในตลาดสหรัฐ ขณะที่ก่อนหน้านี้ตั้งใจจะตั้งศูนย์ในรัฐมิชิแกนของสหรัฐ
ทั้งนี้ นิสสันสร้างศูนย์พัฒนาในประเทศกำลังพัฒนาที่มีต้นทุนการผลิตต่ำ โดยคัดเลือกจากพื้นที่ที่บริษัทมีโรงงานประกอบเครื่องอยู่แล้ว รวมทั้งมีการทำตลาดในประเทศนั้นๆ ด้วย
น่าสนใจว่า นิสสันพยายามจะปรับเปลี่ยน เพื่อประหยัดรายจ่ายหลายร้อยล้านดอลลาร์ และมองว่านี่เป็นวิธีที่จะทำให้บริษัทอยู่รอดได้ท่ามกลางสมรภูมิที่ราคารถยนต์ในตลาดกำลังพัฒนาลดลงอย่างรวดเร็ว
นั่นเป็นสิ่งที่อธิบายถึงความพยายามของทีมงานในเชนไนที่จะออกแบบรถยนต์ให้สามารถ แข่งขันกับรถยนต์ที่ถูกที่สุดในโลก "ตาต้า นาโน" ของค่ายตาต้า มอเตอร์ส ที่มีราคาเพียง 2,500 ดอลลาร์
"กอส์น" เชื่อว่า การย้ายงานด้านพัฒนาไปยังประเทศที่มีต้นทุนต่ำจะไม่ส่งผลกระทบต่องานในประเทศที่พัฒนาแล้วอย่างญี่ปุ่นและสหรัฐ
แต่เขาก็ยอมรับว่า จำนวนการจ้างงานด้านวิศวะในประเทศอุตสาหกรรมอาจจะขยายตัวช้ากว่าในอดีต เทียบกับในประเทศกำลังพัฒนาที่จะเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว
นอกจากนี้ ระบบอินเทอร์เน็ตและเครือข่ายความเร็วสูงจะช่วยเชื่อมโยงการทำงานระหว่างห้องแล็บและวิศวกรที่อยู่ห่างไกลกัน
อย่างไรก็ตาม การปรับเปลี่ยนภูมิทัศน์ของ ค่ายรถยนต์ดังกล่าวก็มีความเสี่ยงเช่นกัน อาทิ กรณีของนิสสันที่ต้องเผชิญกับความท้าทาย จากการขาดประสบการณ์ของบรรดาวิศวกรจบใหม่ในเวียดนามและประเทศกำลังพัฒนาอื่นๆ
"มิตสุฮิโกะ ยามาชิตะ" หัวหน้าฝ่ายวิศวกรรมและเทคโนโลยีของนิสสัน มองว่า มีความเป็นไปได้ที่บริษัทจะให้วิศวกรจบใหม่ออกแบบรถยนต์ในขั้นก้าวหน้าต่อไป โดยใช้คอมพิวเตอร์มาเป็นเครื่องมือช่วย ซึ่งแม้จะช่วยเติมช่องว่างเรื่องความรู้ให้แก่วิศวกรจบใหม่ได้
แต่การพึ่งพา "วิศวกรรมเสมือน" (virtual engineering) มากเกินไปก็อาจทำให้เกิดปัญหาเรื่องคุณภาพตามมาได้