ครม.ไฟเขียวตั้งศูนย์ให้คำปรึกษาแก้ปัญหามาบตาพุด ก.อุตฯเร่งช่วยเหลือ 30โครงการหาช่องยื่นศาลใหม่
โดย : Admin

 

  มติชนออนไลน์
26 มกราคม 2553

 

 

ครม.ไฟเขียวตั้งศูนย์ให้คำปรึกษาแก้ปัญหามาบตาพุด ก.อุตฯเร่งช่วยเหลือ 30โครงการหาช่องยื่นศาลใหม่

ครม.ไฟเขียวตั้งศูนย์ให้คำปรึกษาแก้ปัญหามาบตาพุด มีผู้แทน3กระทรวงให้คำแนะนำการทำรายงานเอชไอเอ อนุมัติตั้งคณะทำงานกลาง ประสาน-ช่วยเหลือผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบ ก.อุตสาหกรรมเร่งช่วยเหลือ 30โครงการ ที่ศาลยกคำร้อง หาช่องทางยื่นใหม่

 
นพ.พรหมมินทร์ ลีธีระประเสริฐ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงผลการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 26 มกราคม ว่าที่ประชุมมีมติเห็นชอบให้จัดตั้งศูนย์บริการให้คำปรึกษาปัญหาตามมาตรา 67 วรรค 2 ของรัฐธรรมนูญ ที่ศูนย์ประสานการบริการด้านการลงทุน (OSOS) โดยมีผู้แทนที่มีความรู้จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาอยู่ประจำ ทั้งกระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม(ทส.) และกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) เพื่อให้คำปรึกษาแก่โครงการที่จะยื่นคำร้องชี้แจงข้อมูลเพิ่มเติมต่อศาล ให้คำแนะนำรายละเอียดและขั้นตอนการดำเนินการในการจัดทำรายงานผลกระทบด้านสุขภาพ(เอชไอเอ) แก่โครงการที่อยู่ระหว่างคำสั่งคุ้มครองชั่วคราว และให้ข้อมูลรายละเอียดและขั้นตอนการดำเนินการในการจัดทำรายงานเอชไอเอแก่โครงการอื่นๆ 

 
นพ.พรหมมินทร์ กล่าวว่า ที่ประชุมยังได้จัดตั้งคณะทำงานกลางคือ คณะกรรมการประสานงานและให้ความช่วยเหลือกับผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากรัฐธรรมนูญมาตรา 67 วรรค 2 เพื่อหาข้อสรุปในแนวทางดำเนินการตามมาตรา 67 วรรค โดยมีนายกอร์ปศักดิ์ สภาวสุ เลขาธิการนายกรัฐมนตรี เป็นที่ปรึกษา นายสรยุทธ์ เพ็ชรตระกูล ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เป็นประธาน และมีผู้แทนจากกระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และกระทรวงสาธารณสุข โดยให้กระทรวงอุตสาหกรรมเป็นฝ่ายเลขานุการ 

 
นายชาญชัย ชัยรุ่งเรือง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า กระทรวงอุตสาหกรรมได้รายงาน ครม.ถึงความคืบหน้าการแก้ปัญหาในพื้นที่มาบตาพุด พร้อมทั้งรายงานคำสั่งศาลปกครองที่ยกเลิกคำร้อง 30 โครงการที่ยื่นขอผ่อนผัน ทั้งนี้คณะกรรมการประสานงานฯ จะเร่งรวบรวมข้อมูลคำร้องจากผู้ประกอบการทั้ง 30 โครงการ เพื่อหาแนวทางช่วยเหลือต่อไป

 
ด้านนายสรยุทธ กล่าวว่า ภายในสัปดาห์นี้คณะกรรมการประสานงานฯจะเรียกประชุมผู้ประกอบการทั้ง 30 โครงการ เพื่อดูว่าคำรองที่ยื่นต่อศาลว่า มีเหตุผลเช่นไรและตรงกับที่รัฐบาลเคยเสนอหรือไม่ ซึ่งสั่งการให้การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(กนอ.) และกรมโรงงานอุตสาหกรรม(กรอ.) ประสานขอคำร้องดังกล่าว ซึ่งมีผู้ประกอบการยื่นเอกสารคำร้องให้แล้วประมาณ 4 ราย จากนั้นคณะกรรมการจะประชุมเพื่อหาแนวทางให้กับ 30 โครงการ โดยอาจมีการยื่นไปยังศาลอีกครั้งหากโครงการเหล่านั้นมีเหตุผลใหม่และเพียงพอที่จะขอต่อศาล เพราะการยื่นผ่อนผันสามารถทำได้ตลอด นอกจากนี้ปัญหาที่ทุกโครงการเผชิญอยู่คือ ปัญหาด้านการเงินและแรงงาน คณะกรรมการจะต้องเร่งหามาตรการเร่งด่วนเพื่อบรรเทาให้กับผู้ประกอบการ
 
นายสรยุทธกล่าวว่า สำหรับประเด็นความห่วงใยที่มีต่อนักลงทุนรายใหม่นั้น ทราบว่ากระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมได้จัดทำประกาศกระทรวงทรัพย์ฯเรื่องกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ ระเบียบปฏิบัติและแนวทางการทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมสำหรับโครงการที่กระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรงเป็นภาษาอังกฤษ ซึ่งอยู่ในขั้นตอนให้คณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจถ้อยคำ คาดว่าจะเสร็จภายใน 10 วัน โดยประกาศดังกล่าวจะเผยแพร่ให้นักลงทุนต่างชาติเพื่อให้เข้าใจแนวทางการปฏิบัติและสร้างความมั่นใจให้กับการลงทุนของประเทศ

 
วันเดียวกัน สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.) มีการประชุมคณะกรรมการประสานงานการจัดการสิ่งแวดล้อมอุตสาหกรรมเขตควบคุมมลพิษ จ.ระยอง โดย นายพยุงศักดิ์ ชาติสุทธิผล รองประธาน ส.อ.ท. เปิดเผยว่า ส.อ.ท.ได้เชิญผู้เกี่ยวข้องในพื้นที่มาบตาพุด โดยเฉพาะ 30 โครงการที่ยื่นขอผ่อนผันและศาลมีคำสั่งยกเลิกคำร้องเข้าหารือ ซึ่งที่ประชุมมีมติให้นำข้อเสนอจากการประชุมครั้งนี้เสนอนายกรัฐมนตรี ในการประชุมกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชน(กรอ.) วันที่ 27 มกราคมนี้ รวม 4 ข้อ คือ


1.รัฐต้องผลักดันการแก้ปัญหาตามคำสั่งศาลอย่างเร่งด่วน โดยนายกรัฐมนตรีควรมีคำสั่งให้หน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องดำเนินการ ดังนี้
1.1 สำนักงานคณะกรรมการนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม(สผ.) ชี้ชัดว่าโครงการใดบ้างจาก 64 โครงการที่ถูกระงับไม่จำเป็นต้องทำรายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม(อีไอเอ)

1.2 การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(กนอ.) กรมโรงงานอุตสาหกรรม(กรอ.) และหน่วยงานอื่นๆที่มีอำนาจในการออกใบอนุญาต ตีความและให้ความชัดเจนเรื่องใบอนุญาต

1.3 นายกรัฐมนตรีสั่งการให้ภาครัฐและเอกชน ดำเนินการเพื่อหาข้อสรุปร่วมกันภายในกรอบเวลาที่กำหนด 15 วัน

1.4 กำหนดเจ้าหน้าที่รับผิดชอบให้คำแนะนำแก่ผู้ประกอบการในการดำเนินงานตามที่ศาลมีคำสั่งทั้ง 4 ประเด็น

1.5 กำหนดให้หน่วยงานของรัฐทั้ง สผ. กรอ. กนอ. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่ดำเนินงานไปในทิศทางเดียวกัน เช่น กรณีที่ สผ.ชี้ชัดว่าไม่ต้องทำอีไอเอ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องมีการนำข้อมูลไปใช้ประกอบในการอนุญาตต่อไป

1.6 ให้หน่วยงานรัฐเร่งวินิจฉัยและปฏิบัติตามกรอบกฎหมายอำนาจและหน้าที่ในปัจจุบัน เช่น หากเป็นโครงการที่ไม่เข้าข่าย 8 กิจการตามประกาศกระทรวงอุตสาหกรรมก็ให้สามารถดำนินการต่อไปได้


2.ในกรณีที่โครงการไม่เข้าข่ายตามกฎหมาย หน่วยงานของรัฐสามารถวินิจฉัยเพื่อให้โครงการดำเนินต่อไปได้เลย แต่กรณีที่มีความจำเป็นต้องยื่นต่อศาลให้เป็นหน้าที่ของหน่วยงานรัฐยื่นคำร้องต่อศาลเพื่อยกเลิกการคุ้มครอง

3.ผลักดันกระบวนการตามมาตรา 67 วรรค 2 ให้เร็วขึ้น ตามกรอบที่กำหนดให้เสร็จภายใน 5 เดือน และ

4.ผลักดันให้กระบวนการจัดตั้งองค์การอิสระแล้วเสร็จโดยเร็ว

"ขณะนี้ผู้ประกอบการจึงไม่แน่ใจเป็นเพราะอะไร เหตุใดศาลจึงยกคำร้องครั้งนี้ ทั้งที่ข้อมูลคำร้องที่ผู้ประกอบใช้ยื่นต่อศาลปกครองกลางนั้น ประกอบด้วย การเทียบเคียง 11 โครงการที่หลุดไปแล้วในครั้งแรก" นายพยุงศักดิ์กล่าว
เนื้อหาโดย: 9engineer.com (https://9engineer.com/)