เป็นอีกปัญหาหนึ่งที่แก้กันไม่ตกสักที ไม่ว่าจะหยิบยกมาคุยเมื่อใดก็ต้องเป็น "เรื่อง" แทบทุกครั้งไป โดยเฉพาะกับ "โรงไฟฟ้านิวเคลียร์" ที่ประเทศไทยยังไม่เคยมีประสบการณ์มาก่อน แต่ทางกระทรวงพลังงานได้ออกมาบอกว่า โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ถือเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องเริ่มตั้งแต่วันนี้ เพราะหากวันนี้ยังไม่ทำก็ไม่รู้ว่าเมื่อไหร่จะได้เริ่ม และยังเป็นการเตรียมพร้อมเพื่อรองรับความต้องการใช้ไฟฟ้าของประเทศที่เพิ่มขึ้นทุกวันด้วย
ทั้งนี้ เดิมปี 19 รัฐบาลได้อนุมัติให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ก่อสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ขนาด 600 เมกะวัตต์ ที่อ่าวไผ่ อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี แต่ได้มีการคัดค้านจากประชาชน ทำให้รัฐบาลตัดสินใจล้มเลิกโครงการไปในที่สุด จนเมื่อช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ที่ราคาน้ำมันทุบสถิติทำราคาน้ำมันพุ่งไปอยู่ที่ระดับ 147 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล เกินความคาดหมายทั้งหลายทั้งปวงไปอย่างแทบไม่น่าเชื่อ เรียกว่างานนี้เป็นการตบหน้าบรรดากูรูด้านพลังงานจนหน้าแตกเย็บไม่ติดทีเดียว
งานนี้ก็เลยกลายเป็นบทเรียนสอนใจไม่ให้ตั้งอยู่ในความประมาท ซึ่งทำให้รัฐบาลหันมาเห็นความสำคัญของการพัฒนาโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ขึ้นมาอีกรอบ เพื่อใช้เป็นทางเลือกสุดท้ายในยามราคาน้ำมันกลับมาทะยานอีกครั้ง เพราะไม่มีการเตรียมพร้อมรับมือไว้แต่เนิ่นๆ หากราคาน้ำมันกลับมาสูงอีกครั้งจะทำกันอย่างไรต่อไป หรือว่าถึงเวลานั้นคนไทยที่เคยชินกับการช่วยอุดหนุนราคาน้ำมันให้ได้ใช้กันในราคาต่ำกว่าความเป็นจริง จะยอมก้มหน้าก้มตายอมรับชะตากรรมกันตาปริบๆ
โดยกระทรวงพลังงานได้มีการบรรจุแผนก่อสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ไว้ในปี 63 ซึ่งเป็นช่วงท้ายของแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้า (พีดีพี) ที่ไทยมีแผนก่อสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์เพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าจำนวน 2 พันเมกะวัตต์ เพื่อใช้เป็นแหล่งไฟฟ้าประมาณ 5% ของความต้องการใช้ไฟฟ้าทั้งหมด ซึ่งหากรวมโรงไฟฟ้านิวเคลียร์เข้าเป็นหนึ่งในแหล่งพลังงานแล้ว ก็จะทำให้ได้ต้นทุนไฟฟ้าต่อหน่วยต่ำที่สุด คือ 2.08 บาทต่อหน่วย เมื่อเทียบกับต้นทุนการผลิตไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าถ่านหิน 2.11 บาทต่อหน่วย และจากพลังงานแสงอาทิตย์ 20.20 บาทต่อหน่วย
แต่ล่าสุด สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) ได้ทำตัวเลขพยากรณ์ความต้องการใช้ไฟฟ้าที่จะนำไปใช้เป็นข้อมูลในการทำแผนพีดีพีใหม่ให้สอดคล้องกัน ซึ่งมีความเป็นไปได้ที่แผนพีดีพีของประเทศรอบใหม่อาจมีการปรับลดกำลังการผลิตไฟฟ้า โดยเฉพาะโรงไฟฟ้าถ่านหินและโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ เพราะต้องยอมรับว่าแผนการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินและนิวเคลียร์มีข้อจำกัดค่อนข้างมาก ทั้งการหาพื้นที่ก่อสร้างที่ไม่เป็นที่ยอมรับของชุมชน ประกอบกับสภาพเศรษฐกิจที่ชะลอตัว จึงทำให้ความจำเป็นในการเพิ่มกำลังการผลิตไฟฟ้าลดลงตามไปด้วย
ทั้งนี้ ในการทบทวนแผนพีดีพีใหม่นี้ จำเป็นต้องมีการปรับรูปแบบการเปิดรับฟังความคิดเห็นให้เปิดกว้างมากขึ้น โดยจะเริ่มจากการจัดสัมมนากลุ่มย่อย เพื่อให้มีการระดมความคิดเห็นจากทุกภาคส่วน เช่น ตัวแทนนักวิชาการ ผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสีย กลุ่มองค์กรเอกชน (เอ็นจีโอ) และประชาชนทั่วไป หลังจากนั้นก็จะรวบรวมความคิดเห็นที่ได้มาทำประชาพิจารณ์รอบใหม่ เพื่อนำไปสู่การจัดทำแผนพีดีพี 2009 ที่จะสรุปภายในปี 52 นี้
อย่างไรก็ตาม แผนพีดีพีฉบับปรับปรุงครั้งที่ 2 เมื่อเดือน มี.ค.ที่ผ่านมา กำหนดให้ปริมาณกำลังผลิตไฟฟ้าสำรองของประเทศอยู่ในระดับที่เหมาะสมกับเศรษฐกิจชะลอตัว และลดภาระการลงทุนโครงการผลิตไฟฟ้าและระบบสายส่ง โดยในปี 52-58 จะมีกำลังผลิตไฟฟ้าใหม่เพิ่มขึ้น 12,605 เมกะวัตต์ และปี 53-64 มีกำลังไฟฟ้าผลิตเพิ่มขึ้น 17,550 เมกะวัตต์
อนาคตอีก 10 ปีข้างหน้า คนไทยจะมีโอกาสได้เห็นโรงไฟฟ้านิวเคลียร์แห่งแรกเกิดขึ้นในไทย หรือไม่นั้นก็คงต้องรอลุ้นกันล่ะว่า สุดท้ายแล้วเราจะมีทางออกที่ดีไปกว่าการสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ที่ยังมีปัญหาการไม่ยอมรับของคนในชุมชนอยู่หรือไม่.
ขอขอบคุณที่มาของแหล่งข่าว