โดย : SMEs Creative By iTAP
29 ตุลาคม 2552
iTAP แนะทักษะความรู้ให้ “หมอเลื่อย” วิเคราะห์โรคไม้ รู้จักปรับปรุงแก้ไข ลดการสูญเสียวัตถุดิบ หวังพัฒนาอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์ไม้ของไทย
นายสันทัด แสงกุล ผู้เชี่ยวชาญด้านอุตสาหกรรมไม้ ปัจจุบันเป็นอาจารย์พิเศษ ภาควิชาเทคโนโลยีวิศวกรรมอุตสาหการ วิทยาลัยเทคโนโลยีอุตสาหกรรม มหาวิทยาลัยพระจอมเกล้าพระนครเหนือ หนึ่งในผู้เชี่ยวชาญซึ่งเข้ามาเป็นวิทยากรของ iTAP ได้ร่วมให้ความรู้ในหัวข้อ “การใช้ใบเลื่อยสายพานหน้ากว้างกับเครื่องเลื่อยสายพาน”ว่า เลื่อยเป็นหัวใจของโรงงาน ถ้าการใช้งานเลื่อยไม่มีประสิทธิภาพ ผลผลิตและวัตถุดิบก็จะมีความเสียหายเกิดขึ้น ดังนั้นคนที่จะวินิจฉัยเกี่ยวกับการใช้เลื่อยเพื่อแปรรูปไม้ หรือ หมอเลื่อย(Saw Doctor) จึงเปรียบเหมือนคนที่ต้องรู้จักตั้งสมมุติฐาน วิเคราะห์โรคของไม้ และหาวิธีแก้ไข เพื่อปรับปรุงการทำงานให้มีประสิทธิภาพ ตลอดจนต้องดูแลกระทั่งนำใบเลื่อยไปใช้งานให้เกิดประโยชน์สูงสุด
“หากยังไม่เข้าใจถึงพื้นฐานการใช้ใบเลื่อย หรืองานเกี่ยวกับใบเลื่อย ซึ่งไม่ได้หมายถึงใครก็ได้ที่จ้างมาลับใบเลื่อย แต่ต้องรู้จักวิธีการสามารถวิเคราะห์ปัญหาแก้ไขได้ ถ้าหากรู้จักใช้อุปกรณ์ต่างๆอย่างมีประสิทธิภาพ จะสามารถแก้ไขปรับปรุงดูแล นั่นหมายถึง การเป็นหมอเลื่อยที่ดี”
ผู้เชี่ยวชาญด้านอุตสาหกรรมไม้ กล่าวว่า หลักในการใช้เลื่อยสายพานให้มีประสิทธิภาพสูงสุดนั้น จำเป็นต้องมีการตรวจสอบปัจจัยต่างๆที่เกี่ยวข้องในการปฏิบัติงานหรือจุดสำคัญในการบำรุงรักษาเลื่อยสายพาน เช่น การเดินเครื่องที่เรียบไม่มีการสั่นของเครื่องเลื่อย การตั้งใบเลื่อยและอุปกรณ์ที่ถูกต้อง อีกทั้งยังต้องคำนึงถึงความปลอดภัยในการปฏิบัติงาน ฯลฯ
นอกจากนี้ยังได้ให้ความรู้อีกว่า การนวดใบเลื่อยสายพาน เป็นเรื่องที่ช่างแต่งใบเลื่อยหลายคนคิดว่าเป็นงานที่ยุ่งยากมากที่สุดอย่างหนึ่ง โดยเฉพาะหากมีการเลื่อยไม้หลายชนิดปนกัน การนวดใบเลื่อยขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายอย่างที่ไม่สามารถกำหนดโดยกฎเกณฑ์หรือหลักสูตรใดๆได้ ช่างแต่งใบเลื่อยจะต้องได้รับการฝึกหัดเป็นอย่างดีพร้อมทั้งมีประสบการณ์ที่ยาวนาน
สาเหตุที่ต้องทำการนวดใบเลื่อย การนวดใบเลื่อยมีความหมายโดยทั่วไปว่าเป็นการขยายหรือยืดส่วนกลางของใบเลื่อยซึ่งทำให้เกิดบริเวณที่ต่อเนื่องกันโดยตลอดบนโต๊ะแท่นนวดใบเลื่อย โดยให้แรงอัดที่เหมาะสม ส่วนกลางของใบเลื่อยจะขยายตัวออกเป็นผลให้ส่วนหลังและส่วนคมฟันเลื่อยนั้นสั้นลง สำหรับเหตุผลการนวดใบเลื่อยสายพานคือ เพื่อให้ใบเลื่อยอยู่หน้ามู่เล่ซึ่งเป็นแบบหน้าเรียบหรือหน้าโค้งได้ และเพื่อให้หน้าฟันเลื่อยแข็งและแกร่ง เพื่อชดเชยการขยายตัวของเหล็กใบเลื่อยที่เกิดความร้อนในขณะทำการเลื่อยไม้
อาจารย์พิเศษภาควิชาเทคโนโลยีวิศวกรรมอุตสาหการ วิทยาลัยเทคโนโลยีอุตสาหกรรม มหาวิทยาลัยพระจอมเกล้าพระนครเหนือ กล่าวอีกว่า ปัญหาของอุตสาหกรรมไม้ในบ้านเราคือ ยังขาดคนที่มีทักษะความรู้ด้านนี้โดยเฉพาะ แทบจะนับคนได้ว่าเหลืออยู่เพียงไม่กี่คน อีกทั้งยังขาดสถานที่ในการฝึกอบรมให้ความรู้ด้านนี้เฉพาะทาง และสาเหตุหนึ่งคือเทคโนโลยีทั้งหมดมาจากต่างประเทศ
ดังนั้น iTAP จึงเป็นโครงการหนึ่งที่จะช่วยให้ผู้ประกอบการทราบถึงหลักการใช้งานเครื่องเลื่อยสายพานที่ถูกต้อง ทำให้สามารถใช้งานได้มีประสิทธิภาพ ลดความเสียหายของเครื่องเลื่อยสายพาน และใบเลื่อยสายพานหน้ากว้าง ยืดอายุการใช้งานของใบเลื่อย และส่งผลให้ชิ้นงานที่ได้มีคุณภาพดียิ่งขึ้นต่อไป ผู้ประกอบการที่สนใจขอรับความช่วยเหลือจากโครงการ iTAP ติดต่อได้ที่โทร.02-564-7000 ต่อ 1368 และ 1381
ขอขอบคุณที่มาของแหล่งข่าว