นายวัลลภ เตียศิริ ผู้อำนวยการสถาบันยานยนต์ กล่าวว่า ปี 2553 สถาบันตั้งเป้ายอดผลิตรถยนต์รวม 1.4 ล้านคัน สูงกว่าปี 2552 ที่คาดว่าจะอยู่ในระดับ 1 ล้านคัน แบ่งเป็นการผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศ 6.3 แสนคัน ส่งออก 7.7 แสนคัน ทั้งนี้การเพิ่มขึ้น ส่วนหนึ่งมาจากโครงการอีโค คาร์ ของนิสสัน ซึ่งจะเปิดตัวเป็นรายแรกในเดือนม.ค. และตั้งเป้าการผลิตไว้ 5 หมื่นคัน ส่วนที่เหลืออีก 5 ค่าย จะทยอยเปิดตัวจนหมดภายใน 2-3 ปี ทำให้มีกำลังการผลิตรวม 7 แสนคัน ซึ่งหาก อีโค คาร์ ประสบความสำเร็จ ก็จะส่งผลให้ภาคการผลิตอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยทำได้ 2 ล้านคัน ภายใน 3-4 ปี
นายวัลลภ กล่าวว่า สถาบันไม่อยากให้อีโค คาร์ สะดุด เพราะขณะนี้กระทรวงการคลังได้ขอให้มีการพิจารณามาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมการผลิตและการใช้รถยนต์นั่งประหยัดพลังงาน ประเภทพลังงานผสมชนิดพลังงานเชื้อเพลิงและไฟฟ้า หรือไฮบริด แต่ยังไม่ผ่านการพิจารณาจากคณะรัฐมนตรีที่เห็นว่าควรพิจารณารวมกับรถประเภทอื่นไปพร้อมกัน เช่น อีโค คาร์
"สถาบันฯ พร้อมทำงานร่วมกับสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) และทั้ง 3 กระทรวงคือ กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงพลังงาน และกระทรวงการคลัง เพื่อให้การพิจารณามาตรการภาษีส่งเสริมรถประหยัดพลังงาน สามารถศึกษาแล้วเสร็จทั้งระบบ ก่อนนำเสนอเข้า ครม. ภายในเดือนนี้"
นายวัลลภ กล่าวว่า หากนโยบายส่งเสริมรถไฮบริดที่ขณะนี้โตโยต้าลงทุนอยู่สะดุด ก็จะทำให้ค่ายอื่นที่สนใจผลิตรถไฮบริดต้องชะลอการลงทุนออกไป ทั้งนี้เห็นว่ารถประเภทนี้เหมาะสมที่จะลงทุนกับรถที่มีการผลิตในประเทศอยู่แล้ว (CKD) เพราะสามารถนำเทคโนโลยีเข้าไปรวมได้ เช่น โตโยต้า คัมรี่ ขณะที่ค่ายอื่นๆ เช่น ฮอนด้า ก็มีเทคโนโลยีไฮบริดเช่นกัน และสามารถนำมาใช้กับซีวิคและแอคคอร์ดได้
นายวัลลภกล่าวว่าอย่างไรก็ตามตลาดรถยนต์ไฮบริด เป็นเพียงทางเลือกหนึ่งของผู้บริโภคเท่านั้น โดยเฉพาะผู้ใช้รถในเมือง เพราะสามารถประหยัดพลังงานได้มากกว่า
ขอขอบคุณที่มาของแหล่งข่าว