แชมป์หุ่นยนต์โลก
โดย : Admin

 

ที่มา: ข่าวสดรายวัน
วันที่ 29 มิถุนายน พ.ศ. 2553

 

 


เยาวชนไทยสร้างชื่อในเวทีโลกอีกครั้ง เมื่อคว้ารางวัลชนะเลิศหุ่นยนต์กู้ภัยจากการแข่งขันหุ่นยนต์ระดับโลก หรือเวิลด์ โรโบคัพ 2010 ที่ประเทศสิงคโปร์ ระหว่างวันที่ 21-24 มิ.ย.


เป็นสมัยที่ 5 ที่เยาวชนไทยคว้าแชมป์โลกจากการแข่งขันนี้

สมัยที่ 1 ทีมอินดิเพนเดนท์ จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ วิทยาเขตปราจีนบุรี คว้าแชมป์จากการแข่งขันที่เมืองเบรเมน เยอรมนี พ.ศ.2549


สมัยที่ 2 ทีมเดียวกันคว้าแชมป์จากการแข่งขันที่เมืองแอตแลนตา สหรัฐอเมริกา พ.ศ.2550

สมัยที่ 3 ทีมพลาสมา อาร์เอ็กซ์ จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คว้าแชมป์จากการแข่งขันที่เมืองซูโจว สาธารณรัฐประชาชนจีน พ.ศ.2551

สมัยที่ 4 ทีมไอราป_โปร มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ คว้าแชมป์จากการแข่งขันที่ เมืองกราซ ประเทศออสเตรีย


ครั้งล่าสุดสมัยที่ 5 ทีมไอราป_โปร ทำผลงานได้ยอดเยี่ยมอีกครั้ง คว้ารางวัลชนะเลิศ จากการแข่งขันที่ประเทศสิงคโปร์

เอาชนะมหาอำนาจทางเทคโนโลยีอย่างญี่ปุ่น เยอรมนี และ สหรัฐอเมริกา ได้อย่างไม่ยากนัก

การแข่งขันหุ่นยนต์ระดับโลก หรือเวิลด์ โรโบคัพ จัดขึ้นเป็นปีที่ 14 เพื่อสนับสนุนและส่งเสริมการศึกษา-เทคโนโลยีด้านการพัฒนาหุ่นยนต์อัจฉริยะที่สามารถนำมาประยุกต์ใช้งานด้านต่างๆ



เวิลด์ โรโบคัพ 2010 มีผู้เข้าร่วมแข่งขันกว่า 3 พันคน จาก 40 ประเทศ

แบ่งการแข่งขันออกเป็น 4 ประเภท คือ ฟุตบอลหุ่นยนต์ หุ่นยนต์กู้ภัย หุ่นยนต์ทำงานบ้าน และหุ่นยนต์ระดับเยาวชนอายุไม่เกิน 18 ปี

ในประเภทหุ่นยนต์กู้ภัย (Robocup Rescue) มีทีมร่วมแข่งขัน 27 ทีมจาก 12 ประเทศ

ได้แก่ ญี่ปุ่น เยอรมนี ออสเตรเลีย อิหร่าน จีน เม็กซิโก มาเลเซีย สิงคโปร์ ปากีสถาน อังกฤษ สหรัฐอเมริกา และไทย


หุ่นยนต์จากประเทศไทย ประกอบด้วย ทีม Success, RMUTR จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลรัตน โกสินทร์ ศาลายา ทีมบาร์ตแล็บ เรสคิว จากมหาวิทยาลัยมหิดล และทีมไอราป_โปร

ในการแข่งขัน หุ่นยนต์จะต้องเคลื่อนที่ผ่านอุปสรรคต่างๆ เพื่อเข้าไปค้นหา และช่วยเหลือเหยื่อผู้รอดชีวิต

ผลการแข่งปรากฏว่าหุ่นยนต์ไพลินและหุ่นยนต์ไออาร์-พีอี จากทีมไอราป_โปร ตะลุยสนามแข่งขัน ทั้งทางเรียบ พื้นผิวขรุขระ ทางลาดชัน และจุดอับสัญญาณ เพื่อช่วยเหลือเหยื่อ จนได้คะแนนรวมมากที่สุด


รักษาแชมป์ไว้ได้เป็นสมัยที่ 2

ขณะที่ ทีม Success RMUTR และ ทีม บาร์ตแล็บ เรสคิว ทำคะแนนรวมได้เท่ากัน ครองอันดับ 2 ร่วมกันทั้ง 2 ทีม

นอกจากนี้ในการแข่งขันประเภทหุ่นยนต์เตะฟุตบอล ทีม สคูบา จากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ แชมป์โลกสมัยที่แล้ว ยังเอาชนะทีมซีเอ็ม ดรากอน จากสหรัฐอเมริกา 6 ประตูต่อ 1



เป็นแชมป์โลกหุ่นยนต์เตะฟุตบอลขนาดเล็ก หรือรุ่นสมอลล์ไซซ์ลีก 2 สมัยติดต่อกัน

รวมถึงได้รางวัลเทคนิคยอดเยี่ยมมาครองด้วย

การแข่งขันที่ผ่านมาเป็นการพัฒนาศักยภาพของเยาวชนไทย หลายคนได้ทำงานด้านพลังงานนิวเคลียร์ บางส่วนยังคงพัฒนาหุ่นยนต์ที่ตอบสนองการใช้ประโยชน์ของมนุษย์ต่อไป

ตัวอย่างสำคัญ คือ "น้องดินสอ" หุ่นยนต์เพื่อบริการมนุษย์ตัวแรกของเมืองไทย

ซึ่งเป็นผลงานของเยาวชนที่เคยคว้ารางวัลจากการแข่งขันหุ่นยนต์ระดับโลกมาก่อน



 

 ขอขอบคุณทุกๆที่มาของแหล่งข่าว

 

เนื้อหาโดย: 9engineer.com (https://9engineer.com/)