วิทยา ผาสุก wittayapasuk@hotmail.com
ข่าวสดรายวัน 29 มิถุนายน 2553
ขอแสดงความยินดีกับนักศึกษาไทยจากหลายสถาบันที่เพิ่งไปแข่งขันคว้าแชมป์จากศึก "หุ่นยนต์โลก-เวิลด์ โรโบคัพ" 2010 ที่สิงคโปร์
โดยรางวัลชนะเลิศประเภทหุ่นยนต์กู้ภัย ตกเป็นของแชมป์เก่า ทีมไอราป_โปร จากเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ
ส่วนประเภทหุ่นเตะฟุตบอล ทีมสคูบา ม.เกษตรศาสตร์ ก็ครองแชมป์เป็นปีที่ 2
ว่ากันเฉพาะแนวคิดสร้างหุ่นกู้ภัยนั้น หลายชาติพยายามพัฒนากันอย่างเต็มที่
เพราะยิ่งคิดค้นออกมาดีเท่าไหร่ ยิ่งส่งผลดีต่อสังคมมนุษย์
เช่น ขณะนี้หน่วยกู้ภัยทางทะเลของสหรัฐ ก็กำลังพัฒนาหุ่นกู้ภัยอัตโนมัติ ซึ่งพร้อมพุ่งปรู๊ดไปบนผิวน้ำเพื่อช่วยผู้ประสบภัย ทั้งคนตกน้ำและกำลังจมน้ำ
หุ่นยนต์ดังกล่าว มีชื่อรุ่นว่า "เอมิลี่"
มีรูปร่างหน้าตาคล้ายทุ่นลอยน้ำ ขนาดยาว 4 ฟุต และตั้งโปรแกรมให้พูดแนะนำวิธีปฏิบัติตัวกับผู้ประสบภัยได้ด้วย
เมื่อปล่อย "เอมิลี่" ลงไปในน้ำ อาทิ ชายหาดหรือแม่น้ำ ระบบโซนาร์ในตัวเครื่อง จะเริ่มลงมือ "สแกน" หาร่างผู้เคราะห์ร้าย
ทันทีที่พบก็จะแล่นไปยังเป้าหมายด้วยความเร็วสูงสุดถึง 50 กิโลเมตร/ชั่วโมง และแล่นไปได้ไกลเกือบ 140 กิโลเมตร
เพื่อให้ผู้ประสบภัย "เกาะ" มันกลับเข้าฝั่งโดยอัตโนมัติ
"เอมิลี่" ออกแบบและพัฒนาโดยบริษัทไฮโดรนาลิกซ์จากรัฐอริโซน่า มีสนนราคาประมาณ 112,000 บาท/เครื่อง
คาดว่าในอนาคต จะมีราคาถูกลงและกลายเป็นอุปกรณ์กู้ชีพประจำตัวของเหล่าไลฟ์การ์ด หรือเจ้าหน้าที่กู้ภัยประจำชายหาดทั่วสหรัฐ
แบรนดอน แชปแมน ไลฟ์การ์ดประจำหาดซูม่า เมืองมาลิบู รัฐแคลิฟอร์เนีย ผู้ทดสอบเอมิลี่ กล่าวว่า
หุ่นยนต์ย่อมไม่มีสัญชาตญาณและความเข้าใจสภาพท้องทะเลดีเท่ากับมนุษย์ แต่สิ่งที่เข้ามาช่วยเสริมการทำงาน ก็คือ
ระบบ "โซนาร์" ค้นหาผู้ประสบภัย
เพราะในบางสภาวะ "ตาของมนุษย์" ก็ละเอียดสู้เทคโนโลยีสมัยใหม่ไม่ได้
|
ขอขอบคุณทุกที่มาของแหล่งข่าว