เจ็ดสิบปีหลังยุคทองของอากาศยานประเภท "บอลลูน" ในอดีตที่ดูเหมือนว่าสิ้นสุดลงไปโดยปริยายพร้อมกับโศกนาฏกรรมบอลลูนยักษ์ "แอลซี 129 ไฮน์เดนบวร์ก" ของเยอรมันประสบอุบัติเหตุไฟลุกท่วมร่วงลงสู่พื้นโลก เมื่อ 6 พ.ค. 2480 คร่าชีวิตผู้โดยสารกว่า 35 ราย จาก 97 คนบนเครื่อง
ล่าสุด บริษัทนอร์ทธรอบ กรัมแมน หนึ่งในผู้นำการผลิตยุทโธปกรณ์ เผยว่า กำลังมีโครงการสร้างอากาศยานขนาดยักษ์ประเภทบอลลูนให้กับกองทัพสหรัฐ หลังทางบริษัทได้รับงบฯ สนับสนุนถึง 1.7 หมื่นล้านบาทเพื่อพัฒนาอากาศยานจักรกลไร้พลขับ (ยูเอวี) ที่อยู่บนอากาศได้ยาวนานกว่ารุ่นก่อนและเสนอให้ทางกองทัพสหรัฐพิจารณาภายใน 18 เดือน
การพัฒนายูเอวีดังกล่าวขึ้น ถือเป็นอากาศยานประเภทใหม่ เรียกว่า "อากาศยานยุทธการระยะไกล" เป็นบอลลูนไร้พลขับมีความยาวมากกว่าสนามฟุตบอล ความสูงขณะปฏิบัติการอยู่ที่ 2 หมื่นฟุต หรือราว 6,100 เมตร มีหน้าที่หลักเพื่อลาดตระเวนและเฝ้าระวังการเคลื่อนไหวของเป้าหมาย
นอกจากนี้ ตัวเเอลอีเอ็มวีดังกล่าวยังถูกออกแบบมาให้สามารถเชื่อมต่อกับฐานบัญชาการแนวหน้าของกองทัพสหรัฐเพื่อย้ายตำแหน่งทางยุทธศาสตร์ หรือแปรสภาพเป็นฐานบัญชาการลอยฟ้า อยู่หลังแนวรบและคอยออกคำสั่งด้วยเทคโนโลยีควบคุมและสั่งการ "บียอนด์ ไลน์ ออฟ ไซต์"
นายแกรี่ เออร์วิน รองประธานบริษัทนอร์ทธรอบ กล่าวว่า โครงการดังกล่าวถือเป็นโอกาสเพิ่มขีดความสามารถในการเป็นผู้นำการผลิตนวัตกรรมยูเอวี ระบบอาวุธ และซอฟต์แวร์ควบคุมอากาศยาน ขณะที่ในทางธุรกิจนับว่าเป็นการเปิดตลาดใหม่ให้กับบริษัทในเวทีการแข่งขันด้านเทคโนโลยีทางทหารเพื่อการป้องกันประเทศ
|