แอร์ส่วนตัว กินไฟต่ำเทียบโน้ตบุ๊ค-ไร้สารซีเอฟซี
โดย : Admin

 


ที่มา : ,กรุงเทพธุรกิจ 
18 เมษายน พ.ศ. 2553

 

นักวิจัยเอ็มเทคพัฒนาแอร์ส่วนบุคคลจากแผ่นทำความเย็น ประยุกต์ติดตั้งใต้โซฟาหรือเก้าอี้ ให้ความเย็นเฉพาะบุคคลในอุณหภูมิ 25 องศาเซลเซียส



 

น.ส.สุธาทิพย์ วิทยปิยานนท์ วิศวกรประจำห้องปฏิบัติการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (เอ็มเทค/สวทช.) ได้รับทุนวิจัยระยะ 1 ปี จากสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) ออกแบบเครื่องปรับอากาศรุ่นเล็ก ให้ความเย็นเฉพาะบุคคล เหมาะสำหรับผู้ที่อยู่ตามลำพังในห้อง จึงประหยัดพลังงานกว่าการเปิดเครื่องปรับอากาศทั่วไป

 

 

 

  "คูล มี" (Cool Me) หรือเครื่องทำความเย็นส่วนตัวนี้ ผลิตจากแผ่นเทอร์โมอิเล็กทริกมีรูปร่างคล้ายแผ่นเซรามิก ขนาดบางเพียง 4 มิลลิเมตร สามารถสร้างได้ทั้งความร้อนและความเย็น โดยที่ใช้พลังงานไฟฟ้าน้อยมาก และที่สำคัญไม่ปลดปล่อยสารก่อโลกร้อน หรือสารที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ แถมยังหาซื้อได้ง่าย เพียงนำมาออกแบบติดตั้งระบบจ่ายกระแสไฟ เพื่อสร้างความเย็นในอุณหภูมิที่แน่นอน และอุปกรณ์เสริมอื่นอีกเล็กน้อยเพื่อความปลอดภัย
 

 "ช่วงแรกวางแผนจะทำผ้าห่มเย็น จึงมองหาเทคโนโลยีทำความเย็นที่มีอยู่หลากหลายชนิด แต่ส่วนมากเป็นเทคโนโลยีที่ต้องมีเครื่องคอมเพรสเซอร์และสารซีเอฟซีหรือคลอโรฟลูออโรคาร์บอนที่เป็นตัวก่อภาวะเรือนกระจก จึงหลีกเลี่ยงและเน้นเทคโนโลยีที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม จนมาลงตัวที่แผ่นเทอร์โมอิเล็กทริกดังกล่าว ซึ่งให้ความเย็นได้ต่ำสุดถึง 25 องศาเซลเซียส การใช้งานก็เพียงติดตั้งบริเวณใต้โซฟาหรือเก้าอี้" น.ส.สุธาทิพย์ กล่าว
 

 แน่นอนว่า แอร์ส่วนตัวนี้ต้องเสียบปลั๊กจึงจะให้ความเย็น แต่นักวิจัยยืนยันว่าใช้ไฟฟ้าน้อยมากหรือเทียบเท่ากับโน้ตบุ๊ค 1 ตัว เพราะเป็นการให้ความเย็นเฉพาะที่ แม้จะเทียบกับแอร์คอนดิชั่นไม่ได้ แต่ก็สามารถใช้งานได้ดีหากอยู่ลำพังในช่วงเวลาสั้นๆ และยังลดใช้ชิ้นส่วนอุปกรณ์ที่เป็นต้นทุนการผลิตก้อนโตอีกด้วย
 

 ส่วนความคืบหน้าขณะนี้อยู่ระหว่างพัฒนาตัวต้นแบบ ก่อนที่จะเข้าสู่ขั้นตอนยื่นจดสิทธิบัตร ควบคู่กับศึกษาข้อมูลทางการตลาดรวมถึงความต้องการของผู้บริโภคให้ถี่ถ้วน จากนั้นจึงจะไปถึงขั้นตอนการต่อยอดเชิงพาณิชย์ โดยนำมาร่วมจัดแสดงในงานประชุมวิชาการประจำปี 2553 สวทช.เมื่อเร็วๆ นี้


 

 

เนื้อหาโดย: 9engineer.com (https://9engineer.com/)