ประเภทของหุ่นยนต์อุตสาหกรรม (Industrial Robot type)
โดย : Admin

 

โดย :  อ. บุญลือ     บุญคง 

 

 

     ในยุคเริ่มต้นของการส่งเสริมอุตสาหกรรมในประเทศไทยจะเห็นได้ว่ามีโรงงานต่าง ๆ เข้ามาตั้งฐานผลิตในเมืองไทยจำนวนมากทำให้เกิดนิคมอุตสาหกรรมขึ้นหลายแห่ง ทั้งนี้เนื่องจากรัฐบาลมีนโยบายส่งเสริมอุตสาหกรรมที่ชัดเจน ค่าแรงงานถูก ลดรายจ่ายเนื่องจากภาษีการนำเข้าของสินค้า และวัตถุดิบบางตัว แต่ ณ ปัจจุบันนี้ค่าแรงบ้านเราสูงขึ้นและสูงกว่าประเทศเพื่อนบ้าน เช่น จีน เวียดนาม อินโดนีเซีย ฯลฯ

    ในขณะเดียวกันคุณภาพแรงงานไม่ได้มาตรฐาน ขาดความรู้และทักษะจึงทำให้หลายบริษัทได้ย้ายฐานการผลิตไปยังประเทศที่มีค่าแรงงานถูกกว่า และอีกหลายบริษัทที่พยายามปรับตัวเอง โดยมีการนำเทคโนโลยีระบบอัตโนมัติ (Automation Technology) เข้ามาใช้งานเพื่อให้สินค้าสามารถแข่งขันในตลาดโลกได้ทั้งในเรื่องราคา และคุณภาพ โดยเฉพาะในเรื่องคุณภาพ ปัจจุบันโรงงานที่ผลิตสินค้าส่งออกหรือส่งให้กับลูกค้าที่เป็นบริษัทของต่างประเทศมักจะประสบปัญหาในเรื่องคุณภาพ มีทั้ง ผลิตสินค้าไม่ได้มาตรฐานตามที่ลูกค้ากำหนด หรือ ผลิตสินค้าไม่ทันตามกำหนดเวลา อาจเนื่องจากมีการเปลี่ยนรุ่นผลิตภัณฑ์อยู่บ่อยๆ ต้องใช้เวลาในการ Set up ปัจจุบันจึงมีการนำเทคโนโลยีต่าง ๆ เข้ามาใช้ หนึ่งในเทคโนโลยีที่มีความยืดหยุ่นสูง ได้แก่ หุ่นยนต์อุตสาหกรรม เนื่องจากการเปลี่ยนการทำงานสามารถทำได้โดยการเปลี่ยนโปรแกรม นอกจากนี้คุณภาพของผลิตภัณฑ์ที่ได้มีความสม่ำเสมอเป็นมาตรฐานเดียวกัน



 

 

  หุ่นยนต์ (Robotics) มีมากมายหลายชนิดขึ้นอยู่กับจุดประสงค์ของการใช้งาน เช่น หุ่นยนต์ที่เป็นของเล่น หุ่นยนต์ใช้ในงานการแพทย์ หุ่นยนต์เพื่องานวิจัย หุ่นยนต์สำรวจ และหุ่นยนต์อุตสาหกรรม ฯลฯ


หุ่นยนต์ของเล่น


หุ่นยนต์ใช้ในงานการแพทย์


หุ่นยนต์สำรวจ


หุ่นยนต์เพื่องานวิจัย


หุ่นยนต์รักษาความปลอดภัย


หุ่นยนต์อุตสาหกรรม

รูปตัวอย่างการประยุกต์ใช้หุ่นยนต์


 

 

  ในที่นี้จะกล่าวถึงหุ่นยนต์อุตสาหกรรม (Industrial Robot)
             การทำงานของหุ่นยนต์อุตสาหกรรมจะเลียนแบบร่างกายของมนุษย์โดยจะเลียนแบบเฉพาะส่วนของร่างกายที่จะนำไปใช้ประโยชน์ ในอุตสาหกรรมเท่านั้น นั่นคือช่วงแขนของมนุษย์ ดังนั้น บางคนอาจจะได้ยินคำว่าแขนกล ซึ่งก็หมายถึงหุ่นยนต์อุตสาหกรรม      การทำงานของหุ่นยนต์อุตสาหกรรมเปรียบเทียบกับแขนมนุษย์ แสดงดังรูปที่ 3
 


รูปที่ 3  แสดงส่วนต่าง ๆ ของ หุ่นยนต์เปรียบเทียบกับสรีระของมนุษย์

        ปัจจุบันและในอนาคตหุ่นยนต์อุตสาหกรรมจะเข้ามามีบทบาทในอุตสาหกรรมมากขึ้น โดยจะทำงานแทนมนุษย์ในงานต่าง ๆ เหล่านี้งานที่อันตราย เช่น งานยกเหล็กเข้าเตาหลอม งานที่เกี่ยวข้องกับสารเคมีงานซ้ำซากน่าเบื่อ เช่น งานยกสินค้าจากสายงานการผลิต งานประกอบ งานบรรจุผลิตภัณฑ์งานที่ต้องการคุณภาพมาตรฐานเดียวกัน เช่น งานเชื่อม งานตัด งานที่ต้องใช้ทักษะความชำนาญสูง เช่น งานเชื่อมแนว เชื่อมเลเซอร์งานที่ต้องใช้ความละเอียดประณีต เช่น งานประกอบชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ งานตรวจสอบ (Inspection) ฯลฯ

  
    นิยามของหุ่นยนต์ (Robotics definition)    
            หุ่นยนต์ หรือ ภาษาอังกฤษเขียนว่า Robot มาจากบทละครของ นายคาเรล คาเปก (Karel Kapek) นักแต่งนิยายชาว เช็ก เรื่อง R.U.R (Rossum’s Universal Robots) ซึ่งหมายถึงคนงานคำจำกัดความของ หุ่นยนต์ตามมาตรฐาน ISO 8373 An automatically controlled, reprogrammable, multipurpose, manipulator programmable in three or more axes which may be either fixed in place or mobile for use in industrial automation application หุ่นยนต์ คือ เครื่องจักรที่ถูกควบคุมอัตโนมัติ สามารถเขียนโปรแกรมใหม่ได้ ใช้งานเอนกประสงค์ โปรแกรมการเคลื่อนที่จะต้องสามารถโปรแกรมให้เคลื่อนที่ได้อย่างน้อย 3 แกนหรือมากกว่า หุ่นยนต์อาจจะยึดอยู่กับที่หรือย้ายตำแหน่ง (Mobile) เพื่อใช้ในงานอุตสาหกรรม


  โดยทั่วไปการแบ่งชนิดของหุ่นยนต์จะแบ่งตามลักษณะรูปทรงของพื้นที่ทำงาน (Envelope Geometric) แต่ก่อนจะอธิบายชนิดของหุ่นยนต์ขออธิบายการทำงานของจุดต่อ (Joint) ของหุ่นยนต์ อุตสาหกรรมซึ่งในขั้นพื้นฐานมี 2 ชนิดด้วยกัน ดังนี้ 

    

 

 

 


ชนิด

สัญลักษณ์

หมายเหตุ

Revolute (R) เป็นการหมุนรอบแกน (Rotary)
Prismatic (P) การเคลื่อนที่เชิงเส้น (Linear motion)
จุดต่อ (Joint) ทั้งสองแบบเมื่อนำมาต่อเข้าด้วยกันอย่างน้อย 3 แกนหลักจะได้พื้นที่ทำงาน
( Work envelope) ที่มีลักษณะแตกต่างกันไป ซึ่งสามารถนำมาแบ่งชนิดของหุ่นยนต์ได้ดังต่อไปนี้

ชนิดของหุ่นยนต์ แกนที่ 1 (เอว) แกนที่ 1 (เอว) แกนที่ 3 (ข้อศอก)

Cartesian (gantry)

Cylindrical

Spherical (Polar)

SCARA

Articulated

P

R

R

R

R

P

P

R

P

R

P

P

P

R

R

R = Revolute, P = Prismatic



 

        

 1. Cartesian (gantry) Robot 
                
  แกนทั้ง 3 ของหุ่นยนต์จะเคลื่อนที่เป็นแบบเชิงเส้น (Prismatic) ถ้าโครงสร้างมีลักษณะคล้าย Overhead Crane จะเรียกว่าเป็นหุ่นยนต์ชนิด gantry แต่ถ้าหุ่นยนต์ไม่มีขาตั้งหรือขาเป็นแบบอื่น เรียกว่า ชนิด Cartesian


รูปที่ 4-a Gantry Robot


รูปที่ 4-b Work envelope of Gantry Robot

         ข้อดี
  • เคลื่อนที่เป็นแนวเส้นตรงทั้ง 3 มิติ
  • การเคลื่อนที่สามารถทำความเข้าใจง่าย
  • มีส่วนประกอบง่าย ๆ
  • โครงสร้างแข็งแรงตลอดการเคลื่อนที่

 

           ข้อเสีย
  • ต้องการพื้นที่ติดตั้งมาก
  • บริเวณที่หุ่นยนต์เข้าไปทำงานได้ จะเล็กกว่าขนาดของตัวหุ่นยนต์
  • ไม่สามารถเข้าถึงวัตถุจากทิศทางข้างใต้ได้
  • แกนแบบเชิงเส้นจะ Seal เพื่อป้องกันฝุ่นและของเหลวได้ยาก
  • การประยุกต์ใช้งาน 
    เนื่องจากโครงสร้างมีความแข็งแรงตลอดแนวการเคลื่อนที่ ดังนั้นจึงเหมาะกับงานเคลื่อนย้ายของหนัก ๆ หรือเรียกว่างาน Pick-and-Place เช่นใช้โหลดชิ้นงานเข้าเครื่องจักร (Machine loading) ,ใช้จัดเก็บชิ้นงาน (Stacking)นอกจากนี้ยังสามารถใช้ในงานประกอบ (Assembly) ที่ไม่ต้องการเข้าถึงในลักษณะที่มีมุมหมุน เช่น ประกอบอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ และงาน Test ต่าง ๆ

  2. Cylindrical  
        
 
หุ่นยนต์ประเภทนี้จะมีแกนที่ 2 (ไหล่) และแกนที่ 3 (ข้อศอก) เป็นแบบ prismatic ส่วนแกนที่ 1 (เอว) จะเป็นแบบหมุน (revolute) ทำให้การเคลื่อนที่ได้พื้นที่การทำงานเป็นรูปทรงกระบอก ดังรูป


รูปที่ 5-a Cylindrical Robot


รูปที่ 5-b Work envelope of Cylindrical Robot

         ข้อดี
  • มีส่วนประกอบไม่ซับซ้อน
  • การเคลื่อนที่สามารถเข้าใจได้ง่าย
  • สามารถเข้าถึงเครื่องจักรที่มีการเปิด-ปิด หรือเข้าไปในบริเวณที่เป็นช่องหรือโพรงได้ง่าย (Loading) เช่น การโหลดชิ้นงานเข้าเครื่อง CNC
    ข้อเสีย
  • มีพื้นที่ทำงานจำกัด
  • แกนที่เป็นเชิงเส้นมีความยุ่งยากในการ seal เพื่อป้องกันฝุ่นและของเหลว
  • การประยุกต์ใช้งาน  โดยทั่วไปจะใช้ในการหยิบยกชิ้นงาน (Pick-and-Place) หรือป้อนชิ้นงานเข้าเครื่องจักร เพราะสามารถเคลื่อนที่เข้าออกบริเวณที่เป็นช่องโพรงเล็ก ๆ ได้สะดวก

     3. Spherical Robot (Polar)
       
   มีสองแกนที่เคลื่อนในลักษณะการหมุน (Revolute Joint) คือแกนที่ 1 (เอว) และแกนที่ 2 (ไหล่) ส่วนแกนที่ 3 (ข้อศอก) จะเป็นลักษณะของการเคลื่อนที่แนวเส้นตรง ดังรูปที่ 6-a ซึ่งทำให้ได้พื้นที่การทำงาน ดังรูปที่ 6-b


รูปที่ 6-a Spherical Robot


รูปที่ 6-b Work envelope of Spherical Robot

         ข้อดี
  • มีปริมาตรการทำงานมากขึ้นเนื่องจากการหมุนของแกนที่ 2 (ไหล่)
  • สามารถที่จะก้มลงมาจับชิ้นงานบนพื้นได้สะดวก
     ข้อเสีย
  • มีระบบพิกัด (Coordinate) และส่วนประกอบ ที่ซับซ้อน
  • การเคลื่อนที่และระบบควบคุมมีความซับซ้อนขึ้น
  •    การประยุกต์ใช้งาน 
     
    ใช้ในงานที่มีการเคลื่อนที่ในแนวตั้ง (Vertical) เพียงเล็กน้อย เช่น การโหลดชิ้นงานเข้าออกจากเครื่องปั้ม (Press) หรืออาจจะใช้งานเชื่อมจุด (Spot Welding)

      4. SCARA Robot  
              
หุ่นยนต์ SCARA (Selective Compliance Assembly Robot Arm) จะมีลักษณะแกนที่ 1 (เอว) และแกนที่ 3 (ข้อศอก) หมุนรอบแกนแนวตั้ง และแกนที่ 2 จะเป็นลักษณะการเคลื่อนที่ขึ้นลง (Prismatic) ดังรูปที่ 7-a ทำให้ได้พื้นที่การทำงานดัง รูปที่ 7-b หุ่นยนต์ SCARA จะเคลื่อนที่ได้รวดเร็วในแนวระนาบ และมีความแม่นยำสูง


รูปที่ 7-a Scara Robot


รูปที่ 7-b Work envelope of Scara Robot

ข้อดี
  • สามารถเคลื่อนที่ในแนวระนาบ และขึ้นลงได้รวดเร็ว
  • มีความแม่นยำสูง
    ข้อเสีย
  • มีพื้นที่ทำงานจำกัด
  • ไม่สามารถหมุน (rotation)ในลักษณะมุมต่างๆได้
  • สามารถยกน้ำหนัก (Payload) ได้ไม่มากนัก
  การประยุกต์ใช้งาน 
    เนื่องจากการเคลื่อนที่ในแนวระนาบและขึ้นลงได้รวดเร็วจึงเหมาะกับ งานประกอบชิ้นส่วนทางอิเล็กทรอนิกส์ซึ่ง ต้องการความรวดเร็วและการเคลื่อนที่ก็ไม่ต้องการ การหมุนมากนัก แต่จะไม่เหมาะกับงานประกอบชิ้นส่วนทางกล (Mechanical part)ซึ่งส่วนใหญ่การประกอบจะอาศัยการหมุน(rotation)ในลักษณะมุมต่างๆ นอกจากนี้ Scara robot ยังเหมาะกับงานตรวจสอบ (Inspection) งานบรรจุภัณฑ์ (Packaging)

   5. Articulated Arm (Revolute)  
            
ทุกแกนการเคลื่อนที่จะเป็นแบบหมุน (Revolute) รูปแบบการเคลื่อนที่จะคล้ายกับแขนคน ซึ่งจะประกอบด้วยช่วงเอว ท่อนแขนบน ท่อนแขนล่าง ข้อมือ การเคลื่อนที่ทำให้ได้พื้นที่การทำงาน ดังรูปที่ 8-b


รูปที่ 8-a Articulated Robot


รูปที่ 8-b Work envelope of Articulated Robot

        ข้อดี
  • เนื่องจากทุกแกนจะเคลื่อนที่ในลักษณะ ของการหมุนทำให้มีความยืดหยุ่นสูงในการเข้าไปยังจุด ต่าง ๆ
  • บริเวณข้อต่อ (Joint) สามารถ Seal เพื่อป้องกันฝุ่น ความชื้น หรือน้ำ ได้ง่าย
  • มีพื้นที่การทำงานมาก
  • สามารถเข้าถึงชิ้นงานทั้งจากด้านบน ด้านล่าง
  • เหมาะกับการใช้มอเตอร์ไฟฟ้า เป็นชุดขับเคลื่อน

 

    ข้อเสีย
  • มีระบบพิกัด (Coordinate) ที่ซับซ้อน
  • การเคลื่อนที่และระบบควบคุมทำความ เข้าใจได้ยากขึ้น
  • ควบคุมให้เคลื่อนที่ในแนวเส้นตรง (Linear) ได้ยาก
  • โครงสร้างไม่มั่นคงตลอดช่วงการเคลื่อนที่ เพราะบริเวณขอบ Work envelope ปลายแขนจะมีการสั่น ทำให้ความแม่ยำลดลง
   การประยุกต์ใช้งาน 
    หุ่นยนต์ชนิดนี้สามารถใช้งานได้กว้างขวางเพราะสามารถเข้าถึงตำแหน่งต่าง ๆ ได้ดี เช่นงานเชื่อม Spot Welding,  Path Welding ,งานยกของ , งานตัด ,งานทากาว ,งานที่มีการเคลื่อนที่ยาก ๆ เช่น งานพ่นสี งาน sealing ฯลฯ

        

การเลือกหุ่นยนต์ชนิดต่างๆมาใช้งาน ควรพิจารณาให้เหมาะสมกับงานที่ต้องการให้หุ่นยนต์ทำดังที่อธิบายไว้ตอนต้น นอกจากนี้ยังต้องพิจารณาการบริการหลังการขายด้วยเนื่องจากชิ้นส่วนอะไหล่ส่วนใหญ่ต้องนำเข้าจากต่างประเทศ ซึ่งต้องใช้เวลาในการนำเข้าและราคาแพง ดังนั้นถ้าสามารถเลือกบริษัทที่มีตัวแทนและทีมงานบริการ ( ทีม service) ในเมืองไทยได้จะเป็นการดี และถ้าต้องข้อมูลรายละเอียดลึกลงไป เช่น ผลดี ผลเสีย ของการนำหุ่นยนต์มาใช้งาน การคำนวณต้นทุนต่างๆ ตลอดจน ระยะเวลาการคืนทุน (Payback period) ขณะนี้ทางสถาบันไทย-เยอรมัน ได้เปิดฝึกอบรมหลักสูตร “ Benefits and Costs for robot Implementation” ซึ่งเป็นหลักสูตรระยะเวลา 1 วัน
 

 

เนื้อหาโดย: 9engineer.com (https://9engineer.com/)