Introduction to INTERBUS
โดย : Admin

 แปลและเรียบเรียงโดย:    นายเอ็นจิเนียร์

 

           InterBUS คืออะไร

             InterBUS  คือระบบฟิลด์บัสที่นิยมใช้กันมากที่สุดระบบหนึ่ง   เพื่อที่จะให้คุณได้เข้าใจและมองเห็นคุณประโยชน์ของ InterBUS จะขอกล่าวถึงหลักการพื้นฐานทางเทคนิคเสียก่อน โดยจะได้อธิบายกระบวนการทำงานของ InterBUS โดยย่อ ดังต่อไปนี้ 
 

       ระบบฟิลด์บัสแบบ InterBUS
            

        ระบบฟิลด์บัสแบบ InterBUS เป็นระบบบัสข้อมูลแบบเปิด (open system) ที่สามารถเชื่อมต่อได้กับอุปกรณ์รับส่งสัญญาณอินพุตเอาท์พุตและอุปกรณ์ภาคสนามที่ใช้กันอยู่ทั่วไปในระบบควบคุมต่างๆ สามารถใช้สายเคเบิลรับส่งข้อมูลแบบบัสอนุกรมเพื่อเชื่อมต่อเครื่อข่ายระหว่างอุปกรณ์หลากหลายชนิด เช่น เซนเซอร์ แอคชูเอเตอร์ เครื่องจักร ส่วนประกอบอื่นๆ ในระบบควบคุม หน่วยการผลิตในโรงงาน และเชื่อมต่อกับระบบควบคุมในระดับบนได้แก่ห้องควบคุมการทำงานของระบบ (control room)

       โครงสร้างของ InterBUS
           InterBUS เป็นระบบบัสแบบวงแหวน (ring system) กล่าวคือ อุปกรณ์ทุกตัวเชื่อมต่อเป็นเส้นทางข้อมูลแบบปิด ไม่มีจุดปลายข้อมูลของอุปกรณ์ตัวใดแบบปล่อยลอย พิจารณารูปประกอบ




The InterbusTopologie

               เมื่ออุปกรณ์ในระบบได้รับข้อมูลที่ส่งมาจากอุปกรณ์ตัวอื่น มันจะทำการขยายสัญญาณและส่งไปให้อุปกรณ์ตัวถัดไป ด้วยวิธีนี้จึงทำให้สามารถส่งข้อมูลได้ในระยะทางไกล จุดเด่นที่แตกต่างไปจากระบบบัสวงแหวนแบบอื่นๆ คือ ข้อมูลทั้งหมดในระบบบัสจะเดินทางอยู่บนสายเคเบิลเพียงคู่เดียวเท่านั้น ทำให้โครงสร้างการเชื่อต่อภายนอกดูเสมือนกับเป็นระบบบัสข้อมูลแบบ open-tree system สายเคเบิลหลักที่ต่อจากอุปกรณ์บัสมาสเตอร์สามารถต่อขยายเครือข่ายย่อยลงไปอีกได้ถึง 16 ระดับ ทำให้ระบบบัสชนิดนี้มีความยืดหยุ่นสูงในการปรับเปลี่ยนแก้ไขโครงสร้างของระบบ



         ความยืดหยุ่นของโครงสร้างระบบ
             InterBUS เป็นระบบรับส่งข้อมูลแบบ Master/Slave สามารถต่อพ่วงอุปกรณ์ได้ทั้งหมด 512 ตัวภายในเครือข่ายเดียวกัน โดยแบ่งได้เป็น 16 ระดับระบบบัสจะถูกระบุตำแหน่งจุดปลายของระบบโดยอัตโนมัติจากอุปกรณ์ตัวที่อยู๋ปลายสุดของเครือข่ายหรือเครือข่ายย่อย
 

      สรุปข้อกำหนดทางเทคนิคของ InterBUS

  ♦    โครงสร้างเป็นระบบวงแหวนแบบแอคทีฟ (active ring
  ♦    รับส่งข้อมูลแบบ Master/slave (fixed telegram length, deterministic)  อุปกรณ์ต่อพ่วงระบบระยะไกล (remote bus device)   ทำหน้าที่เป็นตัวขยายสัญญาณ (repeater) อยู่ในตัว 
  ♦    อัตราเร็วในการรับส่งข้อมูล 500 KBPS 
  ♦    รองรับอินพุตเอาท์พุตได้สูงสุด 4,096 จุด 
  ♦    ระยะทางไกลสุดระหว่าง remote bus device เท่ากับ 400 เมตร 1,312.336 ฟุต) โดยมีระยะทางรวมทั้งหมดเท่ากับ 13 กิโลเมตร (8.078 ไมล์) 
  ♦    ขอบเขตการใช้งาน ใช้เชื่อมต่อเซนเซอร์และแอคชูเอเตอร์เข้ากับระบบควบคุม เชื่อมต่อเครื่องจักรกับระบบผลิต ใช้ในงานระบบควบคุมกระบวนการผลิต

      
     ความยืดหยุ่นในการแบ่งย่อยส่วนต่างๆ ของระบบ
            เนื่องด้วยการเชื่อมต่อเป็นแบบจุดต่อจุด (point by point connection) จึงทำให้ไม่จำเป็นต้องใช้ความต้านทานต่อที่จุดปลายของระบบ (termination resistor) ระบบสามารถปรับเปลี่ยนได้อย่างยืดหยุ่นเพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการของผู้ใช้โดยเพียงการเพิ่มเข้าหรือถอดออกอุปกรณ์จากระบบ
 

       การกำหนดแอดเดรสของอุปกรณ์

              สำหรับระบบอื่นๆ นั้น โดยทั่วไปจะกำหนดแอดเดรสอุปกรณ์ในระบบโดยการปรับตั้งดิพสวิตช์หรือสวิตช์หมุนบนอุปกรณ์นั้นๆ แต่ในระบบ InterBUS การกำหนดแอดเดรสจะทำโดยอัตโนมัติด้วยตัวระบบเอง ดังเช่นระบบ Plug and Play ของเครื่องคอมพิวเตอร์ โดยผู้ใช้ไม่จำเป็นต้องปรับตั้งสวิตช์ใดๆ เป็นจุดดีที่ช่วยให้การติดตั้งและซ่อมบำรุงทำได้อย่างสะดวกง่ายดายมากยิ่งขึ้น และลดปัญหาและความยุ่งยากที่มักเกิดขึ้นในระหว่างการติดตั้งและระหว่างการซ่อมบำรุง สิ่งที่ผู้ใช้ทำคือกำหนดชื่อที่เข้าใจและจดจำง่ายให้กับอุปกรณ์นั้นๆ ด้วยซอฟท์แวร์ จากนั้น ระบบจะทำหน้าที่กำหนดแอดเดรสจริงๆ ให้เอง วิธีนี้ทำให้สามารถต่ออุปกรณ์เพิ่มหรือถอดอุปกรณ์ออกจากระบบได้โดยไม่ต้องปรับเปลี่ยนแก้ไขแอดเดรสของอุปกรณ์ตัวอื่นๆ

 

 


         

เนื้อหาโดย: 9engineer.com (https://9engineer.com/)