โทรศัพท์เคลื่อนที่ยุคที่สาม (3G )
โดย : Admin

 

      หลายๆ คนคงได้ยินบ่อยขึ้นเรื่อยๆ กับคำว่าโทรศัพท์เคลื่อนที่ยุคที่สามหรือที่เรียกกันทั่วไปว่า 3G และเป็นเรื่องที่น่าสนใจทั้งด้านเทคโนโลยีสมัยใหม่และธุรกิจที่มีมูลค่ามหาศาล อีกทั้งการทำการตลาดที่ดุเดือดเพื่อแย่งชิงลูกค้า แต่หากมีคนถามเราว่าโทรศัพท์เคลื่อนที่ยุคที่สามหรือ 3G คืออะไร? เราเองมักจะตอบกลับไปง่ายๆ ว่าก็โทรศัพท์เคลื่อนที่ยุคต่อไปไงล่ะครับ หลายคนๆ ก็อ่านหนังสือพิมพ์มาอธิบายบ้าง จำในนิตยสารมาบ้าง แล้วผสมผสานเล่าอธิบายกันไปตามเนื้อความที่ตนรับมา บ้างก็ตรงกันบ้างก็ไม่ตรงกัน บ้างก็ยังสับสน แต่หากเราต้องการคำตอบจริงๆ ว่าโทรศัพท์เคลื่อนที่ยุคที่สามหรือ 3G นั้นแท้จริงแล้วคืออะไร มีใครนิยามเป็นทางการไว้หรือไม่และนิยามว่าอย่างไรกันนะ เผื่อเอาไว้ใช้อ้างอิง โดยเฉพาะคนที่ต้องการตัวหนังสือที่ชัดเจนมายืนยัน ผมเลยนำมาเล่าเป็นเรื่องราวเชิงวิชาการแบบภาษาชาวบ้านว่า
 

                   คำตอบก็คือ โทรศัพท์เคลื่อนที่ยุคที่สาม หรือ Third Generation of Mobile Telephone หรือ เรียกย่อว่า 3G นั้น ITU (International Telecommunication Union) หรือ สหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ ซึ่งเป็นองค์กรชำนัญพิเศษแห่งสหประชาชาติ ทำหน้าที่ให้คำแนะนำและวางหลักเกณฑ์ในบริหารการกำกับดูแลกิจการโทรคมนาคมให้กับประเทศสมาชิกต่างๆ ทั่วโลก ได้มีแนวทางในการวางหลักเกณฑ์การบริหารทรัพยากรโทรคมนาคมของแต่ละประเทศเพื่อให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน

       
                      ITU ได้ให้มีการกำหนดมาตรฐานสิ่งที่เรียกว่า เครื่องโทรคมนาคมแบบเคลื่อนที่ ซึ่งรวมถึงโทรศัพท์เคลื่อนที่ด้วย (อุปกรณ์โทรคมนาคมในยุคต่อไปอาจจะใช้รวมกันหลายชนิด ทั้งโทรศัพท์บ้าน โทรศัพท์เคลื่อนที่ หรือดาวเทียม เป็นต้น) เรียกรวมกันว่ามาตรฐาน IMT-2000 (International Mobile Telecommunications-2000) ซึ่ง ITU ได้กำหนดความหมายของมาตรฐานดังกล่าวในเชิง ย่านความถี่ (Spectrum Band) และมาตรฐานการเชื่อมต่อทางเทคนิค (Technical Standard) อธิบายรายละเอียดยาวไปเดี๋ยวจะจับประเด็นไม่ได้ผมสรุปเลยดีกว่าว่า เจ้าโทรศัพท์เคลื่อนที่ยุคที่สามมันมีลักษณะทางเทคโนโลยีอย่างไร ทำอะไรได้บ้าง

         นิยาม (Definition)
       
       โทรศัพท์เคลื่อนที่ยุคที่สาม หรือมาตรฐาน IMT-2000 นั้นนิยามสั้นๆ เพื่อให้เข้าใจตรงกันว่า
       
       • “ต้องมี แพลทฟอร์ม(Platform) สำหรับการหลอมรวมของบริการต่างๆ อาทิ กิจการประจำที่ (Fixed Service) กิจการเคลื่อนที่ (Mobile Service) บริการสื่อสารเสียง ข้อมูล อินเตอร์เน็ต และ พหุสื่อ (Multimedia) เป็นไปในทิศทางเดียวกัน” คือ สามารถถ่ายเท ส่งต่อข้อมูล ดิจิตอล ไปยังอุปกรณ์โทรคมนาคมประเภทต่างๆ ให้สามารถรับส่งข้อมูลได้
       
       • “ความสามารถในการใช้โครงข่ายทั่วโลก (Global Roaming)” คือ ผู้บริโภคสามารถ ถืออุปกรณ์โทรศัพท์เคลื่อนที่ไปใช้ได้ทั่วโลก โดยไม่ต้องเปลี่ยนเครื่อง
       
       • “บริการที่ไม่ขาดตอน (Seamless Delivery Service)” คือ การใช้งานโทรศัพท์เคลื่อนที่โดยไม่รู้สึกถึงการเปลี่ยน เซลล์ไซต์ (Cell Site) เขาใช้คำว่า Seam less นั้นแปลว่า ไร้รอยตะเข็บนะครับ
       
       • อัตราความเร็วในการส่งข้อมูล (Transmission Rate) ในมาตรฐาน IMT-2000 นั้นกำหนดไว้ว่าต้องมีอัตราความเร็ว
       
      

       > มากกว่า 144 กิโลบิต/วินาที
          ในทุกสภาวะ

       > ถึง 2 เมกกะบิต/วินาที 
          ในสภาวะกึ่งเคลื่อนที่

       > สูงถึง 384 กิโลบิต/วินาที 
          ในสภาวะเคลื่อนที่
      


       
           นั่นแหละครับคือนิยามที่ ITU ให้ความหมายไว้ อ้อยังมีอีกเรื่องก็คือ ITU ได้กำหนดมาตรฐานการเชื่อมต่อความถี่วิทยุ ไว้ 5 มาตรฐานด้วยกันครับ ที่จำเป็นต้องกำหนดมาตรฐานนั้นก็เพราะว่า ปัจจุบันผู้พัฒนาเทคโนโลยีหลายๆ ค่ายต่างพัฒนาได้รวดเร็วและหลากหลายวิธีการ ดังนั้นหากไม่มีการกำหนดมาตรฐานผลเสียอาจจะไปตกที่ผู้บริโภคเนื่องจากไม่สามารถใช้สินค้า (โทรศัพท์) เชื่อมต่อกันได้ และปัญหาที่สำคัญคือการเชื่อมต่อระหว่างเครือข่าย และอุปกรณ์เครือข่าย เข้าเรื่องดีกว่ามาตรฐานการเชื่อมต่อคลื่นความถี่ของ IMT-2000 มีดังนี้ครับ


มาตรฐานการเชื่อมต่อทางคลื่นวิทยุตามมาตรฐาน IMT-2000 ซึ่งระบุไว้ใน Recommendation ITU-R M.1457 ประกอบไปด้วยห้ามาตรฐานดังนี้ครับ (www.itu.int)   
       

       1. WCDMA
       2. CDMA2000
       3. TD-SCDMA
       4. EDGE
       5. DECT


       
       ในโลกโทรคมนาคมยุคต่อไป หรือโดยเฉพาะระบบโทรศัพท์เคลื่อนที่ยุคต่อไป ความหมายหรือนิยามการทำงาน หรือเทคโนโลยี เขาจะเน้นไปที่ความเร็วในการรับส่งข้อมูลครับ เช่น สามจี เหรอ หมายถึงโทรศัพท์เคลื่อนที่ที่สามารถรับส่งข้อมูลที่มีความเร็วได้ตั้งแต่ 144 kbps ถึง 2 Mbps ประมาณนั้นครับ หรือ เทคโนโลยี GPRS มีอัตราเร็วในการรับส่งข้อมูลที่ 144 kbps และเทคโนโลยี EDGE มีอัตราความเร็วในการรับส่งข้อมูลเท่ากับ 384 kbps เป็นต้นครับ
       
       มีผู้รู้หลายๆ ท่านในวงการโทรคมนาคมถกเถียงกันว่า EDGE ถือเป็น สามจีแล้วนะ หรือบ้างก็ว่า GPRS ก็ต้องเป็นสามจีด้วยสิ เพราะมีความเร็วเท่ากับนิยาม ITM-200 ของ ITU กำหนดไว้ และสำนักงาน กทช. เองก็ได้ให้นิยาม IMT-2000 ไว้เช่นเดียวกับที่ผมนำมาอธิบายให้ฟังข้างต้นแล้ว(นิยาม) ในเอกสานประกอบการทำประชาพิจารณ์แบบเฉพาะกลุ่ม (Focus Group) ที่ผ่านมา ผมเลยคิดเอาเองเป็นความเห็นส่วนตัวว่า บ้านเมืองเรานักกฎหมายเค้าดูตามตัวหนังสือเลยครับยืนยันชัดเจน ถ้าระบบโทรศัพท์เคลื่อนที่ไม่สามารถทำงานได้ตาม “นิยาม” ข้างต้นทุกข้อแล้ว ไม่ถือว่าเป็น สามจี ครับ ซึ่งบางระบบอาจจะทำได้บางข้อเท่านั้น
       
       แต่ในความจริงแล้ว ในอดีตเราไม่เคยมีใครนิยามไว้เป็นทางการหรอกครับ ว่าอะไรคือโทรศัพท์เคลื่อนที่ยุคที่ 1 อะไรคือโทรศัพท์เคลื่อนที่ยุคที่2 หรืออะไรคือโทรศัพท์เคลื่อนที่ยุคที่ 2.5 ล้วนซึ่งอาจจะเกิดจากความเข้าใจตามบทความ โทรศัพท์เคลื่อนที่ยุคแรก นั้นเขาก็เปรียบให้เป็นโทรศัพท์เคลื่อนที่แบบ อนาลอก (Analog) ครับ อย่างเช่น (NMT) Nordic Mobile Telephone ในบ้านเราในอดีตก็มีย่าน 470 ย่าน 800 ย่าน 900 ประมาณนั้นครับ ต่อมาก็ได้มีการพัฒนาระบบขึ้นที่เรียกกันว่าโทรศัพท์เคลื่อนที่ยุคที่สอง ซึ่งก็เปลี่ยนจากสัญญาณ อนาลอก มาเป็นสัญญาณ ดิจิตอล ครับ หรือระบบโทรศัพท์ที่เราใช้กันอยู่ในปัจจุบันนั่นเอง อาทิเช่น ระบบ GSM (Global System for Mobile Communications) เป็นต้นครับ ถ้าจำไม่ผิดระบบดิจิตอล เซลลูล่าร์ ที่เราใช้กันอยู่ปัจจุบันน่าจะมีอัตราความเร็วในการรับส่งข้อมูลประมาณ 64 kbps พูดให้เข้าใจง่ายว่าเหมือนเราต่อ อินเตอร์เน็ต ผ่านสายโทรศัพท์บ้านธรรมดาเท่านั้นเอง และผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ (Operators) ได้ติดตั้งอุปกรณ์เพิ่มเติมเสริมปริทธิภาพการทำงานของระบบให้รวดเร็วขึ้น จึงพัฒนาให้ระบบมีความเร็วขึ้นเป็นเทคโนโลยี GPRS และเทคโนโลยี EDGE ตามลำดับ


       
       อย่างที่ผมกล่าวถึงข้างต้นว่า ในการพัฒนาเทคโนโลยีของผู้ผลิตหลายๆ ค่าย ต่างคนต่างพัฒนา การใช้งานอาจจะส่งผลกระทบถึงผู้บริโภค เช่น เรียกข้ามเครือข่ายไม่ได้ ดังนั้นจึงพยายามบีบให้เหลือมาตรฐานทางเทคโนโลยีน้อยที่สุด ซึ่งก็ยังมีถึง 5 มาตรฐานตาม IMT-2000 ดังที่กล่าวมาแล้ว ทีนี้เรามาดูกันว่าจากระบบโทรศัพท์เคลื่อนที่ที่เราใช้อยู่ในปัจจุบัน จะสามารถปรับปรุงประสิทธิภาพเครือข่ายไปยัง สามจี อย่างไร ซึ่งเรียกกันทั่วไปว่า Evolution Paths

ซึ่งเข้าใจได้ง่ายจากภาพที่ ITU ให้ไว้เพื่อการศึกษา เช่นจากเครือข่าย GSM อย่างไรก็ต้องผ่านการปรับปรุงเครือข่ายให้มีเทคโนโลยี EDGE ก่อนจึงจะสามารถให้บริการ WCDMA ได้ในอนาคต ส่วนผู้ที่ให้บริการระบบ CDMA one ในปัจจุบันสามารถพัฒนาเครือข่ายไปเป็น CDMA20001X ได้เลย รายละเอียดต่างๆ จะอธิบายเพิ่มเติมในตอนต่อๆ ไปนะครับ.

 

 

ที่มา :  www.oknation.net/blog/print.php?id=201420

เนื้อหาโดย: 9engineer.com (https://9engineer.com/)