พระบิดาแห่งรถไฟไทย
โดย : Admin

 

พลเอก พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระกำแพงเพชรอัครโยธินทรงเป็นพระราชโอรส องค์ที่ 35ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 5กับเจ้าจอมมารดาวาด พระองค์ประสูติ เมื่อวันจันทร์เดือน 3 ขึ้น 4 ค่ำ ปีมะเส็ง ตรงกับวันที่ 23 มกราคม พ.ศ.2424 ทรงมีพระนามเดิมว่า " พระองค์เจ้าบุรฉัตรไชยากร "
 
 
             เมื่อทรงพระเยาว์ทรงศึกษาที่โรงเรียน พระตำหนักสวนกุหลาบในพระบรมมหาราชวัง โดยมีพระยาโอวาทวรกิจ (แก่น ) เป็นผู้ถวายพระอักษร เมื่อ พ.ศ.2536 เสด็จไปทรงศึกษา ณ ประเทศฝรั่งเศส แล้วไปศึกษาโรงเรียนแฮร์โรว์ในประเทศอังกฤษ ซึ่งอาจารย์ใหญ่ของโรงเรียนแห่งนี้ได้ชมเชยว่าพระองค์มีความสามารถและพรวิริยะอุตสาหะเป็นอย่างยิ่ง ต่อมาได้ทรงเข้าศึกษาวิชาวิศวกรรมที่ตรินิตี้คอลเลจ แห่งมหาวิทยาลัยเคมบริชตามที่สมเด็จพระบรมชนกนาถกำหนดไว้สำหรับพระองค์ เพื่อให้กลับมารับราชการสนองคุณประเทศชาติในสาขานี้ แล้วทรงศึกษาวิชาทหาร ช่างที่ ชัทแทม
 
              หลังสำเร็จการศึกษาทรงได้รับพระราชทานยศเป็น ร้อยตรีในเหล่าทหารช่างเมื่อ วันที่ 6พฤศจิกายน พ.ศ.2444 แล้ว เสด็จไปทรงศึกษาวิชาวิศวกรรมชั้นสูงจากประเทศฝรั่งเศส เมื่อสำเร็จการศึกษาได้ประทับทอดพระเนตรงาน และทรงศึกษาหาความชำนาญอยู่ในประเทศอังกฤษ กับได้เป็น สมาชิกสถาบันวิศวกรรมช่างโยธาแห่งประเทศอังกฤษ M.I.C.E. ( Member of the Institute of Civil Engineers ) นับว่าพระองค์ทรงเป็นคนไทยคนแรกที่เป็นสมาชิกของสถาบันนี้ ในปี พ.ศ.2447 พระองค์ก็เสด็จกลับประเทศไทย ทรงได้รับพระราชทานยศเป็น "นายพันตรีเหล่าทหารช่าง"

                      

  ในวันที่ 16 พฤศจิกายน พ.ศ.2448 ทรงได้รับพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้อภิเษกสมรสกับพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าหญิงประภาวสิทธินฤมล ในสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้ากรมพระจักรพรรดิพงษ์ ทรงเป็นต้นราชตระกูล "ฉัตรไชย" และทรงมีพระโอรสและธิดารวม 11 พระองค์ คือ  

 


เสด็จในกรมฯ และพระชายา
 
  1. พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าหญิง มยุรฉัตร*
  2. พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้า เปรมบุรฉัตร*
  3. หม่อมเจ้าหญิง ฉัตรสุดา ฉัตรไชย
  4. พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าหญิง วิมลฉัตร*
  5. หม่อมเจ้าหญิง กาณจนฉัตร ฉัตรไชย
  6. หม่อมเจ้าหญิง ภัทรลดา ฉัตรไชย
  7. หม่อมเจ้าชาย สุรฉัตร ฉัตรไชย
  8. หม่อมเจ้าหญิง เฟื่องฉัตร ฉัตรไชย
  9. หม่อมเจ้าหญิง หิรัญฉัตร ฉัตรไชย
  10. หม่อมเจ้าชาย ทิพยฉัตร ฉัตรไชย
  11. หม่อมเจ้าหญิง พิบูลฉัตร ฉัตรไชย

   พระองค์เจ้าชายบุรฉัตรไชยากร นอกจากจะทรงรับราชการทหารแล้ว ยังทรงรับราชการสนองพระเดชพระคุณ และทรงวางฐานในกิจการด้านอื่นๆ เป็นต้นว่า การส่งวิทยุกระจายเสียง การออมสิน การโรงแรม การสหกรณ์ การพาณิชย์ การท่องเที่ยวการโฆษณาและประชาสัมพันธ์ การบินทหารบก และการคมนาคมโดยเฉพาะกิจการรถไฟที่พระองค์ทรงริเริ่มขยาย ปรับปรุงให้มีีความเจริญรุดหน้าทัดเทียมกับนานาอารยประเทศ อันเป็นผลให้พระองค์ได้รับเลื่อนพระอิสริยยศมาโดยลำดับ

         พระองค์เจ้าบุรฉัตรไชยากร มีพระนามเต็มว่า " นายพลเอก พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระกำแพงเพชรอัครโยธินประชาธิบดินทรเจษฎภาดา ปิยมหาราชวงศ์วิศิษฏ์ อเนกยนตรวิจิตรกฤตยโกศล วิมลรัตนมหาโยธาธิบดี ราชธุรันธรีมโหฬาร พาณิชยการคมนาคม อุดมรัตนตรัยสรณธาดามัททวเมตตาชวาศรัย ฉัตร์ชัยดิลกบพิตร "

 

พลเอก พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระกำแพงเพชรอัครโยธิน กับ กิจการรถไฟ

 

พุทธศักราช 2460 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ให้รวมกรมรถไฟสายเหนือกับสายใต้เข้าเป็นกรมเดียวกัน เรียกว่า กรมรถไฟหลวง โดยให้กรมขุนกำแพงเพชรอัครโยธิน เป็นผู้บัญชาการรถไฟอีก ตำแหน่งหนึ่ง นอกเหนือจากหน้าที่ทางราชการทหารในระหว่างที่ทรงบังคับบัญชา กิจการรถไฟนั้นพระองค์ได้บริหารงานด้วยพระปรีชาสามารถทรงนำวิชาการสมัยใหม่เข้ามใช้ ก่อให้เกิดประโยชน์แก่กิจการรถไฟอย่างมาก จนได้รับการขนานพระนามว่า " พระบิดาแห่งกิจการรถไฟสมัยใหม่ "

        เนื่องจากเมื่อพระองค์ท่านเสด็จมาเป็นผู้บัญชาการรถไฟใหม่ ๆ กิจการรถไฟมีคนไทยอยู่น้อยมาก ส่วนใหญ่เป็นชาวต่างประเทศมีชาวเยอรมัน อังกฤษ อิตาเลียน และชาวเอเชียชาติต่างๆ เช่น ชาวอินเดีย ชาวซีลอน และชาวพม่า พระองค์จึงทรงระดมคนไทยโดยเฉพาะอย่างยิ่งจากทหารช่าง กรมแผนที่ และคนไทยที่พูดภาษาอังกฤษได้ จากห้างร้านต่าง ๆ ให้เข้ามาทำงานรถไฟ ทรงฝึกฝนคนไทยให้มีอย่างยิ่งจากทหารช่าง กรมแผนที่ และคนไทยที่พูดภาษาอังกฤษได้ จากห้างร้านต่าง ๆ ให้เข้ามาทำงานรถไฟ

        ทรงฝึกฝนคนไทยให้มีความสามารถในกิจการรถไฟด้วยการแนะนำสั่งสอนด้วยพระองค์เอง ในที่สุดพระองค์ท่านก็ขอพระราชทานพระบรมราชานุญาต ส่งนักเรียนไทยไปศึกษาในต่างประเทศ เพื่อศึกษาวิชาการรถไฟและการพาณิชย์ รุ่นแรก ๆ ได้ส่งไปสหรัฐอมริกา เพราะในยุโรปเกิดสงครามโลกครั้งที่ 1 ต่อมาจึงส่งไปยุโรป เพราะมีค่าใช้จ่ายน้อยกว่า เมื่อนักเรียนเหล่านี้สำเร็จการศึกษาแล้วได้กลับมารับราชการในกรมรถไฟหลวง ทำให้กิจการรถไฟเจริญก้านหน้ามาจนทุกวันนี้

 

 พ.ศ.2471 นายพลเอก กรมหลวงกำแพงเพชรอัครโยธิน ทรงสั่งซื้อรถจักรดีเซลมีกำลัง 180 แรงม้า ส่งผ่านกำลังด้วยการกลจำนวน 2 คัน เข้ามาใช้การเป็นรุ่นแรกในประเทศไทย และเป็นรายแรกในทวีปเอเชีย โดยใช้เป็นรถจักรสำหรับสับเปลี่ยนและลากจูงขบวนรถท้องถิ่นรอบกรุงเทพฯ รถจักรรุ่นนี้สร้างโดยบริษัทสวิสส์โลโคโมติฟ แอนด์ แมชินเวอร์ค ประเทศสวิตเซอร์แลนด์

เนื่องจากพระองค์ทรงเป็นผู้ให้กำเนิดรถจักรดีเซลขึ้นในเมืองไทย รถจักรดีเซลทุกคันที่ใช้การอยู่ในการรถไฟฯ ขณะนี้จึงได้ประดับเครื่องหมาย " บุรฉัตร " อันเป็นพระนามของพระองค์ ติดที่ด้านข้างของรถจักรดีเซลทุกคันที่สั่งเข้ามา เพื่อเป็นการรำลึก และเทิดพระเกียรติแห่งพระองค์ท่านสืบไป

 


เครื่องหมายบูรฉัตร

รถไฟดีเซลเลขที่ 22

 

 พลเอก พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระกำแพงเพชรอัครโยธิน ได้ทรงนำเทคโนโลยีสมัยใหม่มาพัฒนากิจการรถไฟให้บังเกิดผลดี รวดเร็ว และสะดวกในการปฏิบัติงาน ทรงปรับปรุงสัญญาณประแจกลและโทรคมนาคมของกรมรถไฟหลวงใหม่หมด โดยเริ่มใช้โทรศัพท์ทางไกล โทรศัพท์อัตโนมัติ และเครื่องตราทางสะดวกแทนการขอทางด้วยเครื่องโทรเลข ทรงวางแผนและดำเนินนำรถจักร ดีเซลมาใช้แทนรถจักรไอน้ำ โดยมุ่งเน้นการนำรถจักรดีเซลไฟฟ้ามาใช้การ เพราะได้ทรงวางแผนและศึกษาต่อไปถึงความเป็นไปได้ถึง การนำรถจักรดีเซลทำการลากจูงขบวนรถหมดแล้ว นับว่าพระดำริของพระองค์ในเรื่องนี้ก่อให้เกิดคุณประโยชน์อย่างมหาศาลในกาลต่อมา พระกรณียกิจและพระดำริของพลเอก พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระกำแพงเพชรอัครโยธิน ได้ก่อให้เกิดความเจริญก้าวหน้าแก่กิจการรถไฟและบังเกิดคุณประโยชน์แก่ประเทศชาติ และประชาชนไทยอย่างมหาศาล


 ขอบคุณแหล่งข้อมูลและภาพประกอบ

 

 

        

เนื้อหาโดย: 9engineer.com (https://9engineer.com/)