วัฒนธรรมการทำงานของคนไทยกับเยอรมันต่างกันอย่างไร
โดย : Admin

 

ด้วยความที่อุปนิสัยใจคอของคนไทย มีความแตกต่างหรือแทบจะตรงกันข้ามกับคนเยอรมันในทุก ๆ เรื่อง

วันนี้...จึงขอนำเสนอสารคดีจาก BBC ของอังกฤษชุด “Make me a German” ซึ่งถ่ายทอดเรื่องราวของครอบครัวนักข่าวชาวอังกฤษ ที่ประกอบด้วยสามี ภรรยา และลูกน้อย ที่ยินดีจะไปใช้ชีวิตในเยอรมนี



เพื่อค้นหาความลับว่า...อะไรที่ทำให้ประเทศนี้ประสบความสำเร็จทางด้านเศรษฐกิจได้ดีขนาดนี้

(เยอรมนีเป็นพี่เบิ้มของยุโรป ปัญหา Euro Zone ที่ยังประคับประคองกันได้อยู่ ก็อาศัยประเทศหลักอย่างเยอรมนี และยังเป็นผู้นำการส่งออกอันดับสามของโลกอย่างเครื่องไฟฟ้า เครื่องซักผ้า เบียร์ Mercedes Benz รถไฟฟ้าความเร็วสูง)



สองสามีภรรยาชาวอังกฤษได้ค้นพบว่า ระดับหนี้สินต่อครัวเรือนของคนเยอรมันอยู่ในระดับต่ำมากที่สุดในยุโรป ชาวบ้านทั่วไปนิยมใช้จ่ายด้วยเงินสดมากกว่าบัตรเครดิต

ธนาคารไม่อนุมัติบัตรเครดิตให้กันง่าย ๆ ในขณะที่ชาวเยอรมันก็ไม่ต้องการได้บัตรเครดิตง่าย ๆ เช่นกัน

ทั้งยังสามารถออมเงินได้ 10% ของเงินเดือนแทบทุกคน

ผู้คนส่วนใหญ่มีเงินฝากในธนาคารเป็นกอบเป็นกำทำให้ระบบการหมุนเวียนของเงินกู้กับเงินฝากสมดุลกันได้ดี

คนเยอรมันไม่นิยมเอาบ้านหรือรถยนต์ไปจำนองเพื่อนำเงินมาทำธุรกิจ เพราะถือว่าเป็นความเสี่ยงที่อาจจะสูญเสียทรัพย์สินที่มีอยู่

คนเยอรมันใช้เวลาทำงานต่อสัปดาห์น้อยกว่าคนในชาติอื่น ๆ ทั่วโลก แต่ได้ประสิทธิภาพมากกว่า การทำงานล่วงเวลาถูกมองว่าเป็นสิ่งไม่เหมาะสม เนื่องจากการให้เวลากับครอบครัวหลังเลิกงานถือว่าเป็นสิ่งสำคัญมาก

เวลาแปดชั่วโมงต่อวัน คนเยอรมันทำงานอย่างจริงจังในเวลางาน ไม่เสียเวลาไปกับการพูดคุยเรื่องอื่น ๆ ที่ไม่เกี่ยวกับงาน อีเมลล์ส่วนตัว Facebook และโทรศัพท์มือถือ ...เป็นที่รู้กันว่าไม่ควรใช้ในชั่วโมงทำงาน



นักข่าวชาวอังกฤษที่ไปทำงานในโรงงาน Faber & Castel ที่เยอรมนี ยังถูกต่อว่าจากเพื่อนร่วมงานทันทีที่หยิบโทรศัพท์เพื่อต้องการส่ง SMS แค่ครั้งเดียว

หญิงสาวชาวอังกฤษผู้หนึ่งยังให้สัมภาษณ์ว่า ชีวิตในที่ทำงานที่นี่เขาจริงจังกันมาก ไม่มีการพูดคุย นินทา ไม่อยากรู้อยากเห็นว่าใครเป็นแฟนใคร ใครเลิกกับใคร ใครจะไปออกเดทกับใคร

ไม่แม้แต่จะเล่าเรื่องละครทีวีที่ดูเมื่อคืน เลิกงานแล้วจะไปไหน จะไปทานดินเนอร์กับใคร ก็ไม่มีการพูดคุยกัน

การมาทำงานสายจะถูกมองว่าเป็นคนไม่รักษาสัญญา จะมาสายสามนาทีหรือสามสิบนาที ก็ถือว่าเป็นคนไม่มีคุณภาพเพราะขาดความเคารพต่อตัวเองและองค์กร

สองในสามของคุณแม่มือใหม่จะไม่ทำงานนอกบ้าน การบอกว่าเป็น Housewife ในประเทศอื่น ๆ อาจจะรู้สึกเขินอายเหมือนว่าตนเองไม่มีงานทำ แต่ที่นี่มีแต่ความภาคภูมิใจหากจะได้เป็น Housewife

รัฐบาลให้สวัสดิการดีกับคุณแม่ที่ต้องออกจากงาน ทั้งนี้ก็เพื่อต้องการให้แม่ได้เลี้ยงดูลูกด้วยตนเอง การให้เวลากับลูกถือเป็นสิ่งสำคัญ

ในวันอาทิตย์ ร้านรวงทั่วไปตามแหล่ง Shopping จะปิดเงียบ เพื่อให้ผู้คนส่วนใหญ่มีเวลาอยู่กับครอบครัว เมื่อสถาบันครอบครัวแข็งแรงประเทศชาติก็จะแข็งแรง



ระดับองค์กร ในยามยากของเศรษฐกิจ บริษัทส่วนใหญ่ไม่ใช้วิธีการ Lay off พนักงาน ไม่นิยมการปลดคนงานออกแบบกระทันหัน เพื่อความอยู่รอดของบริษัท

อาจจะเรียกว่าเป็นวัฒนธรรมองค์กรไปเสียแล้วที่บริษัทจะเป็นห่วงความอยู่รอดของพนักงานก่อน เพื่อที่จะได้ช่วยกันประคองให้บริษัทอยู่รอด

พนักงานยินดีที่จะถูกลดรายได้อย่างพร้อมเพียงกันเพื่อให้ทุกคนอยู่ได้และบริษัทอยู่รอด


สิ่งนี้จึงสะท้อนให้เห็นถึงการรักพวกพ้อง รักองค์กร และรักชาติในที่สุด

สังเกตได้จากทีมชาติฟุตบอลของเยอรมนี จะไม่ค่อยมีดาวเด่นที่โด่งดังระดับโลก แต่ก็สามารถคว้าแชมป์โลกได้ถึง 3 สมัย ด้วยทักษะการเล่นอย่างเป็นทีมเวิร์คมากกว่าความสำเร็จจากความสามารถเฉพาะบุคคล

ใช่เลยครับ การใช้ชีวิตแบบพอเพียง ประหยัด จริงจังในหน้าที่ มีระเบียบวินัย ตรงต่อเวลา มีความรับผิดชอบสูง รักครอบครัว รักพวกพ้อง รักชาติ

เหล่านี้ล้วนเป็นอุปนิสัยขั้นพื้นฐานที่คนส่วนใหญ่ในเยอรมนีได้ปฏิบัติสืบต่อกันมา โดยไม่จำเป็นต้องมียุทธศาสตร์ใหม่ ๆ อะไรที่แปลกแหวกแนวมากระตุ้นเศรษฐกิจให้เฟื่องฟูอย่างที่ประเทศอื่น ๆ ชอบทำกัน

(เข้าชมสารคดีนี้ได้ที่ http://youtu.be/9bTKSin4JN4 Make me a German)

 



Credit : บุญชัย ปัณฑุรอัมพร - CEO Blogs กรุงเทพธุรกิจ

เนื้อหาโดย: 9engineer.com (https://9engineer.com/)