เก็บตกจาก FB
|
ดร.เอ็ดเวิร์ด เดอ โบโน ปรมาจารย์ด้านความคิดสร้างสรรค์
แนะนำว่า `การคิดแบบเดิม´ (Traditional Thinking) ซึ่งได้แก่...
● การคิดแบบโต้แย้งวิจารณ์ (Critical Thinking)
● การคิดแบบตรรก (Logical Thinking)
● การคิดแบบตัดสินประเมิน (Judgment Thinking)
โดยใช้การถกเถียงกัน(Argument) เป็นเครื่องมือตัดสินที่มุ่งหาว่าใครผิด ใครถูก จนเป็นการคิดแบบ “ฉันถูก เธอผิด” (I am right, you are wrong)
นั้นไม่เพียงพอที่จะช่วยให้การบ
ริหารงานไปได้อย่างราบรื่น รุดหน้า และสำเร็จอย่างมีประสิทธิภาพ...เท่าที่ควร
|
ตัวอย่าง `การคิดแบบเดิม´ ที่พบได้บ่อยๆ ...
ในการประชุมแห่งหนึ่ง ผู้ร่วมประชุมต้องการหาวิธีใหม่ๆ หรือความคิดใหม่ๆ (New Ideas) เพื่อแก้ปัญหาที่มีอยู่
เมื่อมีสมาชิกเสนอวิธีแก้ปัญหาแบบใหม่วิธีหนึ่งในที่ประชุม ความคิดนั้นมีส่วนที่เป็นประโยชน์อยู่ประมาณ 95% และมีจุดอ่อนหรือข้อบกพร่องอยู่บ้างประมาณ 5%
แต่เป็นจุดอ่อนและปัญหา 5% นี้เอง ที่คนมักจะหยิบยกขึ้นมาถก และว่า "ยังไม่ดีพอ ยังไม่สมบูรณ์แบบ"
ช่วงของการยกจุดอ่อนขึ้นมาแย้งผู้เสนอนั้น ผู้คนในที่ประชุมคึกคักมีชีวิตชีวาขึ้นมาทันที และดูจะเห็นตรงกันและเข้าใจสิ่งที่คนยกมาแย้งได้ง่ายมาก
เมื่อมีใครคนหนึ่งแย้งขึ้นมาก็จะมีคนอภิปรายสนับสนุนข้อแย้งนั้นได้ยืดยาวอย่างมีรสชาติ พร้อมยกกรณีตัวอย่างมาอธิบายประกอบให้เห็นอย่างเข้มแข็งและเป็นปึกแผ่นว่าความคิดนี้ดีแต่ใช้ไม่ได้หรอก
เมื่อมีคนเห็นจุดอ่อนมากมาย ความคิดใหม่ที่คนเสนอขึ้นมานั้นก็ตกไป
พอมีคนเสนอความคิดอื่นขึ้นมาอีก ก็มีคนยก 5% ขึ้นมาแย้งอีกตามครรลองเดิม ประชุมกันสองสามชั่วโมงยังหาข้อสรุปไม่ได้
ในแต่ละวัน เวลาส่วนหนึ่งในการทำงานของหลายๆ คนโดยเฉพาะผู้บริหารและหัวหน้างาน จึงใช้ไปกับการประชุม เพราะบางเรื่องประชุมไม่เสร็จในครั้งเดียวเพราะยังคิดหาข้อสรุปไม่ได้ งานของตนเองก็รออยู่ที่โต๊ะ
จนผู้คนบางส่วนรู้สึกว่าตนทำงานไม่ทันเพราะงานเยอะมาก ซึ่งในกรณีที่พูดถึงกันนี้อาจเป็นไปได้ว่า งานก็เยอะ แต่เวลาในการทำงานมีน้อย เพราะประชุมนาน
`การคิดแบบเดิม´ ซึ่งทำให้คนคิดและพูดจุด 5% กันเป็นส่วนใหญ่นั้น ทำให้เกิด `สิ่งที่น่าเสียดาย´ ในบริษัทและองค์กรต่างๆ เช่น...
1. ทำให้คนไม่กล้าคิด
เพราะเห็นว่าความคิดของตนอาจไม่สมบูรณ์แบบมากพอ เพราะคิดอย่างไรก็มีจุดบกพร่อง จุดอ่อน
2. ทำให้คนที่คิดได้ไม่กล้าพูดเสนอความคิดของตนแก่ที่ประชุม
เพราะรู้ว่าจะมีคนหาเจอ 5% และนำมาแย้งความคิดของตนแน่นอน ถ้าเป็นเช่นนั้นแม้ตนเสนอไปก็ย่อมไม่ผ่านการพิจารณาอยู่ดี เพราะฉะนั้นพูดไปก็ไม่คุ้ม เหมือนอยู่ดีๆ ก็ขึ้นเวทีไปให้คนอื่นชก ทั้งๆ ที่รู้อยู่แล้วว่ามีคนส่วนหนึ่งพร้อมชกอยู่แล้ว
3. ทำให้คนบางส่วนมีแนวโน้มที่จะเลือกเป็นคนคอยโต้แย้งมากกว่าจะเลือกเป็นคนคิดใหม่
เพราะระหว่างการเป็นคนเสนอความคิด แล้วถูกคนอื่นโต้แย้ง คัดค้าน กับการเป็นคนไม่เสนอความคิดแต่คอยโต้แย้งความคิดของคนอื่นนั้น คนส่วนใหญ่เลือกที่จะคอยแย้งมากกว่า
ซึ่งอาจเป็นเพราะ...การคิดให้ได้ความคิดใหม่นั้นทำได้ยากกว่า และต้องรับศึกจากคนโต้แย้งมากกว่า
ในทางตรงข้าม การคอยโต้แย้งความคิดของคนอื่นนั้นดูจะทำได้สบายๆ ไม่ต้องออกแรงคิดอะไรสักเท่าไรก็พบจุดที่จะแย้งใครก็ได้
และเหตุหนึ่งที่การโต้แย้งหรือโจมตีความคิดของคนอื่นดูดึงดูดใจคนบางคนมากกว่า เพราะผู้โต้แย้งดูจะเป็นฝ่ายรุกไล่คนอื่น ทำให้รู้สึกเหนือกว่า เพียงแต่คอยแย้งให้อีกฝ่ายจนมุมให้ได้เท่านั้น ขณะที่คนเสนอความคิดต้องคอยตั้งรับแรงปะทะจากคนหลายคน
4. ทำให้เกิดทัศนคติที่คลาดเคลื่อนแก่ผู้ที่เข้ามาทำงานใหม่ๆว่าการเป็นคนโต้แย้งและหาข้อบกพร่องของความคิดคนอื่นได้ดูเหมือนเป็นคนเฉียบคม และแน่กว่าคนที่คิดความคิดใหม่ๆ ได้เสียอีก
เด็กรุ่นใหม่อาจเห็นว่าท่าทีของรุ่นพี่ที่กำลังพูดคัดค้านและโต้แย้งคนอื่นนั้น ดูมาดมั่นและมีพลัง ส่วนคนที่ถูกแย้งนั้นส่วนใหญ่เรียบๆ ไม่หวือหวา ร้อนแรงเข้มข้นเหมือนคนที่กำลังโต้แย้ง
คนรุ่นหลังที่มีทัศนคติเช่นนี้ก็จะเลียนแบบและสืบทอดการเป็นนักโต้แย้ง และไม่คิดอะไรใหม่ๆ ต่อไป เพราะตนคิดว่าจะช่วยที่ประชุมตรวจสอบความคิดของคนอื่น ซึ่งตนถือว่าเป็นบทบาทที่สำคัญมาก
5. ทำให้ปัญหาไม่ได้รับการแก้ไขอย่างทันกาลตามที่ควร
เพราะความคิดทั้งหลายไม่ผ่านด่าน 5% คนมักเคยชินกับการวิเคราะห์ข้อดี-ข้อเสีย พอมีข้อเสียก็ทิ้งความคิดนั้น แล้วหวังว่าจะได้ความคิดใหม่ที่ดีมากๆ
คนที่มีหน้าที่รับผิดชอบในการแก้ปัญหาจึงไม่ลงมือแก้ปัญหาเสียทีเพราะยังหาวิธีแก้ไม่ได้ อยากแก้ไขให้ได้เร็วๆ แต่ในใจก็คิดว่าใครก็อยากแก้ แต่ที่ประชุมยังคิดไม่ออก
6. ทำให้กำลังใจของคนที่หมั่นเพียรคิดหาทางช่วยแก้ปัญหาถูกบั่นทอน
เพราะเสนอความคิดใหม่ทีไร จะมีคนนำ 5% ขึ้นมาทักท้วงทุกที และมักถูกย้อนถามว่าแล้วจะจัดการอย่างไรกับ 5% ที่จะเกิดขึ้น
และไม่ว่าคนเสนอความคิดจะหาทางแก้ให้สักเท่าไร คนโต้แย้งก็จะสามารถหา 5% ของวิธีแก้ได้อีกอยู่ดี คนที่เสนอหนึ่งครั้งแล้วมักจะเข็ดและไม่เสนออีก ยกเว้นคนที่มุ่งมั่นที่จะช่วยจริงๆ และ พร้อมอดทนเพื่อฝึกตนให้เข้มแข็งมั่นคง หนักแน่นปานภูผาหิน
7. ทำให้การประชุมเหือดแห้ง ไม่ค่อยมีชีวิตชีวา
ผู้คนบางส่วนเหนื่อยใจ ซึม และเพิกเฉย การประชุมอาจไม่มีประสิทธิภาพ สมกับความรู้และตำแหน่งของคนที่ร่วมประชุม แต่ทุกวันที่ผ่านไป ผู้คนยังคงดำเนินชีวิตอยู่ในวังวนของการประชุมรูปแบบเดิมนี้ เพราะอาจไม่เห็นทางอื่นให้เลือก และอาจไม่เห็นทางออกจากวังวนนี้ก็เป็นได้
8. ทำให้ความคิดสร้างสรรค์ในองค์กรไม่ค่อยมีโอกาสเกิด และงอกงามจนเป็นนวัตกรรมของบริษัทและองค์กร
ทั้งๆ ที่คนในบริษัทมีความสามารถคิดได้ ถ้าบรรยากาศในบริษัทอำนวยต่อความคิดสร้างสรรค์ของบุคลากร บุคลากรจะช่วยผู้บริหารคิดได้ แทนที่จะรอให้ผู้บริหารคิดให้ทุกเรื่อง
นี่คือตัวอย่างบางส่วนของผลในด้านการทำงานที่เกิดจากการคิดแบบเดิม
การคิดแบบใหม่จะมาเสริมพลังเพื่อปิดช่องโหว่ของการคิดแบบเดิม และเพิ่มเติมสิ่งใหม่ๆ ในการคิดเพื่อช่วยให้ชีวิตการทำงานร่วมกันดียิ่งขึ้นโดยทั่วกัน
Credit : BizWeek Business School ฉบับ 22 Sep 2006 โดย อ.รัศมี ธันยธร ผู้อำนวยการศูนย์ความคิดสร้างสรรค์