|
โดย
ชาย ชีวะเกตุ: ที่ปรึกษากองอนุรักษ์พลังงานและพลังงานทดแทน.
หลักการผลิตไฟฟ้าโดยเซลล์แสงอาทิตย์ “เซลล์แสงอาทิตย์” เป็นสิ่งประดิษฐ์ที่สร้างขึ้นเพื่อเป็นอุปกรณ์สำหรับการเปลี่ยนพลังงานแสงให้เป็นพลังงานไฟฟ้า โดยการนำสารกึ่งตัวนำ เช่น ซิลิคอน ซึ่งมีราคาถูกที่สุดและมีมากที่สุดบนพื้นโลก นำมาผ่านกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ผลิตให้เป็นแผ่นบางบริสุทธิ์ และในทันทีที่มีแสงตกกระทบบนแผ่นเซลล์ รังสีของแสงที่มีอนุภาคของพลังงานประกอบ ที่เรียกว่า Photon จะถ่ายเทพลังงานให้กับ Electron ในสารกึ่งตัวนำ จนมีพลังงานมากพอที่จะกระโดดออกมาจากแรงดึงดูดของ Atom และสามารถเคลื่อนที่ได้อย่างอิสระ ดังนั้นเมื่อ Electron มีการเคลื่อนที่ครบวงจร ก็จะทำให้เกิดไฟฟ้ากระแสตรงขึ้น องค์ประกอบหลักของ “เซลล์แสงอาทิตย์” คือ สารกึ่ง ตัวนำ (Semi Conductors) 2 ชนิด มาต่อกัน ซึ่งเรียกว่า P-N Junction เมื่อแสงอาทิตย์ตกกระทบเซลล์แสงอาทิตย์ ก็จะถ่ายพลังงานให้อะตอมของสารกึ่งตัวนำ ทำให้เกิดอีเลคตรอนส์และโฮลส์อิสระ ไปรออยู่ที่ขั้วต่อ ดังนั้นเมื่อมีการเชื่อมกับวงจรภายนอก เช่น เอาหลอดไฟฟ้ามาต่อคร่อมขั้วต่อ ก็จะเกิดการไหลของอีเลคตรอนส์/โฮลส์ ที่ให้พลังงานไฟฟ้ากระแสตรงกับวงจรภายนอกได้ และจะให้พลังงานไฟฟ้าอย่างต่อเนื่อง ตราบเท่าที่ยังมีแสงอาทิตย์ตกกระทบเซลล์ ซึ่งสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้ทันที หรือนำไปกักเก็บไว้ในแบตเตอรี่ เพื่อใช้งานภายหลังได้
.. อีเลคตรอนส์อิสระ ไปรอที่ขั้ว - และ +โฮลส์อิสระ ไปรอที่ขั้ว +
เทคโนโลยีเซลล์แสงอาทิตย์
|
Cost Decreases for PPV Pioneer Installation | ||||
Year |
System
Cost (turn-key) |
SMUD
Program Cost |
Total
Installed Cost |
Energy Cost 30 yr, ¢/kWh |
1993 | $7.70 | $1.08 | $8.78 | 23¢ |
1994 | $6.23 | $0.90 | $7.13 | 20¢ |
1995 | $5.98 | $0.89 | $6.87 | 19¢ |
1996 | $5.36 | $0.85 | $6.21 | 17¢ |
1997 | $4.75 | $0.59 | $5.34 | 16¢ |
1998 | $4.25 | $0.82 | $5.07 | 16¢ |
1999 | $3.75 | $0.75 | $4.50 | 14¢ |
2000* | $3.25 | $0.65 | $3.90 | 12¢ |
2001* | $2.80 | $0.62 | $3.42 | 11¢ |
2002* | $2.69 | $0.49 | $3.18 | 10¢ |
2003* | $2.59 | $0.39 | $2.98 | 9¢ |
All cost in per kW (PTC;A/C). |
แม้นว่าเทคโนโลยีเซลล์แสงอาทิตย์ ได้มีการพัฒนามาอย่างต่อเนื่องจนเป็นที่เชื่อถือได้ โดยใช้สารกึ่งตัวนำแบบผลึกของซิลิกอน (Crystalline Silicon) ที่มีความบริสุทธิ์สูง และมีประสิทธิภาพในการเปลี่ยนแสงอาทิตย์ ให้เป็นไฟฟ้าได้ประมาณ 12-17% แต่ราคาเซลล์แสงอาทิตย์แบบผลึกของซิลิกอน ไม่สามารถจะลดลงได้อีกมากนัก เนื่องจาก Crystalline Silicon เป็นส่วนประกอบสำคัญของอุตสาหกรรมอีเลคทรอนิคส์ จึงมีคุณค่าเพิ่ม (Value Added) ที่สูงกว่า เมื่อเปรียบเทียบกับการนำมาผลิตเซลล์แสงอาทิตย์ นอกจากนั้นกรรมวิธีในการผลิตเซลล์แสงอาทิตย์จาก Crystalline Silicon ที่จะต้องนำมาเลื่อยให้เป็นแผ่น (Wafer) บางๆ จึงทำให้เกิดการสูญเสีย ในลักษณะขี้เลื่อยไปไม่น้อยกว่าครึ่ง
อย่างไรก็ตามบริษัทผู้ผลิตเซลล์แสงอาทิตย์หลายๆแห่ง ได้พยายามที่จะพัฒนาเพื่อลดราคาการผลิตฯ โดยการดึงเป็นแผ่นฟิล์ม (Ribbon) และการใช้ Silicon แบบไม่เป็นผลึก คือ Amorphous Silicon ในลักษณะฟิล์มบางเคลือบลงบนแผ่นกระจกหรือแผ่น Stainless Steel ที่งอโค้งได้ โดยวิธีดังกล่าวแล้วนี้ จะสามารถช่วยลดต้นทุนการผลิตลงไปได้มาก
แต่เนื่องจาก Amorphous Silicon มีประสิทธิภาพต่ำกว่า และจะเสื่อมสภาพอายุการใช้งานเร็วกว่าแบบ Crystalline Silicon ดังนั้น จึงได้มีการพยายามพัฒนาสารประกอบตัวอื่นๆ เช่น Copper Indium Diselenide (CIS) และ Cadmium Telluride (CdTe) เพื่อผลิตเซลล์แสงอาทิตย์แบบฟิล์มบางขึ้น ซึ่งคาดว่าจะมีประสิทธิภาพสูงกว่าและอายุการใช้งานนานกว่า Amorphous Silicon ด้วย โดยคาดว่าจะนำออกสู่ตลาดเซลล์แสงอาทิตย์ได้ในอีก 5-10 ปี ข้างหน้า ด้วยราคาซึ่งคาดว่าจะถูกกว่าแบบ Crystalline Silicon ประมาณครึ่งหนึ่ง นอกจากนั้นยังได้มีงานพัฒนาอุปกรณ์ส่วนควบที่คู่ขนานไปพร้อมๆ กับการพัฒนาเซลล์แสงอาทิตย์ด้วย คือ การพัฒนาอุปกรณ์แปลงไฟฟ้า (Inverter) ให้มีราคาถูกลงอีก
จากการวิเคราะห์ของกระทรวงพลังงาน สหรัฐ (US DOE) ณ ราคาต้นทุนปัจจุบัน (1.6 แสนบาทต่อกิโลวัตต์) ของระบบเซลล์แสงอาทิตย์ ราคาไฟฟ้าที่ผลิตต่อหน่วย จะเริ่มถูกกว่าราคาไฟฟ้าที่รัฐฮาวาย คาลิฟอร์เนีย อะริโซน่า นิวยอร์ค และ แมสซาจูเซทท์ แล้ว และถ้ามีการเพิ่มสิ่งจูงใจ เพื่อทำให้ราคาต้นทุน ของระบบเซลล์แสงอาทิตย์ลดลงเหลือประมาณ 1 แสนบาท ได้เมื่อใด ราคาต่อหน่วยของไฟฟ้าแสงอาทิตย์ จะลดเหลือใกล้เคียงกับราคาไฟฟ้าของเกือบทุกรัฐ
ราคาไฟฟ้าแสงอาทิตย์ที่การลงทุนและอัตราดอกเบี้ยต่างๆ
Source: Solar 97 Conference Washington DC 1997; Howard Wenger and Christy Herig
สถานะภาพระบบเซลล์แสงอาทิตย์ของโลก
จนถึงปัจจุบันนี้ กำลังการผลิตไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ทั่วโลก
มีปริมาณสะสมรวมประมาณ 1 ล้านกิโลวัตต์แล้ว ในจำนวนนี้ 6.31 แสนกิโลวัตต์
เป็นตัวเลขสะสมระหว่าง ค.ศ.1992-1998 โดยเป็นของสหรัฐอเมริกา 39% ญี่ปุ่น 28%
ยุโรป 25% และประเทศอื่นๆ เช่น จีน อินเดีย ออสเตรเลีย อีก 9%
ภาพแสดงความเป็นมาและแนวโน้มของเทคโนโลยีเซลล์แสงอาทิตย์
ในปี ค.ศ.1998 ทั่วโลกผลิตเซลล์แสงอาทิตย์ได้รวมประมาณ 1.52 แสนกิโลวัตต์
เพิ่มขึ้นจากปี ค.ศ. 1997 ที่ผ่านมา ประมาณ 20% หรือ 1.26 แสนกิโลวัตต์
ซึ่งปริมาณที่เพิ่มขึ้นนี้แสดงให้เห็นว่า ความต้องการของตลาดเพิ่มมากขึ้น
โดยส่วนหนึ่งก็เพื่อสำรองความต้องการใช้งานแบบหลังคาบ้านต่อเข้าระบบ (Roof-top
Grid Connected) ซึ่งในประเทศญี่ปุ่นมีโครงการจะติดตั้งให้ได้ถึง 7
หมื่นหลังคาบ้าน ในช่วงปี ค.ศ. 2000-2002 แต่เมื่อพิจารณาจากแนวโน้มความต้องการ
ในปี ค.ศ.1997 จำนวน 9,400 หลัง และในปี ค.ศ.1998 ได้เพิ่มปริมาณเป็น 14,000 หลัง
จึงเป็นที่คาดว่าตั้งแต่ปี ค.ศ. 2001 เป็นต้นไป การผลิตไฟฟ้าจากเซลล์แสงอาทิตย์
จะเป็นที่นิยมในประเทศญี่ปุ่น จนรัฐอาจไม่จำเป็นต้องให้เงินอุดหนุน
ในการติดตั้งอีกต่อไป
ความสำเร็จของประเทศญี่ปุ่น ก็เนื่องมาจากรัฐบาล
ให้การสนับสนุนอย่างเป็นรูปธรรม และมีนโยบายเกี่ยวกับพลังงานในอนาคต อย่างชัดเจน
โดยต้องการลดการพึ่งพาแหล่งพลังงานนำเข้า ลงให้ได้มากที่สุด และในขณะเดียวกัน
ก็มีเป้าหมายลดมลภาวะ จากการเผาไหม้เชื้อเพลิงลงให้เหลือน้อยที่สุดด้วย
ประเทศในยุโรป ก็มีการผลิตเซลล์แสงอาทิตย์เพิ่มขึ้นในปี ค.ศ.1997 ประมาณ 60%
คือเพิ่มจาก 1.9 หมื่นกิโลวัตต์ เป็น 3.1 หมื่นกิโลวัตต์ ซึ่งในช่วงเวลาเดียวกัน
ในประเทศสหรัฐอเมริกาก็ได้เพิ่มการผลิตขึ้น 32% หรือจาก 3.9 หมื่นกิโลวัตต์ เป็น
5.1 หมื่นกิโลวัตต์ โดยปัจจุบัน ประมาณ 42% ของเซลล์แสงอาทิตย์ทั่วโลก
เป็นเซลล์ที่ผลิตจากประเทศสหรัฐอเมริกา
สำหรับประเทศอื่นๆ เช่น จีน อินเดีย ออสเตรเลีย ในช่วงปี ค.ศ. 1997-1998
เพิ่มการผลิตเซลล์แสงอาทิตย์ขึ้น 13% คือจาก 1.92 - 2.18 หมื่นกิโลวัตต์
โดยส่วนหนึ่งเป็นการลงทุนในประเทศอุตสาหกรรม เพื่อเตรียมเป็นฐานการผลิตสำหรับตลาด
ในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา
ข้อมูลของการติดตั้งเซลล์แสงอาทิตย์เพื่อใช้งานในประเทศไทย จนถึงปี พ.ศ. 2543 มีหน่วยงานต่างๆ ได้ติดตั้งเซลล์ขึ้นสาธิตใช้งานในลักษณะต่างๆ รวมกันแล้วประมาณ 5,217 kWp ลักษณะการใช้งาน จะเป็นการติดตั้งใช้งานในพื้นที่ที่ห่างไกล เช่น สถานีเติมประจุแบตเตอรี ระบบสื่อสารหรือสถานีทวนสัญญาณ ขององค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย ระบบสูบน้ำด้วยพลังงานแสงอาทิตย์ ระบบไฟฟ้าหมู่บ้านที่ห่างไกล และสัดส่วนที่เหลือจะติดตั้งในโรงเรียนประถมศึกษา สาธารณสุข และไฟสัญญาณไฟกระพริบ นอกจากนั้น ยังมีงานสาธิตการใช้พลังงานแสงอาทิตย์ ผสมผสานร่วมกับพลังงานรูปแบบอื่น เช่น พลังงานน้ำ พลังงานลม และใช้ร่วมกับเครื่องยนต์ดีเซล ด้วย
ประเภทและสัดส่วนของการใช้งาน แบ่งออกตามลักษณะโดยย่อ ดังนี้ |
||
ระบบโทรคมนาคม | 1,900 kWp | 36.5 % |
ระบบประจุแบตเตอรี่ให้หมู่บ้านห่างไกล | 1,693 kWp | 32.5 % |
ระบบสูบน้ำในหมู่บ้านห่างไกล | 994 kWp | 19.0 % |
ระบบสอนหนังสือทางไกล | 124 kWp | 2.4 % |
ระบบผลิตไฟฟ้าผสมผสานในพื้นที่ห่างไกล | 25 kWp | 0.5 % |
ระบบผลิต/จำหน่ายไฟฟ้าเข้าสู่สายส่ง | 25 kWp | 5.3 % |
เบ็ดเตล็ด เช่น ไฟสัญญาน สถานีอนามัยฯ | 200 kWp | 3.8 % |
โดยส่วนหนึ่งของโครงการเหล่านี้ ได้การสนับสนุนจากกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน โดยผ่านทางสำนักงานคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (สพช.) ซึ่งเป็นหน่วยงานที่รับผิดชอบในการสนับสนุน และร่วมมือกับหน่วยงานของรัฐและเอกชน ที่จะให้มีการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ และมีการนำพลังงานหมุนเวียน ที่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อย มาใช้อย่างแพร่หลาย
สพช. ได้มีการจัดประชุมสัมมนา เพื่อกำหนดแนวทางหลักเกณฑ์ และนโยบายเพื่อสนับสนุน การใช้เซลล์แสงอาทิตย์ ระหว่างปี 2540-2542 ที่จังหวัดภูเก็ต เมื่อเดือนพฤษภาคม 2540 ซึ่งมีนักวิชาการจากหลายสถาบัน ได้มาประชุมร่วมกัน และได้เสนอให้มีการดำเนินโครงการต่างๆ ที่เกี่ยวกับการใช้เซลล์แสงอาทิตย์ เป็นแหล่งพลังงาน โดย สพช. ได้รวบรวมความต้องการของหน่วยงานต่างๆ และจัดทำเป็นนโยบายในการสนับสนุนด้านการเงิน จากกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน
จากวันนั้น หน่วยงานต่างๆ ได้ดำเนินโครงการที่ตนได้เสนอไว้อย่างต่อเนื่อง และสำเร็จลงอย่างครบถ้วน จนถึงปัจจุบันนี้กองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน ได้ให้การสนับสนุนโครงการต่างๆ ไปแล้ว ไม่น้อยกว่า 20 โครงการ ในวงเงินกว่า 1,000 ล้านบาท อาทิเช่น
ต้นทุนการผลิตไฟฟ้าจากแหล่งต่างๆ (บาท/กิโลวัตต์-ชั่วโมง)
ประเภทโรงไฟฟ้า |
ต้นทุนฯ (บาท/kw-hr) |
หมายเหตุ |
1. พลังน้ำ ขนาดเล็ก (<1MW) | 13.60 | ผาบ่อง จ.แม่ฮ่องสอน กรมพัฒนาและส่งเสริมพลังงาน |
2. พลังน้ำ ขนาดกลาง-ใหญ่ (5-180 MW) | 1.16 | กฟผ. |
3. พลังความร้อน (25-600MW) | 1.52 | กฟผ. |
4. พลังความร้อนร่วม (60-250 MW) | 1.54 | กฟผ. |
5. กังหันก๊าซ (14-122 MW) | 2.82 | กฟผ. |
6. ดีเซล (1 MW) | 13.51 | กฟผ. แม่ฮ่องสอน |
7.พลังงานทดแทน (8-300 KW) | 2.07 |
กฟผ. ความร้อนใต้พิภพ; ลม แสงอาทิตย์ (รวม @ 750 KW) |
8. ซื้อ | 1.78 | จาก ลาว มาเลเซีย, IPP SPP |
9. เฉลี่ยทุกประเภทของ กฟผ. | 1.58 | ที่มา “กฟผ. ข้อมูลสำคัญ 40-42” |
10. PV ROOF top ของ SMUD คศ. 1993 (พ.ศ.2536) |
6.0 |
อัตราแลกเปลี่ยน US $ 1 = 26 บาท ต้นทุนติดตั้ง US $ 8.78 (230 บาท/W) |
คศ. 2000 (พ.ศ.2543) | 4.8 |
อัตราแลกเปลี่ยน US $ 1 = 40 บาท ต้นทุนติดตั้ง US $ 3.90 (156 บาท/W) ที่มา SMUD : SACRAMENTO MUNICIPAL UTILITY DISTRICT สหรัฐอเมริกา |
11. โครงการบ้าน 10 หลัง (โครงการนำร่อง) | 4.5 |
ต้นทุน 5.2 แสนบาท/ หลัง (216 บาท/ W) สพช. อุดหนุน
45% มีผู้สนใจรอเข้าร่วมโครงการ > 100 ราย |
12. มาตรการการจัดการ ด้านการใช้ไฟฟ้า (DSM) | 0.5 | โดยสำนักงาน DSM ของ กฟผ. |
หมายเหตุ ราคาน้ำมันดีเซล : พ.ศ. 2541 = 8.45บาท/ลิตร, ปัจจุบัน (ก.ค.43) = 15 บาท/ลิตร |
แนวโน้มการใช้เซลล์แสงอาทิตย์ในอนาคต
ด้านเทคโนโลยี คงจะมุ่งเน้นไปทางฟิล์มบางมากขึ้น เนื่องจากต้นทุนวัสดุจะถูกกว่า และไม่ต้องแย่งตลาดกับอุตสาหกรรมอิเลคทรอนิคส์อื่นๆ โดยเฉพาะคอมพิวเตอร์ ซึ่งต้องใช้ Crystalline Silicon เป็นหลัก
ด้านการผลิต คาดว่าจากปี ค.ศ. 1998-2000 กำลังผลิตทั่วทั้งโลกจะเพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัวต่อปี ซึ่งแยกตามเทคโนโลยีต่าง ได้ ดังนี้
ด้านการตลาด ตลาดใหม่สำหรับเซลล์แสงอาทิตย์โดยทั่วไปน่าจะเป็นในกลุ่มประเทศที่กำลังพัฒนา เพราะยังมีระบบไฟฟ้าชนบทที่ต้องพัฒนาอีกจำนวนมาก แต่มีข้อจำกัดที่ต้องอาศัยการลงทุนจากต่างประเทศเป็นหลัก ดังนั้นหากรัฐยังคงเป็นเจ้าของกิจการไฟฟ้า และยังต้องรับผิดชอบระบบไฟฟ้าในชนบทในหลายกรณี การเลือกใช้ระบบผลิตไฟฟ้าด้วยเซลล์แสงอาทิตย์ เพื่อขยายระบบจำหน่ายไปสู่ชนบท จะเป็นทางเลือกที่ดีกว่าระบบสายส่ง แต่หากมีการเปลี่ยนโครงสร้างอุตสาหกรรมไฟฟ้า ซึ่งถ้ากิจการไฟฟ้าถูกแปรรูปให้เอกชนไปแล้ว โอกาสของการขยายตลาดระบบเซลล์แสงอาทิตย์จะลดน้อยลง เนื่องจากเอกชนส่วนใหญ่ มักจะมุ่งค้าทำกำไรในระยะสั้นๆ เป็นหลัก
สำหรับตลาดของการจ่ายเข้าระบบ (Grid Connected) เป็นเรื่องที่น่าสนใจมาก เพราะการลงทุนต่อกิโลวัตต์ จะต่ำกว่าระบบอิสระ (Stand Alone) ซึ่งต้องใช้แบตเตอรี่และต้องเปลี่ยนใหม่ทุกๆ 7-10 ปี และหากมีการ “ร่วมลงทุน” ระหว่างภาครัฐกับผู้ใช้งาน ก็จะเป็นส่วนเสริมให้ตลาดของระบบฯ ขยายตัวรวดเร็วขึ้น
ในช่วง 6-7 ปี ที่ผ่านมา ในประเทศญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา และยุโรป ประสบความสำเร็จของโครงการประเภท Rooftop Grid Connected เป็นอย่างมาก และกำลังนำไปสู่การเตรียมขยายผล เช่น โครงการ 1 ล้านหลัง ของสหรัฐอเมริกา และ 1 แสนหลัง ของกลุ่มประเทศยุโรป และ 7 หมื่นหลัง ของประเทศญี่ปุ่น นอกจากนั้นไฟฟ้าที่ผลิตได้ในช่วงกลางวัน ก็จะสอดคล้องกับความต้องการไฟฟ้าช่วงสูงสุด ดังนั้น Grid Connected ก็จะช่วยชะลอการลงทุนการสร้างโรงไฟฟ้า ประเภท “Peak Shaving” ได้ส่วนหนึ่งด้วย
สิ่งเหล่านี้ย่อมเป็นเครื่องบ่งชี้ว่า ตลาดของ “การต่อเข้าระบบ-Grid Connected” จะมีอนาคตที่ดี มีทางที่จะขยายผลเป็นรูปธรรม และทำให้เกิดการผลิตขนาดใหญ่ (Mass Production) ส่งผลทำให้ราคาการลงทุน ลดลงสู่ระดับ ที่น่าพอใจในอนาคตอันใกล้
สำหรับตลาดเซลล์แสงอาทิตย์ของประเทศไทยในอนาคต มีความได้เปรียบที่จะเติบโตมากขึ้น ทั้งในด้านผู้ใช้และผู้ประกอบการ เพราะนโยบายจากภาครัฐได้ให้การสนับสนุนอย่างชัดเจน ซึ่งจากผลผลสำเร็จของโครงการต่างๆ ที่ผ่านมา นักวิชาการไทยได้มีโอกาสเพิ่มประสบการณ์มากขึ้น ทั้งในเรื่องการติดตั้งใช้งานและการพัฒนาระบบฯ ด้วยตนเอง ตลอดจนความร่วมมือที่เข้มแข็ง ของกลุ่มนักวิชาการพลังงานแสงอาทิตย์ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ จึงทำให้เชื่อมั่นได้ว่าหากนโยบาย จากภาครัฐยังคงมีความชัดเจน และให้การสนับสนุนอย่างจริงจังดังเช่นที่ผ่านมา และตลาดเซลล์แสงอาทิตย์ โดยเฉพาะกรณีไฟฟ้าชนบท (Off Grid) ซึ่งเป็นพื้นที่ทุรกันดาร และไม่มีสายไฟฟ้าเข้าถึง ยังมีอยู่เป็นจำนวนมากในทุกภูมิภาค ของประเทศไทย จึงเป็นเรื่องที่เป็นไปได้ไม่ยาก ในการก้าวไปสู่การดำเนินธุรกิจเซลล์แสงอาทิตย์ ในระดับอุตสาหกรรม ทำให้ประเทศไทยเป็นที่สนใจ ของนักลงทุนต่างประเทศ ที่จะเข้ามาทำตลาดของไทยให้เติบโตขึ้น เมื่อประกอบกับประสบการณ์ด้านเทคโนโลยี ด้วยพื้นฐานที่มั่นคงและกลไก / ความสัมพันธ์ด้านการตลาดที่ดีอยู่แล้วในภูมิภาคนี้ โอกาสที่นักลงทุน จะขยายผลไปยังตลาดของประเทศเพื่อนบ้าน จึงไม่น่าจะเป็นเรื่องยากเช่นกัน
จากอัตราการเพิ่มต่อปีที่สูงมาก กล่าวคือ 1 เมกะวัตต์ในปี ค.ศ.1970 เป็น 45
เมกะวัตต์ ในปี ค.ศ.1990 และ 152 เมกะวัตต์ในปี ค.ศ.1998
และในปัจจุบันมีผลผลิตสะสมประมาณ 1,000 เมกะวัตต์
ประกอบกับอัตราความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีของระบบเซลล์แสงอาทิตย์ในภาคอุตสาหกรรม
บวกกับนโยบายการสนับสนุนที่เป็นรูปธรรมของภาครัฐในสหรัฐอเมริกา ยุโรป
และประเทศญี่ปุ่น
จึงมีการคาดคะเนว่าจะสามารถลดราคาของระบบเซลล์แสงอาทิตย์ลงให้เหลือเท่าๆ
กับหรือถูกกว่าโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ ที่ราคาลงทุนประมาณ 3,000
เหรียญสหรัฐต่อกิโลวัตต์ ในช่วงปี ค.ศ.2005-2010 ได้
และจากมุมมองของปัญหาการใช้พลังงานของโลกในอนาคต
ที่คาดว่าแนวโน้มราคาเชื้อเพลิงเชิงพาณิชย์จะสูงขึ้น
เนื่องจากปริมาณสำรองเชื้อเพลิงกำลังจะหมดลงไป และสภาพแวดล้อมได้รับผลกระทบ
ที่นับวันจะทวีปริมาณ ที่มากขึ้นจากคาร์บอนไดออกไซด์ CO2
ที่เกิดจากการเผาเชื้อเพลิงเพื่อผลิตไฟฟ้า
จึงมีเหตุผลดีพอที่จะสรุปได้ว่าระบบผลิตไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ซึ่งสะอาดมีปริมาณมากและได้เปล่า
และกรรมวิธีในการเปลี่ยนเป็นไฟฟ้าไม่ก่อมลภาวะฯ น่าจะเป็นทางเลือกที่สมเหตุผล
อีกทางหนึ่งสำหรับอนาคตของมนุษย์ชาติได้
ที่มาของข้อมูล :
สำนักงานคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ |
|