การหยุดซ่อมท่อก๊าซครั้งใหม่ในอ่าวไทยช่วงเดือนเมษายน-กรกฎาคมที่จะถึงนี้
โดย : Admin

Cr: ประชาชาติธุรกิจออนไลน์ (24 มี.ค. 2557)

 

 

การหยุดซ่อมท่อก๊าซครั้งใหม่ในอ่าวไทยช่วงเดือน เมษายน-กรกฎาคมที่จะถึงนี้ ได้สร้างความกังวลให้กับผู้เกี่ยวข้องกับการใช้ก๊าซเป็นแหล่งเชื้อเพลิงใน การผลิตไฟฟ้าและพลังงานภาคขนส่ง ไม่ว่าจะเป็น การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) กับ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ในฐานะผู้จัดหาก๊าซธรรมชาติ NGV โดยผู้ผลิตก๊าซจะหยุดซ่อมท่อก๊าซจาก 2 แหล่งใหญ่ คือ

 

การซ่อมท่อก๊าซขนาด 32 นิ้วของบริษัท ปตท. จากแหล่งบงกช ระหว่างวันที่ 10-27 เมษายน 2557 รวม 18 วัน กับการซ่อมบำรุงท่อส่งก๊าซจากแหล่งพื้นที่พัฒนาร่วมไทย-มาเลเซีย (JDA) ของบริษัททรานส์ไทย-มาเลเซีย (TTM) ระหว่างวันที่ 13 มิถุนายน-10 กรกฎาคม 2557 รวม 28 วัน โดยแหล่งแรกมีผลทำให้ก๊าซธรรมชาติหายไปจากระบบ 630 ล้านลูกบาศก์ฟุต/วัน ส่วนแหล่งที่ 2 ก๊าซหายไป 400 ล้านลูกบาศก์ฟุต/วัน

 

 

 

ผู้รับสัมปทานก๊าซธรรมชาติทั้ง 2 แหล่งแจ้งว่า ไม่สามารถเลื่อนระยะเวลาการซ่อมแซมออกไปได้ เพราะจะทับซ้อนกับแผนการหยุดซ่อมท่อก๊าซจากแหล่งอื่น ๆ ที่กำหนดเป็นตารางปฏิบัติงานไว้ล่วงหน้าอยู่แล้ว



ล่าสุดกระทรวง พลังงานได้ออกมาแสดงความเป็นห่วงถึงการหยุดซ่อมท่อก๊าซครั้งนี้โดยเฉพาะ อย่างยิ่งผลกระทบที่จะเกิดกับโรงไฟฟ้าที่ใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิง แม้ว่ากำลังผลิตไฟฟ้าทั้งประเทศปัจจุบันจะอยู่ที่ 33,000 เมกะวัตต์ ขณะที่การประเมินความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุด (พีก) ไว้ที่ 26,752 เมกะวัตต์ จึงมีกำลังผลิตไฟฟ้าสำรองไม่ต่ำกว่า 4,122 เมกะวัตต์ ซึ่งเป็นปริมาณที่สูงกว่าเกณฑ์มาตรฐาน



แต่เมื่อพิจารณากำลังผลิตไฟฟ้าลงเป็นรายภาค จะพบว่ามีความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นกับความมั่นคงของระบบไฟฟ้าภาคใต้ เนื่องจากก๊าซธรรมชาติจากแหล่ง JDA จะถูกใช้เป็นเชื้อเพลิงให้กับโรงไฟฟ้าจะนะ จ.สงขลา ซึ่งมีกำลังผลิตติดตั้ง 700 เมกะวัตต์ ในขณะที่ภาคใต้มีกำลังผลิตไฟฟ้าในพื้นที่รวม 2,300 เมกะวัตต์ บวกกับการส่งกระแสไฟฟ้าจากภาคกลางลงไปช่วยอีก 700 เมกะวัตต์ รวมเป็น 3,000 เมกะวัตต์

เมื่อโรงไฟฟ้าจะนะไม่สามารถเดินเครื่องได้เท่ากับกำลังผลิตไฟฟ้าจะเหลือเพียง 2,300 เมกะวัตต์ ในขณะที่ความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุดของภาคใต้อยู่ที่ 2,543 เมกะวัตต์ (พีกมักเกิดขึ้นในช่วงเวลา 13.00-15.30 น. กับช่วง 18.30-22.30 น.) หรือมากกว่ากำลังผลิตปกติกว่า 240 เมกะวัตต์ จึงมีความเป็นไปได้ที่จะเกิดไฟฟ้าดับใน 14 จังหวัดภาคใต้ได้

เมื่อสถานการณ์เป็นไปในลักษณะนี้ กระทรวงพลังงานได้เรียกประชุมคณะทำงานติดตามการบริหารเชื้อเพลิง และมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องป้องกันไม่ให้เกิดเหตุการณ์ไฟฟ้าดับใน 14 จังหวัดภาคใต้ โดยได้สรุปเป็นมาตรการบริหารความมั่นคงทางไฟฟ้า 3 ขั้น ซึ่งจะใช้ตามลำดับความร้ายแรงของเหตุการณ์ ได้แก่

1) เตรียมพร้อมรับมือ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ได้ปรับแผนบำรุงรักษาโรงไฟฟ้าในภาคใต้ไม่ให้มีการปิดซ่อมในช่วงดังกล่าว และเตรียมโรงไฟฟ้าในภาคใต้ทุกโรงให้พร้อมเดินเครื่อง โดยมีการทดสอบเดินเครื่องโรงไฟฟ้าดีเซลในค่ายทหาร กำลังการผลิตรวม 26 เมกะวัตต์ทุก 2 สัปดาห์ และทดสอบเดินเครื่องโรงไฟฟ้ากระบี่เต็มกำลังการผลิตทั้ง 315 เมกะวัตต์ ตั้งแต่วันที่ 20 กุมภาพันธ์ถึงวันที่ 5 มีนาคมนี้ รวมถึงเตรียมสำรองน้ำมันเตาที่โรงไฟฟ้ากระบี่ให้เต็มความสามารถจัดเก็บที่ 27 ล้านลิตร และสำรองน้ำมันดีเซลที่โรงไฟฟ้าสุราษฎร์ธานี กำลังการผลิต 234 เมกะวัตต์ เต็มความสามารถในการจัดเก็บที่ 14 ล้านลิตรก่อนเริ่มซ่อมบำรุง

นอกจากนี้ กฟผ.จะตรวจสอบอุปกรณ์ระบบส่งและระบบป้องกันให้แล้วเสร็จในเดือนพฤษภาคมนี้ และปรับปรุงระบบป้องกันพิเศษ (RLS) รองรับปัญหาแรงดันไฟฟ้าต่ำบริเวณภาคกลางตอนล่างให้เสร็จภายในเดือนเมษายนนี้

ขณะเดียวกัน ได้มอบหมายให้สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) ร่วมมือกับสำนักนโยบายและยุทธศาสตร์ (สนย.) รณรงค์ให้ประชาชนประหยัดพลังงาน โดยหวังว่าจะลดความต้องการใช้ไฟฟ้าลงได้ 10% ของความต้องการใช้ไฟฟ้าในช่วงพีก หรือคิดเป็น 250 เมกะวัตต์ ตลอดเวลาที่แหล่งก๊าซทั้ง 2 แห่งหยุดซ่อม พร้อมกับมอบนโยบายให้กับสำนักงานพลังงานจังหวัดทั่วประเทศ โดยเฉพาะใน 14 จังหวัดภาคใต้ที่ต้องไปสื่อสารสร้างความเข้าใจกับประชาชนให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน โดยเน้นย้ำว่ากระทรวงพลังงานรับมือได้ และจะไม่เกิดปัญหาไฟฟ้าดับอย่างแน่นอน
 


2) การส่งไฟฟ้าจากภาคกลางไปเสริมในกรณีที่ความต้องการไฟฟ้าสูงกว่าพีกที่คาดการณ์ โดยขั้นแรกจะส่งไฟฟ้าเพิ่มจาก 500 เมกะวัตต์ เป็น 700 เมกะวัตต์ แต่ในกรณีฉุกเฉินสามารถส่งไฟฟ้าผ่านสายส่งขนาด 230 kV ได้อีก 200 เมกะวัตต์ แต่จะส่งผลให้ไม่เหลือไฟฟ้าสำรองในพื้นที่เลย และระบบสายส่งไม่อยู่ในมาตรฐานความปลอดภัยทางเทคนิค



3) จะใช้ดับไฟฟ้าในบางพื้นที่เพื่อรักษาระบบในกรณีที่มีฉุกเฉินอื่น ๆ เช่น มีโรงไฟฟ้าหยุดเดินเครื่องกะทันหัน ปัจจุบัน กฟผ.ได้ร่วมมือกับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) ศึกษาบริเวณที่จะดับไฟฟ้าเรียงตามลำดับความสำคัญก่อนหลัง โดยจะพิจารณาให้ประชาชนเดือดร้อนน้อยที่สุด แต่อย่างไรก็ตาม กระทรวงพลังงานเชื่อว่าการใช้มาตรการแรกจะสามารถจัดการกับปัญหาที่เกิดขึ้นได้



พร้อมกันนี้ กระทรวงพลังงานได้หารือกับกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ (ชพ.) และบริษัท ปตท.ให้ปรับเปลี่ยนการรายงานแผนหยุดซ่อมบำรุงด้านก๊าซธรรมชาติและไฟฟ้าจากปีต่อปีเป็นรายงานล่วงหน้า 2 ปี เนื่องจากเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคงทางพลังงาน และให้ไปศึกษาต่อไปว่าจะสามารถจัดทำแผนหยุดซ่อมล่วงหน้า 5 ปีได้หรือไม่ เพื่อให้กระทรวงพลังงานสามารถวางมาตรการป้องกันได้เร็วขึ้น รวมถึงนำมาพิจารณาในการจัดทำแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าของประเทศ (PDP) ด้วย

 

เนื้อหาโดย: 9engineer.com (http://9engineer.com/)