เร่งยื่นศาลปลดล็อกมาบตาพุด หลังบอร์ดสิ่งแวดล้อมล้อมคอก 11 กิจการรุนแรง
โดย : Admin

ไทยรัฐออนไลน์
26 สิงหาคม 2553
 

 







 

อุตสาหกรรมมอบอัยการส่งข้อมูลมติบอร์ด สวล.กำหนด  11 กิจการรุนแรงต่อศาลฯ ปลดล็อกลงทุนมาบตาพุดวันนี้ย้ำภาพลงทุนชัดเจน  ขณะที่เอกชนยังต้องรอศาลชี้ชะตาก่อนเดินหน้าโครงการชี้กรอบเวลาทำ  EIA-HIA  ไม่ชัดเจน  หวั่นใช้เวลาร่วม  2  ปี กว่าจะเห็นหน้าเห็นหลัง...

 

นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ ผู้ช่วย รมว.อุตสาหกรรม ในฐานะประธานศูนย์ประสานงานการลงทุนเพื่อแก้ ปัญหามาบตาพุด  (OSOS)  เปิดเผยหลังการหารือกับผู้ประกอบการ  76  โครงการ  ที่ถูกคำสั่งระงับกิจการจากกรณีปัญหามาบตาพุดว่า ได้มอบให้อัยการที่เป็นตัวแทน 8 หน่วยงาน รัฐที่ถูกฟ้อง  นำข้อมูลกรณีมติคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติที่เห็นชอบ 11 โครงการ  หรือกิจการที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรง  ทั้งด้านคุณภาพสิ่งแวดล้อม  ทรัพยากรธรรมชาติ  และสุขภาพ  ซึ่งถือเป็นข้อมูลใหม่เสนอต่อศาลปกครองกลางในวันที่  26  ส.ค.นี้  ที่จะมีการพิจารณานัดไต่สวนครั้งแรกเพื่อสืบโจทก์และพยาน


"เรื่องนี้ต้องรอประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเพื่อให้ชัดเจนกว่านี้  และได้ มอบให้ผู้ประกอบการทำหนังสือถึง OSOS เพื่อที่จะดูว่าเข้าข่ายรุนแรงหรือไม่ อย่างไรก็ตาม  กิจการทั้งหมดก็พร้อมที่จะทำรายงานผลกระทบด้านสุขภาพ  หรือเอชไอเอ  และเอกชนส่วนใหญ่ยังมีข้อกังวลในการทำเอชไอเอ โดยเฉพาะกรอบเวลา  ซึ่งอาจมีผลต่อการจัดทำรายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ส่วนกิจการรุนแรงที่ประกาศมาไม่กังวลหากจะมีกิจการใดย้ายฐานการผลิตออกจากไทยโดยไม่คำนึงถึงปัญหาสิ่งแวดล้อมและชุมชน"


นายบวร วงศ์สินอุดม รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ อาวุโสปฏิบัติการ  บริษัท  ปตท.อะโรเมติกส์และการกลั่น  จำกัด  (มหาชน)  (PTTAR)  กล่าวว่า  การประกาศกิจกรรมที่ส่งผลกระทบต่อชุมชนรุนแรงออกมาถือว่าได้สร้างความชัดเจนต่อทั้งนักลงทุน ชุมชน  และองค์กรภาคเอกชน แต่ทั้งหมดคงจะต้องรอประกาศจากศาลฯ ว่าท้ายสุดจะออกมาอย่างไรจึงจะทำให้เอกชนสามารถเดินหน้ากิจการได้


ผู้สื่อข่าวรายงานจากบริษัท  ปตท.  จำกัด (มหาชน) ว่า  เครือ  ปตท.มีกิจการที่ถูกระงับ  25  กิจการ  ที่เป็นกิจการของ  ปตท.เอง  โดยไม่ได้ร่วมทุน  3  กิจการ  ซึ่งหากศาลมีคำสั่งชัดเจนก็จะทำให้  3  กิจการ  เดินหน้าได้ทันที  โดย 1 ในกิจการดังกล่าวเป็นโรงแยกก๊าซธรรมชาติแห่งที่ 6 และโครงการควบคุมไอน้ำมัน เป็นต้น


นายพยุงศักดิ์  ชาติสุทธิผล  ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.)  กล่าวยอมรับว่า  การทำเอชไอเอยังเป็นของใหม่สำหรับเอกชน  ระยะแรกอาจจะติดขัดบ้าง  อย่างไรก็ตาม  ระยะเวลาดำเนินการหรือการนับระยะเวลาในกระบวนการเช่นรับฟังความเห็น  ฯลฯ  ยังไม่ชัดเจน  และกังวลว่าการจัดทำรายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม  (อีไอเอ)  และเอชไอเอ  อาจต้องใช้เวลานานถึง  2  ปี


นางอรรชกา สีบุญเรือง เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือบีโอไอ กล่าวหลังการปาฐกถาพิเศษเรื่อง "นโยบายส่งเสริมการลงทุนและสภาพแวดล้อมของการดำเนินธุรกิจในปัจจุบันของไทย" ให้กับนักธุรกิจจากประเทศสมาชิกเอเปคกว่า  150  ราย  ที่เข้าร่วมการประชุมสภาที่ปรึกษาธุรกิจเอเปคครั้งที่ 3 ประจำปี 2010 ซึ่งประเทศไทยเป็นเจ้าภาพว่า  หลังคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติมีมติเห็นชอบกำหนด  11  โครงการ  หรือกิจการที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรง  จะทำให้ภาพการลงทุนไทยชัดเจนขึ้นอีกระดับหนึ่ง


ทั้งนี้ เวทีดังกล่าวนับเป็นการเสริมสร้างความเชื่อมั่นให้นักลงทุนต่างชาติเกี่ยวกับบรรยากาศทางธุรกิจของไทย รวมทั้งเผยแพร่ข้อมูลเรื่องโอกาสและลู่ทางการลงทุน โดยในช่วง 7 เดือนแรกปี 53 นักลงทุนจากประเทศสมาชิกเอเปคได้เข้ามาลงทุนในไทยรวมมูลค่ากว่า 70,000 ล้านบาท  คิดเป็นร้อยละ 70 ของการลงทุนทางตรงจากต่างประเทศในไทย



 

เนื้อหาโดย: 9engineer.com (http://9engineer.com/)