พิสูจน์แท่นขุดเจาะน้ำมัน
โดย : Admin
 พิสูจน์แท่นขุดเจาะน้ำมัน    
 

 

ผ่านมาตรฐานไม่มีรั่วไหล หลังจาก "เดลินิวส์" เกาะติดข่าวการเกิดปัญหาคราบน้ำมันปนเปื้อนอยู่ตามแนวชายฝั่งทะเลพื้นที่ อ.สทิงพระ จ.สงขลา และบริเวณชายหาดสมิหลา จ.สงขลา จนชาวบ้านและชาวประมงในบริเวณนั้นหวาดกลัวว่าอาจจะเป็นร่องรอยของน้ำมัน ซึ่งอาจจะมีผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตของประชาชนในพื้นที่ รวมถึงอาจจะเป็นการทำลายสิ่งแวดล้อมในอนาคตกันใกล้นี้ ในการลง

พื้นที่สำรวจตรวจสอบของทีมข่าว "เดลินิวส์" พบข้อมูลจากชาวบ้านว่าคราบน้ำมันที่พบมีลักษณะของก้อนน้ำมันสีดำ บ้างก็จับตัวเป็นก้อนกลม บ้างก็จับตัวติดกับวัสดุอื่น ๆ ตามแนวชายฝั่ง โดยชาวบ้านเชื่อกันว่าคราบน้ำมันน่าจะมาจากกากของเสียที่เกิดจากแท่นผลิตน้ำมันให้เรือเอกชนบรรทุกไปทิ้งในทะเล แล้วมีการพัดพาคราบกากของเสียนั้นเข้าฝั่ง ทำให้มีการเรียกร้องให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องและบริษัทผู้ผลิตน้ำมันออกมารับผิดชอบและหาทางแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นทั้งในระยะสั้นและระยะยาวด้วย

จากปัญหาดังกล่าวทำให้หน่วยงานรัฐทั้งกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ กระทรวงพลังงาน กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กรมควบคุมมลพิษ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ฝ่ายปกครองในจังหวัดสงขลา และกลุ่มตัวแทนชาวบ้าน ได้ร่วมกันประชุมและตรวจสอบคราบน้ำมันรวมถึงหาแนว ทางป้องกันในอนาคตด้วย นายวีระศักดิ์ พึ่งรัศมี ผอ.สำนักเทคโนโลยีการประกอบกิจการปิโตรเลียม กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ เปิดเผยว่า หลัง จากที่ได้นำตัวอย่างของก้อนทรายเหนียว สีดำ และคราบน้ำมันไปตรวจสอบพบว่ามีกลิ่นเหม็นหืนเหมือนกลิ่นน้ำมันพืชที่ใช้ แล้ว โดยผลจากก้อนทดลองสำนักงานสิ่งแวดล้อม ภาคที่ 16 สงขลา ที่ใช้เครื่องมือของ ม.สงขลานครินทร์ พบว่าในก้อนดังกล่าวมีสารประกอบด้วยกรดไขมันชนิดโอลีอิก และกรดไขมันชนิดปาล์มิติก ซึ่งเป็นองค์ประกอบส่วนใหญ่ของไขมันพืชและสัตว์ สอดคล้องกับลักษณะทางภายภาพที่พบคือกลิ่นเหม็นหืนเมื่อถูกความชื้นอากาศ ซึ่งกรดสองชนิดนี้มีความเป็นพิษต่ำสามารถย่อยได้โดยธรรมชาติ จากการตรวจสอบการขุดเจาะและผลิตปิโตรเลียมในอ่าวไทยแล้วไม่พบว่าการดำเนินการมีการใช้กรด 2 ชนิด รวมถึงเมื่อ เข้าไปตรวจสอบระบบการผลิตน้ำมันแล้วพบ ว่าตรงตามกฎอีไอเอ (การประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม - Environmental Impact Assessment) ไม่มีการทิ้งเศษวัสดุใด ๆ ลงในทะเลทั้งสิ้น โดยมีการวัดปริมาตรน้ำมันดิบ ที่ขุดขึ้นมาได้แล้วเปรียบเทียบกับจำนวนน้ำมันที่ได้ทั้งหมด รวมถึงน้ำและเศษวัสดุอื่น ๆ ที่ติดขึ้นมากับการขุดเจาะด้วย โดยน้ำที่แยกออกจากน้ำมันแล้วจะถูกนำกลับไปอัดลงหลุม ส่วนก๊าชก็ถูกนำมาใช้งาน และเศษวัสดุจะถูกขนส่งนำไปเผาทำลายที่ อ.ทุ่งสง จ.นครศรีธรรมราช และ อ.แก่งคอย จ.สระบุรี หลังจากนี้ทางกรมจะจัดส่งเจ้าหน้าที่มาประจำแท่นผลิตเพื่อตรวจสอบการทำงานแล้วจะประเมินผลอีกครั้ง ดร.สราวุธ รัตนจงเกียรติ นักวิชาการสิ่งแวดล้อม ชำนาญการส่วนแหล่งน้ำทะเล กรมควบคุมมลพิษ กล่าวถึงที่มาของกากของเสียที่ พบตามแนวชายฝั่งว่า น่านน้ำทะเลสงขลามีกิจกรรมทางน้ำที่เกี่ยวข้องหลายกิจกรรมด้วยกัน ทั้งท่าเทียบเรือ การขนถ่ายสินค้า การประมง เป็นต้น ซึ่งกิจกรรมเหล่านั้นต่างมีการสูบถ่าย ล้างเรือ และเดินเรือ ทำให้อาจเป็นสาเหตุของการรั่วไหลน้ำมันจนเกิดเป็นคราบและก้อนน้ำมันขึ้นมาได้เช่นกัน

 

อย่างไรก็ตามจากการที่ลงพื้นที่สำรวจแท่นผลิตน้ำมันพบว่ามีมาตรการที่ควบคุมดูแลอยู่แล้ว ทำให้เชื่อว่าโอกาสในการรั่วไหลของน้ำมันจากแท่นผลิตน้อยมาก แต่สิ่งหนึ่งที่เกิดขึ้นคือหลังจากนี้ไปจะมีการตรวจเข้มงวดมากยิ่งขึ้นทั้งจากภาครัฐและประชาชน บริษัทผลิตน้ำมันจึงจำเป็นจะต้องดูแลและใส่ใจเรื่องดังกล่าวมากขึ้นด้วย นายโสภณ ชุ่มยวง รองนายกสมาคมชาวประมงสงขลา กล่าวหลังจากที่ร่วมคณะ สื่อมวลชน ผู้บริหารบริษัทนิวคอสตอล (ประเทศไทย) จำกัด และคณะกรรมการตรวจสอบที่จังหวัดสงขลาแต่งตั้งขึ้น ลงพื้นที่แท่นผลิตน้ำมันของบริษัทนิวคอสตอลฯในอ่าวไทย ว่า หลังจากพบเห็นแท่นผลิตน้ำมันด้วยตาตัวเองก็มีความมั่นใจในการรักษาสิ่งแวดล้อมระดับหนึ่ง สิ่งหนึ่งที่อยากให้บริษัทใส่ใจเพิ่มเติมคือการตรวจสอบว่าบริเวณที่ตั้งแท่นผลิตนั้นมีกลุ่มปลาผิวน้ำอาศัยอยู่มากน้อยเพียงใด เพราะหากมีปลาอาศัยอยู่จะเสมือนว่าแท่นเจาะนี้กลายเป็นบ้านของปลาไปด้วย โดยในกลุ่มชาวประมงที่มีเรืออยู่ประมาณ 2 พันลำนั้น ทางสมาคมฯต้องการให้บริษัท และหน่วยงานรัฐหาทางออกของปัญหาในการจ่ายเงินชดเชยที่ยังค้างคากันอยู่ให้ชัดเจนเพื่อที่จะให้ทุกชีวิตนั้นสามารถดำเนินกิจกรรมของแต่ละครอบครัวได้ตามปกติ นายกำธร วังอุดม ที่ปรึกษาบริษัทนิวคอสตอล (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวหลังนำคณะผู้เกี่ยวข้องสำรวจแท่นผลิต น้ำมันว่า บริษัทได้รับสัมปทานในการสำรวจและผลิตปิโตรเลียมตั้งแต่เดือน ก.พ. 52 โดยมีการปฏิบัติตามมาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อมและการตรวจวัดคุณภาพสิ่งแวดล้อมได้แก่ คุณภาพน้ำทะเล ตะกอนพื้นทะเล แพลงตอน สัตว์หน้าดิน ปลาวัยอ่อน คุณภาพเศษหินที่เกิดจากการขุด คุณภาพน้ำที่เกิดจากกระบวนการผลิต มีการดำเนินการอย่างต่อเนื่อง โดยทุกอย่างเป็นไปตามกฎและระเบียบของประเทศและหลักสากล ซึ่งไม่มีการทำลายสิ่งแวดล้อมใดทางทะเลตามที่หลายฝ่ายตั้งข้อสังเกต ในกรณีคราบน้ำมันและก้อนกลมที่เกิดขึ้นตามแนวชายฝั่งนั้น มีหลายส่วนทั้งภาครัฐ ประชาชนและสื่อมวลชนสงสัยว่าสาเหตุน่าจะเกิดจากกระบวนการผลิตน้ำมันของบริษัทที่ตั้งอยู่ห่างจากแนวชายฝั่งทะเล อ.สทิงพระ ทางบริษัทได้ให้ทุกภาคส่วนเข้ามาร่วมตรวจสอบการทำงานของแท่นผลิตทุกขั้นตอน โดยผลการตรวจสอบของภาครัฐพบว่าคราบน้ำมันและก้อนน้ำมันไม่ได้เกิดจากการรั่วไหลของน้ำมันดิบจากแท่น ผลิตของบริษัทแต่อย่างใด ส่วนสาเหตุที่แท้ จริงจะมาจากที่ใดนั้นทางเจ้าหน้าที่กำลังดำเนินการตรวจสอบอยู่ ทั้งนี้ในส่วนของค่าชดเชยที่ชาวประมงเรียกร้องทางบริษัทจะหารือกับจังหวัดและตัวแทนชาวประมงเพื่อยุติปัญหาดังกล่าวต่อไป
 

 



 สุชาติ กุลบุษราคัม-ภาพ/ นพปฎล รัตนพันธ์-รายงาน
ที่มา : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์

เนื้อหาโดย: 9engineer.com (http://9engineer.com/)