วิศวกรรมย้อนรอย..เทคโนฯมาแรงปี 52
โดย : Admin

ที่มา :
11 มกราคม 2553
 

 

ดร.สุจินดา โชติพานิช ปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์เชื่อมั่นว่าการพัฒนาเครื่องจักรด้วยเทคนิควิศวกรรมย้อนรอย ยังคงเป็นพระเอกสำหรับภาคอุตสาหกรรมไทย


โครงการศึกษาและถ่ายทอดเทคโนโลยีการสร้างเครื่องจักร ในกระบวนการผลิตด้วยวิศวกรรมย้อนรอย ที่เริ่มต้นมาตั้งแต่ปี 2547 ไม่เพียงแต่ผลิตเครื่องจักรป้อนอุตสาหกรรมเท่านั้น หลายผลงานถูกนำไปใช้ในระดับชุมชน

 

 วิศวกรรมย้อนรอย (Reversed Engineering) เป็นการนำเครื่องต้นแบบจากต่างประเทศมาแยกส่วนประกอบเพื่อศึกษาการทำงาน และทำพิมพ์เขียวสำหรับสร้างเครื่องใหม่ พร้อมกับเสริมเติมแต่งให้ได้เครื่องจักรที่มีประสิทธิภาพสูงขึ้น
 

 

 "ต่างประเทศก็ใช้วิธีนี้ ไม่ว่าจะเป็นญี่ปุ่น เกาหลี ไต้หวัน ก็ใช้วิธีการวิศวกรรมย้อนรอยเพื่อพัฒนาศักยภาพในการทำเครื่องมือเครื่องจักร ข้างในมันมีเทคโนโลยีซ่อนอยู่เยอะ การที่เราทำวิศวกรรมย้อนรอยถือเป็นการถ่ายทอดเทคโนโลยีจากต่างประเทศสู่ประเทศไทยโดยคนไทย" ปลัดกระทรวงอธิบายหลักการ
 

 หลังจากดำเนินโครงการมา 5 ปี ดร.สุจินดา กล่าวว่า ปีที่แล้วถือว่าเป็นปีแห่งการต่อยอด และเมื่อย้อนไปดูสถิติการผลิตเครื่องจักรพบว่า คนไทยสามารถผลิตเครื่องจักรอุตสาหกรรมเฉลี่ยได้ 6-10 เครื่องต่อปี
 

 ตัวอย่างเครื่องจักรภายใต้โครงการ ได้แก่ เครื่องตัด เครื่องวัดพิกัด 3 มิติ เครื่องแกะลายเฟอร์นิเจอร์ เครื่องเจียระไนอัญมณี เครื่องเป่าขวดพลาสติก เครื่องอัดแท่งชีวมวล เป็นต้น
 

 กระทรวงวิทยาศาสตร์ยังได้นำเครื่องจักรและเครื่องมือจากโครงการไปใช้แก้ปัญหาของชุมชน อย่างเช่น เครื่องหีบน้ำมันสบู่ดำ เครื่องอัดก้อนเศษวัสดุ เครื่องอัดแท่งเชื้อเพลิงแข็ง รวมถึงโครงการทำลายลำไยค้างสต็อก เป็นผลมาจากการนำเครื่องอัดแท่งเชื้อเพลิงแข็ง รวมถึงเครื่องจักรสำหรับโรงสีข้าวชุมชนที่นำไปใช้กับหมู่บ้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีอุตสาหกรรมข้าวไร้ของเสีย จังหวัดกระบี่
 

 "เครื่องจักรอุตสาหกรรม 1 เครื่อง ราคากว่า 40-50 ล้านบาท ถ้าเราสามารถผลิตได้เองด้วยต้นทุนประมาณ 10 ล้านบาท จะช่วยลดต้นทุนการนำเข้าได้มาก ยังไม่นับว่าสามารถส่งออกไปขายต่างประเทศ กลายมาเป็นต้นทุนในการพัฒนาเครื่องต่อไปได้ด้วย"
 

 ผลพลอยได้ตามมาจากโครงการ คือ การเชื่อมโยงการทำงานระหว่างภาครัฐ เอกชน และมหาวิทยาลัย โดยกระทรวงวิทยาศาสตร์สนับสนุนเงินทุนเพียงส่วนหนึ่ง หรือ 20-50% ที่เหลือภาคเอกชนเป็นฝ่ายมาร่วมลงขัน เพื่อให้ได้เครื่องจักรตามโจทย์ของเอกชน ซึ่งหลากหลายกันไป อาทิเช่น อุตสาหกรรมอาหาร พลังงาน ยานยนต์ ไฟฟ้า อัญมณี เครื่องประดับ สิ่งทอ พลาสติก
 

 "กระทรวงทำงานเชื่อมโยงกับสภาอุตสาหกรรม สมาคมเครื่องจักรกลไทย ทำให้เรามีเครือข่ายเอกชนจำนวนมาก เราดูว่าเครื่องจักรไหนที่เป็นที่ต้องการ และเอกชนพร้อมลงทุนทำ ต้องยอมรับว่าทุกอุตสาหกรรมล้วนมีความต้องการใช้เครื่องจักรกลในกระบวนการผลิต" ปลัดกระทรวงหญิงกล่าวเพิ่มเติม
 

 แม้จะเริ่มก้าวจากการย้อนรอยวิศวกรรม แต่เธอยังมั่นใจว่า เครื่องจักรที่พัฒนาโดยคนไทยเองตั้งแต่แรกไม่ใช่เรื่องเพ้อฝัน หากได้รับความร่วมมือจากทุกฝ่าย โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาคเอกชน
 

 "ปัจจุบันมีผู้เสนอความต้องการเครื่องจักรกลเข้ามาเป็นจำนวนมาก อาทิเช่น เครื่องตัดอ้อยที่ผลิตโดยฝีมือคนไทย โดยโครงการวิศวกรรมย้อนรอยได้ตั้งคณะกรรมการคัดเลือกเครื่องที่มีความจำเป็น และที่สำคัญ เอกชนต้องสนใจร่วมลงทุนด้วย ส่วนภารกิจสร้างเครื่องจักร หน่วยของมหาวิทยาลัย ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ สถาบันไทย-เยอรมัน และพันธมิตรจะร่วมกันทำให้เป็นจริง" ปลัดกระทรวงกล่าว

 

 

ขอขอบคุณที่มาของแหล่งข้อมูล

 

 

เนื้อหาโดย: 9engineer.com (http://9engineer.com/)