หุ่นยนต์ เพื่อนจักรกลที่แสนดี
โดย : Admin

โดย : กรุงเทพธุรกิจออนไลน์
15 มกราคม 2553

 

 

เมื่อมองเข้าไปในซูเปอร์มาร์เกตแห่งหนึ่ง ที่เมืองเกียวโตของญี่ปุ่น หุ่นยนต์ตัวหนึ่ง ที่ดูเหมือนจะหลุดมาจากภาพยนตร์ชื่อดังอย่าง สตาร์ วอร์ส ยืนช่วยผู้สูงอายุอย่างแข็งขัน หลังเจ้าของซูเปอร์มาร์เกต เริ่มนำเครื่องจักรกลอัจฉริยะประเภทนี้ มาประจำการในช่วงต้นเดือนธันวาคมที่ผ่านมา
 
 ลูกค้าสามารถส่งรายการสินค้าที่จะซื้อจากรีโมตคอนโทรลส่วนตัว ไปยังหุ่นยนต์ก่อนที่จะเดินทางออกจากบ้านได้ เมื่อมาถึงซูเปอร์มาร์เกต หุ่นยนต์จะคอยต้อนรับลูกค้าที่บริเวณทางเข้า จากนั้นก็จะช่วยบอกที่ตั้งสินค้าในรายการหรือแม้กระทั่งให้คำแนะนำในการชอปปิ้งด้วย
 
 เจ้า "โรโบช็อปเปอร์" รุ่นล่าสุด เป็นฝีมือของหน่วยปฏิบัติการสื่อสารและวิทยาการหุ่นยนต์ ประจำสถาบันวิจัยโทรคมนาคมก้าวหน้านานาชาติ (เอทีอาร์) ในเมืองเกียวโต และยังเป็นเครื่องเตือนความทรงจำ "การปฏิวัติหุ่นยนต์" ในญี่ปุ่น ที่เริ่มจากการใช้หุ่นยนต์ในโรงงานอุตสาหกรรม จนกระทั่งเข้ามาถึงซูเปอร์มาร์เกต ที่พักอาศัยและโรงพยาบาล

 
 ญี่ปุ่นเป็นบ้านของหุ่นยนต์ที่ใช้ในภาคอุตสาหกรรมเกือบ 50 เปอร์เซ็นต์ จากทั้งหมด 800,000 ตัวทั่วโลก อย่างไรก็ดี ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยกำเนิดหุ่นยนต์หลากชนิดที่ใช้ในงานหลากหลายประเภท เช่น ทำความสะอาดพื้น รินเครื่องดื่ม เสิร์ฟข้าวปั้น หั่นผัก รักษาความปลอดภัย หรือแม้แต่ปลูกข้าว   
 
 
 นาริโตะ โฮโซมิ ประธานบริษัทโตโย ริกิ ในนครโอซากา เริ่มผลิตหุ่นยนต์สื่อสารเมื่อ 4 ปีก่อน หลังจากบริษัทของเขาได้ออกแบบและผลิตหุ่นยนต์สำหรับภาคอุตสาหกรรมมานานเกือบ 50 ปี

 
 โตโย ริกิ พัฒนาหุ่นยนต์ที่สามารถช่วยดูแลผู้ป่วยที่มีอายุมาก เพราะการขาดแคลนบุคลากรเป็นปัญหาสำคัญที่สุดประการหนึ่งในสังคมญี่ปุ่นที่มีผู้สูงอายุจำนวนมาก ส่วนหุ่นยนต์อีกประเภทหนึ่งที่มีลักษณะคล้ายตัวละครในการ์ตูนแอนิเมชัน ยืนต้อนรับลูกค้าในฐานะ "หน่วยรักษาความปลอดภัย" บริเวณทางเข้าโรงพยาบาลในเวลากลางคืน  

 "ผมเพียงแค่ต้องการตอบแทนสังคมด้วยการพัฒนาหุ่นยนต์เพื่อช่วยแก้ปัญหาผู้สูงอายุ" นาริโตะ อธิบาย
 ทั้งนี้ สถาบันวิจัยความมั่นคงทางสังคมและประชากรแห่งชาติ ประเมินว่า ประชากรญี่ปุ่นที่มีอายุตั้งแต่ 65 ปีขึ้นไปจะมีสัดส่วนถึง 31.8 เปอร์เซ็นต์ของประชากรทั้งหมด ภายในปี 2573



 นาริโตะ นำเจ้า "โรโบเชฟ" ที่มีช้อนคันใหญ่อยู่ในมือ และสามารถทำแพนเค้กญี่ปุ่นได้อย่างคล่องแคล่ว มาโชว์ที่งานแสดงสินค้าหลายแห่งเมื่อเร็วๆ นี้ เช่นเดียวกับ ซีคอม ผู้ให้บริการด้านการรักษาความปลอดภัย ได้ผลิตหุ่นยนต์ชื่อ "มาย สปูน" ที่สามารถช่วยคนพิการรับประทานอาหารได้
 เมื่อปลายปีที่แล้ว นักวิจัยประจำมหาวิทยาลัยชิบะ ทางตะวันออกของกรุงโตเกียว ประกาศว่า ได้พัฒนา "หุ่นยนต์นกฮัมมิงเบิร์ด" ที่มีขนาดเท่ากับตัวจริงและสามารถกระพือปีกได้รวดเร็วถึง 30 ครั้งต่อวินาที

 หุ่นยนต์ประเภทนี้ควบคุมด้วยระบบอินฟราเรด มีน้ำหนักเพียง 2.6 กรัม เคลื่อนไหวได้ทั้ง 4 ทิศทาง และสามารถบินอย่างมั่นคงกว่าเฮลิคอปเตอร์ถึง 8 เท่า
ต้นทุนในการพัฒนาหุ่นยนต์จิ๋วชนิดนี้อยู่ที่ 200 ล้านเยน และอาจนำไปใช้ช่วยเหลือผู้ประสบภัยแผ่นดินไหวที่ติดอยู่ใต้ซากปรักหักพัง ค้นหาอาชญากรหรือแม้แต่เป็นเครื่องมือเสริมในการสำรวจดาวอังคาร

 โนริฮิโร ฮากิตะ ผู้อำนวยการเอทีอาร์ กล่าวว่า หุ่นยนต์สามารถช่วยมนุษย์ได้มากขึ้น เช่น การดูแลผู้สูงอายุ รวมถึงการทำงานบ้านอันน่าเบื่อ และในปัจจุบัน มนุษย์เริ่มจะเปลี่ยนแปลงความสัมพันธ์ระหว่างพวกเขากับเครื่องจักร
 "สมัยก่อนเมื่อคุณพยายามจะเดินเข้าไปในโรงงาน ที่มีหุ่นยนต์ปฏิบัติหน้าที่อยู่ จะมีคนบอกคุณว่าอย่าเข้าไป แต่สมัยนี้ หุ่นยนต์สามารถช่วยเหลือคนชราซื้อของได้ ทำให้เราเห็นมนุษย์มีปฏิสัมพันธ์กับหุ่นยนต์สื่อสารมากขึ้น" โนริฮิโร กล่าว
 อย่างไรก็ตาม เคิร์ท สโตน ผู้เชี่ยวชาญประจำมหาวิทยาลัยคาร์เนกี เมลลอน ในเมืองพิตสเบิร์กของสหรัฐ มองว่า มนุษย์ยังไม่ได้ให้คำนิยามใหม่ระหว่างความสัมพันธ์ของพวกเขากับเครื่องจักร

 "หากเราต้องการเปลี่ยนความสัมพันธ์นี้ เครื่องจักรจะต้องสามารถตอบสนองเหมือนคน" เคิร์ท ยืนยัน
 โนริฮิโร อธิบายว่า หลายคนพยายามเรียนรู้วิธีใช้เครื่องจักรและคอมพิวเตอร์ แต่เป็นเครื่องจักรที่ต้องพยายามเข้าใจพฤติกรรมและภาษาของมนุษย์ เพราะการวิจัยหุ่นยนต์ก็หมายถึงการวิจัยมนุษย์นั่นเอง
 "เรามองหุ่นยนต์เป็นสื่อชนิดหนึ่ง เหมือนโทรศัพท์มือถือ และหุ่นยนต์จะกลายเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้ในอนาคตเหมือนกับโทรศัพท์มือถือในปัจจุบัน"
 ขณะที่ เคิร์ท ระบุว่า หุ่นยนต์ไม่จำเป็นต้องมีรูปร่างและลักษณะทางกายภาพเหมือนกับหุ่นยนต์ที่เห็นในภาพยนตร์และการ์ตูนญี่ปุ่น
 "หุ่นยนต์ไม่ใช่เป็นแค่เครื่องจักร แต่พวกมันมีระบบอยู่เบื้องหลัง เมื่อเราย้ายหุ่นยนต์ที่มีลักษณะเหมือนคนที่อยู่ในบ้านของคุณไปยังโทรศัพท์มือถือของคุณ รถยนต์ของคุณ และในร้านขายของชำ พวกมันตามคุณไปทุกที่ ระบบทั้งหมดก็คือหุ่นยนต์" เคิร์ท กล่าว
 ชาวญี่ปุ่นจำนวนมากเริ่มให้ความสนใจหุ่นยนต์มากขึ้น เห็นได้ชัดจากงานแสดงหุ่นยนต์นานาชาติที่กรุงโตเกียวเมื่อปลายเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา มีผู้เข้าร่วมงานกว่า 100,000 คนในเวลาเพียง 4 วัน โดยผู้จัดงาน ยืนยันว่า นิทรรศการที่มีขึ้นทุกๆ 2 ปี สามารถดึงดูดประชาชนได้มากขึ้นทุกๆ ครั้ง
 "ชาวญี่ปุ่นจำนวนมากรู้สึกคุ้นเคย กับตัวการ์ตูนหุ่นยนต์ในสมัยที่พวกเขายังเป็นเด็ก ผมคิดว่าปัจจัยดังกล่าวช่วยสร้างความรู้สึกผูกพัน ที่พวกเขามีต่อหุ่นยนต์" นาริโตะ ทิ้งท้าย


ที่มา : สำนักข่าวดีพีเอและเอเอฟพี

 

 

ขอขอบคุณทุกที่มาของแหล่งข่าว

 

 

เนื้อหาโดย: 9engineer.com (http://9engineer.com/)