Top 50 Popular Supplier
1 100,000D_อินเวอร์เตอร์ 175,366
2 100,000D_มิเตอร์วัดไฟฟ้า 173,518
3 100,000D_เครื่องมือช่าง 172,935
4 100,000D_อุปกรณ์ไฟฟ้าและอิเลคทรอนิกส์ 172,688
5 100,000D_เอซีมอเตอร์ 170,413
6 100,000D_ดีซีมอเตอร์ 169,491
7 100,000D_อุปกรณ์แคมป์ปิ้ง 168,456
8 100,000D_เครื่องดื่มและสมุนไพร 167,764
9 เคอีบี (KEB ) ประเทศไทย 160,252
10 100,000D_เครื่องใช้ไฟฟ้าครัวเรือน 158,387
11 100,000D_ของใช้จำเป็นสำหรับผู้หญิง 158,308
12 100,000D_ขายของเล่นเด็ก 157,450
13 E&L INTERNATIONAL CO., LTD. 67,490
14 T.N. METAL WORKS Co., Ltd. 62,072
15 ฟิลิปส์อิเล็กทรอนิกส์ (ประเทศไทย) จำกัด 50,421
16 บ.ไทนามิคส์ จำกัด 43,496
17 Industrial Provision co., ltd 39,162
18 ลาดกระบัง ทูลส์ แอนด์ ดาย จำกัด 38,320
19 Infinity Engineering System Co.,Ltd 36,240
20 สยาม เอลมาเทค (siam elmatech) 34,566
21 ไทยเทคนิค อีเล็คตริค จำกัด 33,384
22 ฟอร์จูน เมคคานิค แอนด์ ซัพพลาย 31,800
23 เอเชียเทค พาวเวอร์คอนโทรล จำกัด 31,156
24 บริษัท เวิลด์ ไฮดรอลิคส์ จำกัด 30,906
25 โปรไดร์ฟ ซิสเต็ม จำกัด 27,522
26 ซี.เค.แอล.โพลีเทค เอ็นจิเนียริ่ง 26,462
27 P.D.S. Automation co.,ltd 22,890
28 AVERA CO., LTD. 22,535
29 เลิศบุศย์ 21,636
30 ห้างหุ้นส่วนสามัญ เอ-รีไซเคิล กรุ๊ป 20,319
31 เทคนิคอล พรีซิชั่น แมชชีนนิ่ง 20,187
32 แมชชีนเทค 19,836
33 Electronics Source Co.,Ltd. 19,804
34 อีดีเอ อินเตอร์เนชั่นเนล จำกัด 19,128
35 มากิโน (ประเทศไทย) 19,081
36 ทรอนิคส์เซิร์ฟ จำกัด 18,743
37 Pro-face South-East Asia Pacific Co., Ltd. 18,551
38 SAMWHA THAILAND 18,238
39 วอยก้า จำกัด 17,829
40 CHEMTEC AUTOMATION CO.,LTD. 17,416
41 IWASHITA INSTRUMENTS (THAILAND) LTD. 17,277
42 ดีไซน์ โธร แมนูแฟคเจอริ่ง 17,242
43 I-Mechanics Co.,Ltd. 17,187
44 เอส.เอส.บี สยาม จำกัด 17,140
45 Intelligent Mechantronics System (Thailand) 17,079
46 ศรีทองเนมเพลท จำกัด 17,006
47 Systems integrator 16,656
48 เอ็นเทค แอสโซซิเอท จำกัด 16,577
49 ดาต้า เอ็นทรี่ กรุ๊ป จำกัด 16,398
50 Advanced Technology Equipment 16,383
17/01/2553 21:37 น. , อ่าน 8,683 ครั้ง
Bookmark and Share
พลังงานแสงอาทิตย์สำหรับคนยุคใหม่
โดย : Admin

 

โดย : ดร.เอกรินทร์ วาสนาส่ง  
หัวหน้าภาควิชาวิศวกรรมไฟฟ้ากำลัง
มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีมหานคร
updated : 22/11/47 


รูปภาพประกอบจากอินเตอร์เน็ต

        นับตั้งแต่การปฏิวัติทางอุตสาหกรรมในปี ค.ศ. 1765 (พ.ศ. 2308)โดยนายเจมส์ วัตต์ จนมาถึงการพัฒนาเครื่องยนต์สันดาปภายในขึ้นเมื่อปี ค.ศ. 1860 (พ.ศ. 2403) โดยนาย Etienne Lenoir พลังงานที่เรานำมาใช้ล้วนมาจากการเผาไหม้ของวัตถุดิบจากธรรมชาติ ที่ต้องใช้เวลาในการก่อกำเนิดนาน นับล้าน ๆ ปี ซึ่งวัตถุดิบดังกล่าวก็ได้แก่ ถ่านหิน น้ำมัน และ ก๊าซธรรมชาติ ซึ่งพวกเรารู้จักกันดี ภายหลังเมื่อ Nikola Tesla ได้คิดค้นเครื่องกำเนิดไฟฟ้ากระแสสลับได้สำเร็จในปี ค.ศ. 1892 (พ.ศ. 2435) พลังงานจากวัตถุดิบเหล่านี้ก็ถูกนำมาเป็นต้นกำลังในการปั่นเครื่องกำเนิดไฟฟ้า โดยการแปรรูปพลังงานความร้อนให้เป็นพลังงานไฟฟ้า และไฟฟ้าก็ถูกนำมาใช้เพื่ออำนวย ความสะดวกในชีวิตประจำวัน จนถือว่าเป็นสิ่งสำคัญอันดับต้น ๆ ของชีวิตคนไปแล้ว ไม่ว่าจะเป็น เครื่องปรับอากาศ พัดลม ตู้เย็น ทีวี วิทยุ ล้วนใช้ไฟฟ้าทั้งสิ้น ปัจจุบันคงปฏิเสธไม่ได้ว่าถ้าไม่มีไฟฟ้าใช้มนุษย์ยุคใหม่อย่างเราคงอยู่กันอย่างลำบากกว่านี้มาก
 
 
จากตัวเลขจำนวนประชากรของโลก ซึ่งปัจจุบันอยู่ที่ประมาณ 6 พัน 1 ร้อยล้านคน และมีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่อง คงไม่ต้องบอกถึงปริมาณความต้องการใช้พลังงานไฟฟ้าของโลก ที่ต้องเติบโตอย่างปฏิเสธไม่ได้ เมื่อมีความต้องการการใช้ไฟฟ้ามากขึ้น แหล่งพลังงานธรรมชาติที่เรามี เช่นก๊าซธรรมชาติ ถ่านหิน หรือน้ำมันก็จะต้องถูกนำมาใช้มากขึ้น เพื่อผลิตไฟฟ้า แน่นอนว่าเมื่อมีความต้องการมากขึ้น ในขณะที่ปริมาณวัตถุดิบเหล่านี้มีจำนวนลดลงทุกวัน ก็ย่อมทำให้ราคาของมันเพิ่มสูงขึ้นตามกลไกตลาด อย่างที่เราเห็นอยู่ในกรณีของน้ำมันขณะนี้ ไม่เพียงแค่นั้น แหล่งพลังงานจากธรรมชาติเหล่านี้ เมื่อต้องทำการเปลี่ยนรูปให้เป็นพลังงานความร้อนนั้น จะต้องมีการเผาไหม้เกิดขึ้น และไอเสียจากการเผาไหม้เหล่านี้นี่เองที่เราเรียกกันว่าเป็นมลพิษทางอากาศ ก๊าซที่เป็นผลมาจากการเผาไหม้เหล่านี้ก็ได้แก่ คาร์บอนไดอ๊อกไซด์ (CO2), ไนโตรเจนได- อ๊อกไซด์ (NO2), และ ซัลเฟอร์ไดอ๊อกไซด์ (SO2) ซึ่งพวกเราทุกคนคงคุ้นเคยกันดี และคงไม่อยากสูดมันเข้าไปในปอดของเราแน่ ๆ
 
 
จากข้อมูลที่นำเสนอไปจะเห็นว่าในการอยู่รอดของคนในโลกนี้อย่างยั่งยืน คงจะเกิดขึ้นไม่ได้ถ้าเรายังคงมีวิถีการใช้ชีวิตแบบเดิม ๆ คือเอาทรัพยากรธรรมชาติที่เรามีจำกัดมาเปลี่ยนรูปเป็นพลังงานที่เราต้องการใช้ และในขณะเดียวกันผลพวกจากการแปรรูปพลังงานก็คือการทำลายสภาวะแวดล้อมรอบตัวเราไปทุกวัน ดังนั้นจึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะมาพิจารณากันใหม่ถึงทางเลือก และทางรอดที่เหมาะสมที่สุด ในอันที่จะทำให้ชีวิตของเรา เศรษฐกิจของเรา และ ธรรมชาติของเราอยู่ร่วมกันได้อย่างกลมกลืน ดังนั้นในการพิจารณาทางเลือกของการใช้พลังงาน เราจำเป็นต้องพิจารณาปัจจัยหลัก 3 ประการณ์ประกอบกัน ได้แก่ 1. เศรษฐกิจ 2. พลังงาน และ 3. สิ่งแวดล้อม ปัจจัยทั้ง 3 ประการณ์นี้จำเป็นจะต้องไปด้วยกันได้อย่างเหมาะสม จึงจะทำให้พวกเราสามารถใช้ชีวิตกันได้อย่างสบาย ๆ หาไม่แล้วพวกเราก็คงต้องหาโลกใบใหม่ แทนที่โลกใบเก่าในเวลาไม่ช้าไม่นาน
 
 
ในปัจจุบันหลาย ๆ ชาติในโลกซึ่งตระหนักถึงปัญหานี้ก็ได้มีการตกลงทำพันธะสัญญาระหว่างกันในเรื่องเกี่ยวกับการรักษาสภาพวะแวดล้อม ที่เรารู้จักกันดีก็คือ Kyoto Protocall ซึ่งพยายามที่จะให้ประเทศในโลก พยายามลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น CFC หรือ คาร์บอนไดอ๊อกไซด์ ซึ่งจะนำไปสู่การเกิดปรากฏการที่เรียกว่า Global Warming โดยหลาย ๆ ประเทศก็ให้ความร่วมมืออย่างดี ในขณะที่ประเทศยักษ์ใหญ่บางประเทศ กลับไม่ให้ความร่วมมือเนื่องจากกลัวเสียผลประโยชน์ทางธุรกิจ ที่มีมูลค่ามหาศาล โดยไม่สนใจว่าชาวโลกเขากำลังทำอะไรกันอยู่ ก๊าซเรื่อนกระจกเหล่านี้ส่วนมากจะถูกปล่อยออกมาจากอุตสาหกรรมหนัก ซึ่งก็รวมไปถึงโรงไฟฟ้าที่ใช้การเผาไหม้ของก๊าซ น้ำมัน และ ถ่านหิน ด้วย ดังนั้นจะว่าไปแล้วการผลิตไฟฟ้าก็เป็นส่วนหนึ่งที่ก่อให้เกิดมลภาวะทางอากาศ และทำให้เกิดปัญหา Global Warming ด้วย
 
 
ดังนั้นการผลิตไฟฟ้าด้วยวัตถุดิบที่มาจากธรรมชาติใต้พื้นโลก หรือพลังงานจากฟอสซิลล์ ในแบบเดิม ๆ นั้นดูเหมือนว่าจะไม่สามารถทำให้ ประโยชน์ทางธุรกิจ พลังงาน และ สิ่งแวดล้อม ก้าวหน้าไปพร้อม ๆ กันได้อย่างเต็มรูปแบบ เพราะการขยายตัวขององค์ประกอบหนึ่ง ย่อมจะส่งผลกระทบในทางตรงกันข้ามกับอีกส่วนหนึ่งอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่ก็ใช่ว่าจะไม่มีทางออกเสียทีเดียว ในปัจจุบัน หลาย ๆ หน่วยงานทั่วโลก รวมไปถึงรัฐบาลไทย ก็ได้มีการพูดถึงคำว่าพลังงานทดแทน หรือ Renewable Energy กันมากขึ้น บางครั้งอาจถูกเรียกกันว่า พลังงานทางเลือก ซึ่งพลังงานเหล่านี้ก็ได้แก่ พลังงานแสงอาทิตย์ (Solar Energy) พลังงานลม (Wind Energy) พลังงานจากของเหลือใช้ทางการเกษตร (Biomass Energy) รวมไปถึงพลังงานจากคลื่น (Wave Energy) หรือ น้ำขึ้นน้ำลง (Tidal Energy) ซึ่งพลังงานสองประเภทหลังนี้ไม่ค่อยได้รับความสนใจในประเทศไทยเลย เนื่องจากมีความเป็นไปได้ทางเศรษฐศาสตร์ต่ำมาก แม้กระทั่งพลังงานลมเอง ก็มีความเป็นไปได้น้อย เนื่องจากลมในประเทศไทย มีความเร็วไม่สูงมากเหมือนในต่างประเทศ ดังนั้น พลังงาน Biomass และ พลังงานจากแสงอาทิตย์ จึงดูเหมือนจะมีความเป็นไปได้มากที่สุด
 
 
ในที่นี้เราคงไม่พูดถึง Biomass เพราะเป็นที่กล่าวถึงโดยกว้างขวางอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นโรงไฟฟ้าที่ใช้พลังงานจากแกลบ กากอ้อย หรือ กะลาปาล์ม รวมไปถึงการหมักก๊าซชีวภาพต่าง ๆ เพื่อให้ได้แก๊สมาใช้ในการผลิตไฟฟ้า แต่เราจะพูดถึงพลังงานที่เราได้มาฟรี ๆ จากดวงอาทิตย์ ซึ่งให้พลังงานแก่โลกมานับพันล้านปีแล้ว อันที่จริงมนุษย์เองก็รู้จักนำพลังงานแสงอาทิตย์มาใช้ในชีวิตประจำวันมาตั้งแต่โบราณกาล เพียงแต่ว่าเป็นการนำความร้อนมาใช้โดยตรง เช่นการตากแห้งต่าง ๆ การทำเนื้อแดดเดียว หมูแดดเดียว เหล่านี้ก็ล้วนแต่เป็นการนำพลังงานแสงอาทิตย์มาใช้โดยตรงทั้งสิ้น แต่การที่เราจะนำพลังงานแสงอาทิตย์มาใช้เพื่อผลิตไฟฟ้านั้น ต่างกันออกไป โดยสามารถจำแนกการใช้ตามวิธีการผลิตได้ 2 ประเภท คือ
 
        1) การเปลี่ยนแสงอาทิตย์ให้เป็นพลังงานไฟฟ้าโดยตรงโดยใช้อุปกรณ์ที่เรียกว่า โซล่าเซลล์ (Solar Cells) หรือ โฟโตโวลตาอิคส์ (Photovoltaics)
 
        2) การใช้ความร้อนจากดวงอาทิตย์มาต้มน้ำ เพื่อใช้ไอน้ำในการผลิตไฟฟ้า ที่เราเรียกกันว่า โรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนจากแสงอาทิตย์ (Solar Thermal Power Plant)
 
 
ในบทความนี้เราจะกล่าวถึงวิธีการแรกในการผลิตไฟฟ้า เนื่องจากเป็นวิธีที่กำลังได้รับความสนใจกันอย่างมากโดยเฉพาะในประเทศไทย หลังจากที่รัฐบาลมีนโยบายไฟฟ้าเอื้ออาธร หรือ Solar Home Project ซึ่งเป้าหมายก็คือต้องการให้ประชาชนทุกคนในประเทศไทย มีไฟฟ้าใช้กันอย่างทั่วถึง บางท่านที่ยังไม่ทราบว่า โครงการไฟฟ้าเอื้ออาธรคืออะไร ก็สามารถหาข้อมูลเพิ่มเติมได้จากเวบไซท์ของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค(กฟภ.) (http://www.pea.co.th/project/project_solar.htm) โดย กฟภ. เองรับหน้าที่เป็นเจ้าภาพโครงการนี้ โดยทำงานร่วมกับกระทรวงพลังงาน บางคนอาจจะยังสงสัยว่า แล้วไฟฟ้าเอื้ออาธรมาเกี่ยวข้องอะไรกับโซล่าเซลล์
 
 
ก่อนอื่นท่านผู้อ่านต้องไม่ลืมว่าพื้นที่ ๆ ไม่มีไฟฟ้าใช้ในประเทศไทยนั้น ล้วนแล้วแต่เป็นพื้นที่ห่างไกล หรือภาษาอังกฤษเขาเรียกว่า Remote Area ในพื้นที่เหล่านี้ สาเหตุที่ไม่มีไฟฟ้าใช้ เนื่องจากว่าอยู่ไกลจนสายส่งไฟฟ้าของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคเข้าไปไม่ถึง หรือไม่คุ้มค่าที่จะสร้างสายส่งราคาหลายล้านบาท เพื่อจ่ายให้กับประชาชนเพียงไม่กี่หลังคาเรือน ซึ่งส่วนมากจะอยู่ในป่าในเขา หรือบนเกาะ ดังนั้นถ้าต้องการผลิตไฟฟ้าใช้ ชาวบ้านก็ต้องผลิตกันเอง เดิมในบางพื้นที่ก็มีการปั่นไฟฟ้าโดยใช้เครื่องยนต์ดีเซลล์ แต่เนื่องจากน้ำมันมีราคาแพง และต้องมีการขนย้ายน้ำมันปริมาณมาก ซึ่งไม่สะดวก ดังนั้นโซล่าเซลล์ดูเหมือนจะเป็นทางเลือกที่ดีที่สุด เนื่องจากไม่ต้องใช้เชื้อเพลิง การดูแลรักษาทำได้งาย เพราะไม่มีส่วนที่ต้องเคลื่อนที่ และที่สำคัญคือไม่มีเสียงดังรบกวนในขณะที่ผลิตไฟฟ้า ซึ่งตามแผนของ กฟภ. จะติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าด้วยพลังงานแสงอาทิตย์โดยใช้แผงโซล่าเซลล์ ที่มีขนาด 120 วัตต์ ส่วนประกอบอื่น ๆ ก้ได้แก่ แบตเตอรี่ ซึ่งทำหน้าที่เก็บพลังงาน และ อินเวอร์เตอร์เพื่อแปลงพลังงานไฟฟ้ากระแสตรงที่ได้จากแผงโซล่าเซลล์ ให้เป็นกระแสสลับที่ใช้กันตามบ้าน โดยจะแถมหลอดไฟให้อีก 2 หลอด และใช้งานกับทีวีได้อีก 1 เครื่อง พูดแค่นี้อาจจะมองไม่เห็นภาพว่ามันจะมีส่วนทำให้ตลาดของโซล่าเซลล์ในประเทศไทยตื่นตัวได้อย่างไร แต่ลองคำนวณดูนะครับว่าจำนวนบ้านที่ไม่มีไฟฟ้าใช้ในประเทศไทยทั้งหมดกว่า 3 แสนครัวเรือน แต่ละหลังใช้โซล่าเซลล์ 120 วัตต์ ก็จะต้องใช้โซล่าเซลล์ทั้งหมดกว่า 36 เมกกะวัตต์ (1 เมกกะวัตต์ = 1 ล้านวัตต์) เลยทีเดียว ถ้าจะนับเป็นเงินก็คงจะปวดหัว เพราะ 1 วัตต์ของระบบประเภทนี้ต้องใช้เงินประมาณ 200 - 300 บาท ถ้าคูณกับ 36 เมกกะวัตต์เข้าไปแล้ว ก็หลายพันล้านบาท
 
 
เราคงเห็นแล้วว่าโซล่าเซลล์นั้น ไม่ใช่เรื่องไกลตัวอีกต่อไปแล้ว ถึงแม้ว่าครั้งหนึ่งมันจะดูเหมือนไกลตัวเรามาก เนื่องจากการใช้งานอย่างเป็นจริงเป็นจังของโซล่าเซลล์นั้น เริ่มต้นในอวกาศ โดยใช้ครั้งแรกกับดาวเทียมที่มีชื่อว่า Vanguard I ในปี ค.ศ. 1958 (พ.ศ. 2501) คือเมื่อ 46 ปีที่แล้ว สำหรับราคาของโซล่าเซลล์ในตอนนั้นคงไม่ต้องพูดถึง เพราะแพงมาก คนธรรมดาทั่วไปอย่าง เรา ๆ คงไม่มีสิทธิ์ซื้อมาเป็นเจ้าของอย่างแน่นอน เพราะกระบวนการผลิตนั้นค่อนข้างยุ่งยากและใช้งบประมาณในการลงทุนมาก แต่ต่อมาเมื่อมีการพัฒนากระบวนการผลิตใหม่ ๆ ขึ้นราคาของโซล่าเซลล์ก็ถูกลงเรื่อย ๆ จนสามารถนำมาใช้งานทั่วไป หรือผลิตในเชิงการค้าได้ ตัวอย่างเช่น ราคาของโซล่าเซลล์ต่อวัตต์สูงสุด ในปี ค.ศ. 1982 (พ.ศ. 2525) อยู่ที่ 27 US$ และลดลงมาอยู่ที่ 4 US$ ต่อวัตต์ ในปัจจุบัน และมีแนวโน้มที่จะลดต่อไป ในขณะที่ค่าไฟฟ้าที่ผลิตจากพลังงานฟอสซิลล์ มีแนวโน้มแต่จะเพิ่มขึ้นทุกปี โดยสังเกตได้จากราคาน้ำมัน และ แก๊สธรรมชาติที่เพิ่มสูงขึ้นอยู่ตลอดเวลา
 
 
เกริ่นให้ฟังกันมาพอสมควร ท่านผู้อ่านคงพอมองเห็นกันบ้างแล้วว่าทำไมผมจึงตั้งชื่อเรื่องว่า พลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานที่น่าสนใจสำหรับคนยุคใหม่ สาเหตุที่พลังงานแสงอาทิตย์ และโซล่าเซลล์เป็นเรื่องที่น่าสนใจ เนื่องจากมันเป็นพลังงานทดแทนที่อาจเรียกได้ว่าไม่มีวันหมด เพราะมีการทำนายว่าอายุของดวงอาทิตย์นั้น คงจะอยู่ยาวนานไปอีกกว่า 4000 ล้านปี (ซึ่งก็คงนานพอ) นอกจากนั้นมันยังเป็นพลังงานที่สามารถเลี้ยงตัวเองได้ ซึ่งภาษาอังกฤษเขาใช้คำว่า Sustainable ซึ่งความหมายโดยละเอียดก็คงต้องอธิบายกันยาวสักหน่อย ในอดีตจนถึงปัจจุบัน มีนักวิชาการทางด้านพลังงานหลาย ๆ ท่านได้ออกมากล่าวว่าโซล่าเซลล์ เป็นทางเลือกที่แพงเกินไป และไม่คุ้มค่าที่จะลงทุน บางคนยังพูดเลยไปถึงว่า พลังงานที่ใช้ในการผลิตโซล่าเซลล์นั้นมันอาจจะมากกว่า พลังงานที่โซล่าเซลล์จะผลิตได้เสียอีก ซึ่งจริง ๆ แล้วมันเป็นความคิดที่ผิดเอามาก ๆ
 
 
ในอดีตนั้น การใช้พลังงานไฟฟ้าในการผลิตโซล่าเซลล์ชนิดคริสตัลไลน์ (Crystalline Silicon Solar Cells) ซึ่งการใช้พลังงานหลัก ๆ ก็อยู่ที่ขั้นตอนการผลิตซิลิคอน บริสุทธิ์ ซึ่งอยู่ในเกรดที่ผลิตโซล่าเซลล์ได้ โดยพลังงานที่ใช้อยู่ที่ประมาณ 250 กิโลวัตต์-ชั่วโมง(1) ต่อ การผลิตซิลิคอน เพื่อใช้ผลิตโซล่าเซลล์ 1 กิโลกรัม [1] โดยโซล่าเซลล์ที่สามารถผลิตไฟฟ้าได้ 1 วัตต์นั้น จะใช้ซิลิคอนประมาณ 20 กรัม ดังนั้นในการผลิตโซล่าเซลล์ขนาด 1 วัตต์ เราจะต้องใช้ไฟฟ้าทั้งสิ้นประมาณ 5,000 วัตต์-ชั่วโมง นั่นก็หมายความว่า ถ้าเรานำโซล่าเซลล์ขนาด 1 วัตต์ที่ผลิตได้ มาผลิตไฟฟ้าให้ได้ 5,000 ชั่วโมง ก็จะเท่ากับพลังงานที่ใช้ในการผลิตตัวมันเอง ถ้าเราคิดว่าโซล่าเซลล์สามารถรับแสงได้วันละเฉลี่ย 6 ชั่วโมง เมื่อหาระยะเวลาเป็นปีออกมาแล้วจะอยู่ที่ประมาณ 2 ปีเศษ ๆ เท่านั้น ในขณะที่อายุการใช้งานของโซล่าเซลล์นั้นอยู่ที่ประมาณ 20 - 30 ปี ซึ่งก็คือ กว่า 50,000 ชั่วโมง ดังนั้นอีกกว่า 40,000 ชั่วโมงที่ได้ ก็คือกำไร ในแง่ของพลังงานที่ผลิตได้ ซึ่งพลังงานเหล่านี้ ถ้าเรานำกลับไปใช้ในการผลิตโซล่าเซลล์ ก็จะสามารถเพิ่มจำนวนโซล่าเซลล์ได้อีกหลายเท่า ซึ่งก็เป็นที่มาของคำว่า Sustainable Energy Source ยิ่งไปกว่านั้น ในปัจจุบันได้มีการวิจัย และ พัฒนารูปแบบ กระบวนการในการผลิตโซล่าเซลล์ให้ใช้พลังงาน และวัตถุดิบลดลง รวมทั้งลดความสูญเสียต่าง ๆ ในกระบวนการผลิต จนพลังงานไฟฟ้าที่ใช้ในการผลิตซิลิคอนสำหรับโซล่าเซลล์นั้นลงมาอยู่ที่ 15 - 30 กิโลวัตต์-ชั่วโมง ต่อการผลิตโพลีซิลิคอน 1 กิโลกรัม เท่านั้น ซึ่งถือว่าลดลงมากว่า 80 % จะเห็นได้ว่าในอนาคต ราคาของโซล่าเซลล์นั้นยังคงจะถูกลงต่อไปอีก
 
 
สำหรับตลาดโซล่าเซลล์ของโลกในขณะนี้มีการใช้งานโซล่าเซลล์เพื่อการผลิตไฟฟ้ารวมกันทั่วโลกอยู่กว่า 1,000 เมกกะวัตต์ โดยประมาณ (1 เมกกะวัตต์ = 1 ล้านวัตต์) เราอาจจะยกตัวอย่างประเทศที่ร่วมในกลุ่ม IEA (International Energy Agency) ซึ่งประกอบด้วย หลายประเทศในยุโรป เยอรมนี สหรัฐ ญี่ปุ่น และประเทศอื่น ๆ อีกหลายประเทศ ซึ่งเป็นผู้นำในการใช้พลังงานจากโซล่าเซลล์ โดยมีการแสดงกำลังการผลิตสะสมจนถึงปี 2003 ดังแสดงในรูปด้านซ้าย จะเห็นได้ชัดว่าตลาดโซล่าเซลล์นั้นมีอัตราการเติบโตที่น่าสนใจมาก คือเฉลี่ยประมาณ 25 % ต่อปี และที่น่าสังเกตคือในช่วงหลังโซล่าเซลล์ถูกนำมาใช้ในการผลิตไฟฟ้าขายให้การไฟฟ้า (Grid-connected PV Systems) มากกว่าการใช้งานในพื้นที่ห่างไกล (Remote Area Power Supply - RAPS) อยู่หลายเท่าตัว
 
 
ในปัจจุบันประเทศที่มีปริมาณการใช้โซล่าเซลล์มากที่สุดในโลกได้แก่ ญี่ปุ่น ตามมาด้วยเยอรมนี และ สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่นนั้น นอกจากจะเป็นประเทศที่มีการใช้โซล่าเซลล์มากที่สุดคือกว่า 859 เมกกะวัตต์ แล้ว ยังเป็นประเทศที่ผลิตโซล่าเซลล์ได้มากที่สุดในโลกด้วย คือปีละกว่า 400 เมกกะวัตต์ สำหรับประเทศไทย เรามีการติดตั้งโซล่าเซลล์เพื่อผลิตไฟฟ้าไปแล้ว 6 เมกกะวัตต์ และ มีโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตที่แม่ฮ่องสอนอีก 500 กิโลวัตต์ นอกจากนั้นก็อยู่ระหว่างการติดตั้ง สำหรับโครงการ Solar Home อีกกว่า 36 เมกกะวัตต์ จะเห็นว่าการเติบโตแบบก้าวกระโดดของการใช้โซล่าเซลล์ในบ้านเรานั้น คงต้องขอบคุณอานิสงค์ของโครงการ Solar Home ของรัฐบาล ซึ่งทำให้ผู้ผลิตโซล่าเซลล์ในเมืองไทยลืมตาอ้าปากได้ จนถึงขนาดเข้าตลาดหลักทรัพย์กันไปก็มี อย่างเช่นบริษัทโซล่าตรอน บางรายก็ลงทุนหลายร้อยล้านบาท ซื้อโรงงานจากต่างประเทศมาตั้งที่เมืองไทย เพื่อผลิตโซล่าเซลล์สำหรับป้อนโครงการดังกล่าว เช่น โรงงานบางกอกโซล่า ที่จังหวัดฉะเชิงเทรา ซึ่งใช้เทคโนโลยีของอะมอฟัสซิลิคอน บางรายก็กำลังอยู่ระหว่างการก่อสร้างโรงประกอบแผงโซล่าเซลล์ และมีโครงการที่จะสร้างโรงงานผลิตโซล่าเซลล์ด้วยในอนาคต เช่น บริษัทเอกรัฐวิศวกรรม
 
 
มาถึงตรงนี้คงจะเห็นได้ชัดว่าตลาดโซล่าเซลล์นั้นกำลังเติบโตอย่างน่าสนใจทีเดียว ไม่ว่าจะเป็นตลาดโลก หรือตลาดในบ้านเราเองก็ตาม เมื่อมีผู้ผลิตมากขึ้น การแข่งขันทางด้านราคาก็จะตามมา ซึ่งก็เป็นประโยชน์กับผู้บริโภค หมายความว่าผู้บริโภคมีโอกาสเลือกได้มากขึ้น ราคาก็จะถูกลง เมื่อราคาถูกลง ผู้ที่ต้องการซื้อใช้ก็จะมากขึ้นทำให้ขนาดของตลาดขยายตัว จนในที่สุดโซล่าเซลล์ก็คงไม่ใช่สิ่งที่ไกลเกินเอื้อม หรือแพงเกินที่จะซื้อมาติดเล่นที่บ้านอีกต่อไปแล้ว แต่ก่อนอื่นก็คงต้องหวังว่าอีกไม่กี่ปีข้างหน้าเราคงจะได้เห็นโซล่าเซลล์ที่มีราคาวัตต์ละไม่เกิน 50 บาท ซึ่งถ้าเป็นเช่นนั้นจริง อีกหน่อยอาจจะเห็นหลังคาบ้านของคนไทยติดโซล่าเซลล์แทนที่กระเบื้องมุงหลังคา หรือว่าอาจจะเห็นรถไฟฟ้าที่ใช้พลังงานแสงอาทิตย์ หรือแม้กระทั่งตึกที่ติดโซล่าเซลล์แบบมองทะลุผ่านได้แทนที่กระจกธรรมดา ถ้าเป็นอย่างที่ฝันไว้ได้ดูเหมือนมลภาวะคงจะลดลงได้พอสมควร และทำให้โลกเราน่าอยู่ขึ้นเยอะ แล้วท่านคิดอย่างไร
 
 
ต้องการข้อมูลเพิ่มเติมสามารถติดต่อผู้เขียนได้ที่  dr_ekarin@hotmail.com
----------------------------------------------------------------------------------

 ขอขอบคุณอาจารย์ ดร.เอกรินทร์ วาสนาส่ง ที่ได้มอบบทความให้กับนายเอ็นจิเนียร์เพื่อการศึกษาสำหรับผู้ที่สนใจเกี่ยวกับพลังงานแสงอาทิตย์

========================================================