เรียบเรียงโดย : สุชิน เสือช้อย (แอดมิน)
การสตาร์ทมอเตอร์ สลิป-ริง Slip-Ring motor starter
เปรียบเทียบโครงสร้างโรเตอร์ของอินดัคชั่นมอเตอร์แบบกรงกระรอก กับ สลิปริง มอเตอร์
VIDEO
สลิปริงมอเตอร์ (Slip Ring) หรือ มอเตอร์ที่มีขดลวดพันที่โรเตอร์ (Woond rotor) จัดได้ว่ามอเตอร์อินดัคชั่นหรือมอเตอร์เหนี่ยวนำอีกชนิดหนึ่ง ซึ่งโครงสร้างของสเตเตอร์จะคล้ายกับอินดัคชั่นมอเตอร์แบบกรงกระรอก แต่จะต่างกันที่โครงสร้างของโรเตอร์
โรเตอร์ของมอเตอร์แบบกรงกระรอกจะมีแท่งอลูมิเนียม (Aluminium Bar) ฝังอยู่ในโรเตอร์ ซึ่งเมื่อถอดแบบออกมาหน้าตาก็จะคล้ายกับกรงกระรอกดังรูปด้านบน ส่วนโรเตอร์แบบสลิปริงจะใช้ลวดพัน(Woond rotor) และปลายของขดลวดทั้งสามอีกด้านหนึ่งจะต่อออกมาที่วงแหวนลื่นไถลหรือสลิปริง (Slip-Ring)
สำหรับวัตถุประสงค์ของมอเตอร์ชนิดนี้ก็คือ เป็นการออกแบบมาเพื่อแก้ปัญหาความไม่ลงตัวของการสตาร์ท มอเตอร์อินคัคชั่นมอเตอร์แบบกรงกระรอกของบางประเภทเช่นเช่น ลิฟท์ เครน Hoist ยกของ
ซึ่งถ้าใช้วิธีการสตาร์ทแบบไดเร็คออนไลน์ (DOL) ซึ่งก็จะได้ทอร์คสูงเกินความต้องการก็จะทำให้เกิดการออกตัวแบบกระชาก และในขณะเดียวกันกระแสก็จะสูงตามไปด้วย ซึ่งถ้าเป็นมอเตอร์ตัวใหญ่ๆก็จะทำให้เกิดผลกระทบกับอุปกรณ์ไฟฟ้าโดยรวมเช่นอาจทำให้ไฟตกหรือกระพริบ
หรือถ้าเปลี่ยนมาใช้การสตาร์แบบสตาร์เดลต้า(ํY-D) ซึ่งก็ช่วยลดกระแสขณะสตาร์ทได้แต่สิ่งที่เป็นปัญหาคือแรงบิดหรือทอร์คอาจไม่เพียงพอต่อความต้องการ ซึ่งก็เลยต้องมีการพัฒนามอเตอร์แบบนี้ขึ้นมาชดเชย
สำหรับแนวทางของวิธีนี้ก็คือ จะมีการออกแบบวงจรให้ให้แมคเนติกทำการต่อค่าต้านทานจากภายนอกเข้าไปยังขดลวดของโรเตอร์ในช่วงสตาร์ทออกตัว และช๊อตหรือตัดค่าความต้านทานออกในช่วงรันปกติ
วงจรและการทำงานของวงจรสตาร์ทมอเตอร์แบบสลิปริง
ลักษณะของวงจรสตาร์ทมอเตอร์นี้ โดยทั่วไปจะมีทั้งแบบ 3-5 สเต็ป แต่ในตัวอย่างที่จะอธิบายนี้จะเป็นแบบ 3 สเต็ปและเป็นตัวอย่างวงจรที่สามารถกลับทางหมุนได้
ตัวอย่างวงจรกำลังที่เป็นแบบ 4 สเต็ป
ตัวอย่างวงจรกำลังที่เป็นแบบ 3 สเต็ป
จากรูปตัวอย่างแบบ 3 สเต็ป....ที่วงจรเมนหรือเพาเวอร์หรือวงจรจ่ายไฟให้กับมอเตอร์จะมีประกอบด้วยคอนแทคเตอร์ 2 ตัวคือ KM1 และ KM2
โดยที่ KM1 จะควบคุมให้มอเตอร์หมุนตามปกติ ส่วน KM2 จะสลับเฟสระหว่าง L1 กับ L3 เพื่อใช้ในกรณีที่ต้องการกลับทางหมุนมอเตอร์ (โดยทั้งสองจะมี interlock ซึ่งกันและกันเพื่อป้องกันการทำงานพร้อมกัน) ส่วนวงจรของโรเตอร์ จะมีคอนแทคเตอร์ 2 ตัว สุด KM11 และ KM2
เมื่อเริ่มสตาร์ทหรือออกตัว วงจรควบคุมหรือวงจรคอนโทรลก็จะสั่งให้คอนเทคเตอร์ KM1 หรือ KM2 ตัวใดตัวหนึ่งทำงาน (โดยขึ้นอยู่กับทิศทางการหมุนของมอเตอร์ที่ต้องการ ) ส่วนวงจรโรเตอร์ก็จะต่อเข้ากับค่าความต้านจากภายนอก เพื่อลดกระแสและเพิ่มทอร์คในขณะสตาร์ท ตามรูปสเต็ปที่ 1 (ตัวต้านทานทั้งหมดจะถูกต่อกับวงจรของโรเตอร์ผ่านสลิปริง)
เมื่อมอเตอร์ออกตัวได้แล้ว ไทเมอร์ในวงจรควบคุม ก็จะสั่งให้คอนเทคเตอร์ KM11 ทำงานเพื่อลดค่าความต้านจากภายนอกลง 1 สเต็ป ตามรูปสเต็ปที่ 2 (ค่าความต้านทานจะลดลงเหลือเพียงครึ่งเดียวหรือ 50%)
จากนั้นวงจรก็จะสั่งให้ KM12 ทำงาน และสั่งตัด KM11 ออก เพื่อตัดตัวต้านทานทั้งหมดออกจากวงจร ซึ่งเมื่อถึงขั้นตอนนี้ มอเตอร์ก็จะรันต่อเนื่องแบบไม่มีค่าความต้านทานจากภายนอกเข้ามาเกี่ยวข้อง ซึ่งก็จะมีคุณสมบัติคล้ายกับมอเตอร์แบบกรงกระรอกทั่วไป
เหตุผลด้านกระแสและแรงบิด(ทอร์ค)
การเพิ่มค่าความต้านเข้าไปนั้นซึ่งจะเท่ากับเป็นการเพิ่มค่าอิมพีแดนซ์ให้กับวงจรของโรเตอร์ และจะส่งผลทำให้กระแสในโรเตอร์ไหลได้น้อยลงหรือลดลง ซึ่งก็จะทำให้กระแสของที่ฝั่งสเตเตอร์ลดน้อยลงไปด้วย ซึ่งมีลักษณะคล้ายกับ Transformer efect เนื่องการมอเตอร์ชนิดนี้ใช้หลักการเหนี่ยวนำเช่นเดียวกับหม้อแปลงไฟฟ้า จากหลักการดังกล่าวก็จะทำให้กระแสสเตเตอร์ขณะสตาร์ทลดลงเหลือเพียง 1.5 เท่าของกระแสพิกัด ในแต่ทางกลับกันแรงบิดที่ได้กลับสูงขึันเกือบเท่ากับการต่อแบบไดเร็คออนไลน์ (DOL)
ส่วนทอร์คที่เพิ่มขึ้นก็สืบเนื่องมาจากเมื่อมีการต่อค่าความต้านทานเข้าไปในวงจรของโรเตอร์ช่วงสตาร์ทนั้น ค่าความต้านจะส่งผลทำให้มุมเฟสของกระแสขยับเข้าใกล้แรงดันมากขึ้น (เพิ่ม R หรือ R มากขึ้น ทำให้กระแสล้าหลังแรงดันน้อยลง)
*** สำหรับมอเตอร์ชนิดนี้หรือการสตาร์ทแบบนี้ ก็เป็นอีกวิธีหนึ่งที่พูดถึงในตำราการเรียนการสอน บางคนอาจได้เรียนท่านอาจไม่ได้เรียน(อาจารย์ไม่ได้กล่าวถึง) โดยส่วนตัวของแอดมินแล้วตลอดระยะเวลาการทำงานแอดมินเคยเห็นแค่ครั้งเดียว เมื่อครั้งได้รับมอบหมายให้ไปช่วยงานวิศวกรที่มาจากประเทศฝรั่งเศษ ซึ่งเป็นโปรเจ็คเครนขนาดใหญ่ที่ติดตั้งมากับเรือสินค้า ที่มาเข้ารับการเซอร์วิสที่อู่ต่อเรือ เกาะบาตั้ม ประเทศอินโดเนีย
ตัวอย่าง ตัวต้านทาน (ของใหม่) ที่ใช้สตาร์ทมอเตอร์แบบสลิป ริง ซึ่งแอดมินได้รับมอบหมายให้ไปช่วยวิศวกรฝรั่งเศษทำการเปลี่ยนเอาชุดเก่าออกและติดตั้งชุดใหม่ เข้าไปใส่แทน
cr:http://www.csmt-shop.com